ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เศรษฐกิจพอเพียง ที่หลายคนอาจเข้าใจผิด
“...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ ปีพ.ศ.2544
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร
อดีตองคมนตรี อำพล เสนาณรงค์ (2550) ได้กล่าวถึง เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา หรือแนวปฏิบัติ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปรารถนาจะให้เป็นรากแก้วให้สังคมไทยได้ยึดเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่ดีกินดี ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงมีด้วยกัน 7 ข้อ คือ พึ่งพาตนเอง พอประมาณ เดินสายกลาง มีภูมิคุ้มกัน มีเหตุผล เป็นคนดี และรู้รักสามัคคี โดยหลักสำคัญทั้ง 7 ข้อนี้ คนทุกกลุ่มทุกอาชีพสามารถน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
หลังจากพระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อคืนวันที่ 4 ธันวาคม
2540 ได้เกิดการตีความหมายและความเข้าใจแตกต่างกันในหลายแง่มุม การนำไปอ้างอิงเพื่อการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจก็แตกต่างกันเช่นกัน
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายพิเศษ เรื่อง “พระจริยวัตรของในหลวงกับเศรษฐกิจพอเพียง” ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2550 ของสถาบันพระบรมราชนก เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย…จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ”
ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า ได้บรรยายเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ 900 กว่าแล้ว เวลาไปพูดเรื่องนี้ทีไรมีหลายหน่วยงานพยายามทำตัวอย่างให้ดู เช่น มีควาย มีกองฟาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาด บางเวทีมีกองฟาง ดีไม่จูงควายขึ้นมาเดินบนเวทีด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยกำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับปรัชญานี้
เท่าที่ผ่านมาการพูดถึงแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงส่วนใหญ่มุ่งไปที่มิติปรัชญาซึ่งแคบเกินไปเพราะมิติเศรษฐกิจมีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ยิ่งถ้าเรามองว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสนอแนะให้ใช้แนวคิดนี้แก้วิกฤติเศรษฐกิจซึ่งกำลังโหมกระหน่ำเมื่อปี 2540 ด้วยแล้ว การมองข้ามมิติเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมาก
"การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด" พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517
จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั้นคือการทำให้คนพอมีพอกินเสียก่อนแล้วจึงพัฒนาคุณภาพชีวิตขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่คนไทยจำนวนหนึ่งนั้นไม่ทำความเข้าใจในแก่นอันนี้ แล้วก็ตีความแบบเข้าใจผิดกันเอาเองว่า
พอเพียง = ห้ามมี ห้ามร่ำรวย ห้ามใช้จ่าย หรือต้องทำไร่ไถนาแบบชาวบ้านในชนบท
ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ทั้งที่ในความหมายคำว่า "พอเพียง" ในแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น หมายถึงให้คนมีพอกับความต้องการเสียก่อน ให้เหมาะสมกับฐานะ ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำรงชีวิต และในการประกอบอาชีพต่างๆ ในทุกด้าน
นอกจากนั้นยังมีความสับสนและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงในประเด็นอื่น ๆ เช่น คิดว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงปฏิเสธความร่ำรวย ความมั่งคั่งและเทคโนโลยี คิดว่าถ้าพอเพียงก็ต้องไม่มีเมกะโปรเจคหรือการพัฒนาใหญ่ๆ มองว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่เหมาะกับชีวิตคนเมือง และที่เข้าใจผิดอย่างมากคือมองว่าความรู้จักพอจะทำให้หยุดการพัฒนาและประเทศชาติจะไม่เจริญ ซึ่งความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจในหลักการอย่างถ่องแท้
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี (2550) กล่าวว่าคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจ คำว่า “เศรษฐกิจ พอเพียง” เป็นเรื่องของความประหยัดมัธยัสถ์ในการใช้ชีวิตประจำวันหรือมองว่าเป็นการนำมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรมเท่านั้น ซึ่งอันที่จริงหลักการนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกภาคส่วน ในขณะที่ต่างชาติมักเข้าใจผิดคิดว่าพอเพียงแปลว่าไม่ก้าวหน้าซึ่งไม่เป็นความจริงอย่างมาก สิ่งที่ดีก็นำมาประยุกต์ใช้ให้ประเทศก้าวหน้า แต่ความก้าวหน้าต้องสมดุลกับประเทศด้วย ที่สำคัญการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ให้ได้ผล ต้องพยายามลบค่านิยมด้านวัตถุนิยมที่เน้นความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย พร้อมปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชนในเรื่องของการเอื้อเฟื้อ แบ่งปันเสริมเข้าไปด้วยมุ่งหวังให้สังคมไทยรู้จักคำว่า “พอเพียง” มากขึ้น ไม่หลงตามไปกับกระแสบริโภคนิยม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนเข็มทิศ เพื่อนำไปสู่หนทางการตัดสินใจที่ถูกต้อง และยั่งยืน
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะว่า การใช้ชีวิตให้ยึดหลัก 3 ประการ คือ พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมคุ้มกัน จะทำอะไรอย่าให้เกินกำลัง อย่าใช้จ่ายเกินตัว ยิ่งยุคนี้เป็นยุคบริโภคนิยม ยุคทุนนิยม ดูอะไรเป็นเงินเป็นทองไปหมด ยุคนี้ผู้บริโภคถูกยั่วด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้นต้องรู้จักตัวเอง อย่าหลงระเริง อย่าให้กิเลสมาเป็นนายเรา เราต้องบริหารกิเลสให้เป็น นอกจากธรรมะ 3 ประการแล้ว พระองค์ท่าน ยังเพิ่มหลักอีก 2 ประการ คือ ความรอบรู้ และรอบคอบ ที่สำคัญถ้าปราศจากจริยธรรมและคุณธรรมทุกอย่างก็จบ”
โดยสรุปปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ คือ การยึดหลักทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การ สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมเป็น พื้นฐานในการตัดสินใจและการกระทำ ให้จำง่ายๆ คือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ปัจจัยสำคัญที่เป็นแก่นแท้ของ 3 ห่วง คือ (1) ความพอประมาณ ไม่ สุดโต่งจนเกินไป (2) การมีเหตุมีผลที่จะคิดวิเคราะห์ทุกอย่างก่อนลงมือปฏิบัติ (3) มีภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อ ไม่ให้กระแสโลกสิ่งแวดล้อมรอบตัวเข้ามามีผลกระทบต่อชีวิตของเรามากเกินไป ส่วน 2 เงื่อนไข คือ (1) ความมีเหตุผล ใช้ชีวิตอย่างรอบคอบและระมัดระวัง (2) คุณธรรม หากมีสิ่งเหล่านี้ไม่มีคำว่า “ไปไม่รอด” ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญมากในการดำเนินชีวิต
เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ความจำกัดจำเขี่ย แต่เป็นการสร้างพื้นฐานการดำรงชีวิตให้มั่นคง แล้วก้าวจากพื้นฐานที่มั่นคงนั้นต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน
อ้างอิง