7 ข้อควรรู้ก่อนเซ็นค้ำประกัน

หลายคนคงเคยเจอสถานการณ์ที่มีเพื่อน หรือญาติมาขอให้ช่วยเซ็นค้ำประกัน เพื่อขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่าง ๆ และเราอาจเคยได้ยินประสบการณ์การเซ็นค้ำประกันให้คนที่ไว้ใจแล้วสุดท้ายก่อภาระหนี้ให้ผู้เซ็นค้ำประกันมากมาย เนื่องจากลูกหนี้ตัวจริงไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ เจ้าหนี้จึงหันมาทวงหนี้กับผู้เซ็นค้ำประกันแทน ซึ่งส่งผลให้เราต้องมารับภาระหนี้ที่ไม่ได้ก่อ เพราะความไว้ใจ ดังนั้น ก่อนเซ็นค้ำประกันให้ใคร จึงควรเข้าใจสัญญาให้ชัดเจน และรู้ถึงสิทธิต่าง ๆ ในฐานะผู้ค้ำประกัน เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมด้วย

 

1. การค้ำประกันต้องมีขอบเขตชัดเจน


ก่อนการเซ็นค้ำประกัน อย่าลืมอ่านสัญญาให้ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องการกำหนดวงเงินความรับผิดแทนลูกหนี้ตัวจริง ตามกฎหมายต้องระบุให้ชัดเจนว่า เราจะต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนเงินที่เท่าไหร่ และจำกัดความรับผิดชอบตามที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น

 

2. สัญญาที่ระบุให้เป็นลูกหนี้ร่วมถือเป็นโมฆะ


สัญญาที่ระบุไว้ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบหนี้ก้อนนั้นร่วมกับลูกหนี้จะไม่มีผลบังคับใช้  หากเกิดเหตุลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ เจ้าหนี้ต้องไปตามหนี้กับลูกหนี้ตัวจริงก่อนมาเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชดใช้หนี้แทน ถ้าหากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายได้แล้วจริง ๆ จึงมีสิทธิมาตามหนี้กับผู้ค้ำประกันต่อไป

 

3. สัญญาที่เป็นภาระเกินสมควรถือเป็นโมฆะ


สำหรับสัญญาที่ระบุให้ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระหนี้เกินไปจากขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และทำให้ผู้ค้ำประกันเสียเปรียบ ไม่เป็นธรรม จะไม่สามารถนำมาเรียกร้องกับผู้ค้ำประกันได้

what-to-know-before-guarantee-for-debt-01

4. ผู้ค้ำไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ถ้าเจ้าหนี้ไม่แจ้งให้ทราบภายใน 60 วัน


ถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันรู้ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เพราะหากผู้ค้ำประกันต้องจ่ายหนี้แทน จะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยกรณีผิดนัด และหากเกินระยะเวลา 60 วันแล้ว ผู้ค้ำประกันไม่ได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าหนี้ กรณีมีดอกเบี้ย ค่าทวงถาม ผู้ค้ำประกันจะไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้

 

5. ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับลูกหนี้มีผลต่อผู้ค้ำด้วย


สำหรับข้อตกลงที่เจ้าหนี้กำหนดขึ้น เช่นการลดหนี้ให้ลูกหนี้ เพื่อให้สามารถปิดหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลทางบวกกับลูกหนี้ สิทธินี้จะส่งต่อไปที่ผู้ค้ำประกันด้วย เท่ากับความรับผิดชอบหนี้ของผู้ค้ำประกันก็จะลดลงด้วย ยกเว้นข้อตกลงหรือการกระทำใด ๆ ของเจ้าหนี้ที่ส่งผลลบกับลูกหนี้จะถือเป็นโมฆะกับผู้ค้ำประกัน เรียกว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบผลเสียที่เกิดกับลูกหนี้ไปด้วย

 

6. ผู้ค้ำหมดความรับผิดชอบ หากเจ้าหนี้ขยายเวลาผ่อนชำระ


ถ้าเจ้าหนี้ขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ผู้ค้ำประกันถือว่าหมดภาระความรับผิดชอบต่อหนี้นั้นในฐานะผู้ค้ำประกัน  และห้ามทำข้อตกลงล่วงหน้าให้ผู้ค้ำประกันยังคงสถานะเป็นผู้ค้ำประกันต่อไป หลังขยายเวลาชำระหนี้

 

7. หากจ่ายหนี้แทนแล้ว มีสิทธิเรียกร้องเงินคืนจากลูกหนี้ตัวจริง


กรณีชดใช้หนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันให้เจ้าหนี้แล้ว เรามีสิทธิฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากลูกหนี้ได้ โดยสามารถเรียกคืนทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย ค่าเสียหาย และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ได้จ่ายทดแทนไปในฐานะผู้ค้ำประกัน


สำหรับการตัดสินใจเซ็นค้ำประกันให้ใครนั้น เราต้องพิจารณาให้ดีว่า ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเพราะการเซ็นค้ำประกันนั้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิตเรามากน้อยแค่ไหน และสำหรับใครที่มองหาวงเงินสินเชื่อ แต่ยังไม่มีผู้ค้ำ สินเชื่อ UP ช่วยได้ สนใจสมัครได้ที่ SCB EASY App หรือธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา