ดูแลป่าด้วย “แนวกันไฟ”

ต้นไม้ 1 ต้น สามารถผลิตออกซิเจนได้ถึง 250,000 ลิตร/ปี หรือเท่ากับความต้องการออกซิเจนของมนุษย์ถึง 2 คน

ต้นไม้ 1 ต้น สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 1 – 1.7 ตันในช่วงอายุขัยของต้นไม้

ต้นไม้ 1 ต้น สามารถดักจับอนุภาคของมลพิษ เช่น ฝุ่น ควัน ได้ถึง 1.4 กิโลกรัม/ปี

ในวันนี้ ที่ประเทศไทยบ้านเราเกิดไฟป่าอยู่บ่อยครั้ง และยังเป็นสาเหตุหนึ่งของฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาใหญ่ โดยไฟป่าที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งสร้างความสูญเสียหลายร้อยไร่ แม้เราจะเร่งรณรงค์ปลูกต้นไม้เพื่อทดแทน  ต้นไม้ 1 ต้นก็ใช้เวลากว่าจะเติบโต และเมื่อเกิดไฟป่าอีก เราก็ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราลดการสูญเสียต้นไม้ได้

firebreak-01

โดยที่แนวกันไฟนี้ มีทั้งแบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือมนุษย์สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งไฟป่า และเป็นแนวตั้งรับในการดับไฟป่า แนวกันไฟจะสกัดเพลิงที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ด้านหนึ่งไม่ให้ลุกลามไปอีกฟากหนึ่ง จะช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ และคาดคะเนว่าไฟจะมาจากทิศใด แล้วทำแนวกันไฟสกัดในทิศทางนั้น และให้แนวกันไฟทำมุมเฉียงกับหัวไฟเพื่อให้มีพื้นที่มากขึ้น ไฟที่ลุกลามมาก็จะข้ามมาอีกฝั่งได้ยากขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้นการแบ่งพื้นที่ป่าเป็นบล็อกก็จะช่วยให้ดับไฟป่าได้ง่ายขึ้น และสกัดไม่ให้ไฟลุกลามไปยังจุดอื่นได้ดีกว่า สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

1. วิธีกล

เป็นการใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักร และยังเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด ด้วยการทำความสะอาดพื้นที่ให้โล่งเตียนจนถึงชั้นหน้าดินเป็นแนวยาวในป่า โดยกำจัดเชื้อเพลิงบนพื้นป่าจำพวกใบไม้กิ่งไม้แห้ง หญ้า วัชพืช และไม้พื้นล่างเล็กๆ สามารถทำได้โดยใช้จอบ คราด มีด ขวาน หรือไม้กวาดสาง หรือใช้รถแทรคเตอร์ในการไถเกลี่ยเปิดชั้นหน้าดิน วิธีนี้นิยมทำในช่วงต้นฤดูแล้ง เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน

2. การใช้สารเคมี

การใช้ยากำจัดวัชพืชเพื่อทำแนวกันไฟที่มีพื้นที่เยอะ แต่มีข้อคำนึงคือ การใช้สารเคมีก็อาจจะทำให้มีสารตกค้างในดิน และเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า และสารเคมีอีกประเภทนึงที่ใช้กันในอดีตคือสารหน่วงการไหม้ไฟ ฉีดพ่นสารดังกล่าวลงบนเชื้อเพลิงเช่น หญ้า สารดังกล่าวจะจับตัวเป็นชั้นบางๆ ปกคลุมเชื้อเพลิงไม่ให้ติดไฟ สารประเภทนี้จะถูกชะล้างเมื่อถึงฤดูฝน และก่อให้เกิดสารตกค้างในดินเช่นกัน ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาให้มีสารหน่วงไฟที่ไม่มีพิษตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม คือ Class A Foam แต่สารนี้ก็มีราคาสูง

3. ปลูกพืชสีเขียวตลอดปี

การปลูกพืชที่เขียวชอุ่มให้ความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Green Belt โดยเลือกพืชที่มีความอวบน้ำสูง ไม่ผลัดใบในฤดูแล้ง มีเรือนยอดแน่นทึบปกคลุมดิน เพื่อให้แสงส่องถึงพื้นดินน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดวัชพืช แต่การทำแนวกันไฟประเภทนี้ จะต้องอาศัยการชลประทานที่ดี เพื่อให้มีน้ำแก่พืชตลอดเวลา ประเทศไทยเราเคยลองใช้วิธีนี้แล้ว โดยทดลองปลูกสะเดาช้าง ต้นแสนก และกล้วยป่า

4. การให้น้ำ

วิธีนี้คล้ายกับการใช้พืช เพียงแต่ไม่ต้องปลูกขึ้นใหม่ ใช้วิธีการให้น้ำแก่พืชที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ให้พืชเขียวชอุ่มตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องอาศัยระบบชลประทานให้มีน้ำไหลผ่านแนวกั้นไฟนี้ตลอด หรือบางครั้งอาจจะใช่ระบบสปริงเกอร์ให้น้ำเป็นช่วงๆ  เพื่อให้น้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่สม่ำเสมอ แนวกันไฟแบบนี้เรียกอีกอย่างว่า แนวกันไฟเปียก ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ก็ต้องใช้งบประมาณการลงทุนสูงเช่นกัน ในประเทศไทยได้ทดลองทำแนวกันไฟเปียกแล้วที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ตามพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

5. การเผา

การเผาพื้นที่เพื่อกำจัดวัชพืช และพระตุ้นการงอกของพืช และหญ้าสดที่จะทำให้ไฟติดได้ยากขึ้น แนวกันไฟประเภทนี้นิยมทำกันมากในหลายพื้นที่ทั่วโลก เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ และใช้แรงงานน้อย แต่มีประสิทธิภาพสูง วิธีนี้แม้จะมีข้อดีมาก แต่ก็มีข้อควรระวัง ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างดี มิเช่นนั้นอาจจะกลายเป็นต้นเหตุของไฟป่าได้

6. ธรรมชาติ

ลำห้วย แนวผาหิน เป็นแนวกันไฟที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเอง หรือถนนหนทางที่มนุษย์สร้างขึ้นก็สามารดดัดแปลงเป็นแนวกันไฟที่ดีได้เช่นกัน

และแม้เราจะสร้างแนวกันไฟสำเร็จแล้ว แต่ก็ต้องมีการกลับไปสำรวจพื้นที่สม่ำเสมอ เพราะอาจจะมีพืชที่กลายเป็นเชื้อเพลิงเกิดขึ้นใหม่ได้อีก และพวกเราทุกคนก็มีหน้าที่ช่วยดูแลป่า เพื่อส่งมอบโลกที่สุขภาพดีให้กับลูกหลานต่อไป