ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ทำไมเราต้องดูแลสุขภาพ และจะมีหุ่นยนต์มารักษาเราแทนหมอไหม?
เรื่อง: นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ (หมอตั้ม)
Hi-Lights:
ว่ากันว่าการถามคำถามว่า “ทำไม” จะทำให้เราได้ทบทวน ลงลึกเรื่องที่ดูเหมือนทั่วๆ ไป วันนี้ผมจะลองมาชวนตั้งคำถาม “ทำไม” กับเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคน
เริ่มกันที่..
1
“ทำไมคนชอบบอกให้เรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารดีๆ อารมณ์ดี นอนให้พอ”
เพราะเราไม่อยากเจ็บป่วยแล้วต้องไปโรงพยาบาล
2
“ทำไมเราไม่ชอบไปโรงพยาบาล”
เพราะเราขี้เกียจรอ
การรอคิวในโรงพยาบาล (โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ) ดูเหมือนจะเป็นภาพจำของเราทุกคน มันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและเจ็บปวด การรับบัตรคิว ขั้นตอนที่มากมาย เหมือนเรามาอยู่ในอาณาจักรที่เราเป็นประชากรที่ไร้ซึ่งอำนาจใดๆ
3
“ทำไมเราต้องรอ”
เพราะหมอมีน้อย
จริงๆ การรอนั้นมีสาเหตุมากมาย แต่ถ้าในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว คอขวดที่สำคัญคือ “หมอไม่พอ” ผมเองในสมัยที่ทำงานโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง มีหมอเพียง 3 คน ในอำเภอที่มีประชากร 50,000 คนนั้น คนไข้ที่ต้องตรวจในเวลาคือ 80-100 คนต่อวัน ถ้าคิดว่าทำงาน 8 ชั่วโมงต่อเนื่อง ไม่หยุดเข้าห้องน้ำ หรือทานอาหารใดๆเลย หมอจะมีเวลา 4.8 นาทีต่อคนไข้ 1 ท่านเท่านั้น ซึ่งอันนี้ยังไม่รวมถึงงานฉุกเฉิน หรืองานผู้ป่วยในที่แทรกเข้ามา
4
“ทำไมหมอมีน้อย”
เพราะการผลิตหมอแต่ละคนมีต้นทุนที่สูงและใช้เวลานาน”
การเรียนหมอนั้นใช้เวลา 6 ปีในการเป็นแพทย์ทั่วไป จากนั้นต้องไปใช้ทุนหรือเพิ่มพูนทักษะ 1-3 ปี เรียนเฉพาะทางอีก 3-5 ปี และเรียนต่ออนุสาขา (หรือซูเปอร์เฉพาะทาง) อีก 1-2 ปี ดังนั้นโดยเฉลี่ยแล้วการที่เราจะได้คุณหมอหนึ่งคนต้องใช้เวลาเรียน 10-15 ปีเป็นอย่างน้อย ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ เราต้องเข้าเรียน ป.1 – ม.6 อีกรอบกว่าจะได้เป็นหมอจริงๆ นั่นเอง แน่นอนการเพิ่มปริมาณก็เป็นสิ่งที่ทำได้นะครับ
20 ปีก่อน มีแพทย์จบรุ่นละ 869 คน
10 ปีก่อน (หรือปีที่ผมจบ) มีแพทย์จบรุ่นละ 1,544 คน
ปัจจุบันนี้ มีแพทย์จบรุ่นละ 2,707 คน
จะเห็นว่ามีการเพิ่มปริมาณการผลิตเกือบ 2-3 เท่า แต่ถ้ามองโรงพยาบาลชุมชนที่ผมเคยอยู่ใน 10 ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีแพทย์เพียง 3 คนเท่าเดิม ปริมาณอาจไม่ใช่ปัญหาเพียงอย่างเดียว การกระจายตัวก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ในขณะที่โรงพยาบาลชุมชนต่างบ่นว่าขาดหมอ แต่ในเพื่อนหมอหลายคนก็บ่นว่าหางานทำในกรุงเทพไม่ได้ ผมคงไม่ได้เจาะลึกปัญหาไปมากกว่านี้ เพราะท่านสามารถหาอ่านได้ในข่าววงการสาธารณสุขทั่วๆ ไป แต่ผมอยากตั้งคำถามที่ชวนเปิดจินตนาการครับ
5
“ทำไมหมอต้องเป็นมนุษย์”
นั่นสิครับ หมอต้องเป็นมนุษย์อยู่ไหม
ในเมื่อมนุษย์ต้องใช้เวลาเรียนรู้ อีกทั้งยังมีความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าเมื่อทำงานต่อเนื่อง ในเมื่ออาชีพอื่นๆ ก็เริ่มถูกทดแทนด้วยระบบ Automation และหุ่นยนต์ เหตุไฉนอาชีพแพทย์จะไม่ถูก disrupt
ในแวดวงเทคโนโลยี ประเด็นนี้ก็ถูกยกขึ้นมาพูดกันอยู่เรื่อยๆ มีปัจจัยมากมายที่ชี้ไปในแนวทางว่า “อนาคตแพทย์ของเรา อาจไม่ใช่มนุษย์” ยิ่งเมื่อวงการแพทย์ได้เข้าสู่ยุค Evidence based medicine หรือการใช้หลักฐานทางการแพทย์ในการตัดสินใจรักษา จากเดิมที่การรักษาขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์แต่ละคน ดังนั้นการที่แพทย์จะตัดสินใจทำอะไรกับคนไข้ ปัจจุบันนี้ต้องมีหลักฐานจากการวิจัยรองรับ แพทย์จึงต้องทำตาม Guideline ที่ถูกกำหนดโดยสมาคม หรือ ราชวิทยาลัยต่างๆ อีกทั้งต้องหมั่นคอยอัพเดทงานวิจัยที่มีออกมาทุกวันอีกด้วย
ดังนั้นถ้าหมอคิดเป็น Algorithm แล้วคอมพิวเตอร์ก็ต้องทำได้เช่นกัน แล้วก็น่าจะดีกว่าด้วย ถ้าดูข่าวเทคโนโลยีในช่วงหลังๆ ก็พบว่าเริ่มมีหลายอย่างที่คอมพิวเตอร์ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ( Artificial intelligent, AI) มีความสามารถชนะแพทย์ได้แล้ว เช่น การอ่านภาพจอประสาทตา การอ่านผลชิ้นเนื้อ การอ่านผล CT แต่ก็พบว่ามันเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของกิจกรรมที่แพทย์ทำเท่านั้น และเราต้องไม่ลืมว่า การรักษานั้นเป็นศาสตร์และศิลป์ (นี่เป็นที่มาของการเรียกว่า ใบประกอบโรคศิลป์ นั่นเอง) ในส่วนของการเข้าใจด้านอารมณ์ จิตวิญญาณ ยังถือว่าเป็นข้อจำกัดที่คอมพิวเตอร์ยังทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่ากับมนุษย์
แต่แน่นอนว่า ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ แต่เป็น ทำ....ยังไม่ได้นั่นเอง
ถ้าพูดถึงระยะสั้นถึงระยะกลาง คงต้องบอกว่า คอมพิวเตอร์ยังทดแทนหมอไม่ได้เป็นแน่ แต่คอมพิวเตอร์คงมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
ไม่มีใครรู้ว่า AI จะมาทำให้หมอตกงานเมื่อไร แต่ที่เรารู้แน่ๆ คือ หมอที่ไม่ใช้ AI น่าจะตกงานอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้
และสำหรับคนป่วย ผมคิดว่าเราไม่ต้องรอให้ AI มารักษาเราหรอกครับ “I” ที่แปลว่าตัวเรานี่แหละที่จะต้องรักษาสุขภาพเองก่อน
ดังนั้นระหว่างที่เราจินตนาการถึงโลกอนาคตที่ไม่ต้องรอหมอ เพียงเปิดคอมพิวเตอร์ก็สามารถรักษาเราได้เลย ในระหว่างนั้น เราคงต้องกินอาหารที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำอารมณ์ให้ดี นอนหลับให้เพียงพอ
อะไรที่ Low tech ดูซ้ำซากแบบนี้แหละครับคือของจริง
และอย่าลืมว่าเราต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เผื่อเราไม่สบายด้วย คุณคงเห็นนะครับว่าค่ารักษาพยาบาลปัจจุบัน (และอนาคต) ไม่ใช่น้อยๆ เลย ถ้าเราไม่ดูแลสุขภาพ
ย้อนกลับไปที่คำถามแรกที่เราคุยกันครับว่า ทำไมเราต้องดูแลสุขภาพ และคุณจะพบคำตอบ