ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
5 เรื่องที่คนเคยปลูกบ้านอยู่เองอยากบอก
การปลูกบ้านนั้น ยากกว่าการเลือกซื้อบ้าน แถมยังมีขั้นตอนมากมายกว่าจะได้เริ่มก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการรังวัดที่ดิน การขอขมาบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง การตั้งเสาเอกเสริมสิริมงคล การขอน้ำ-ไฟ ชั่วคราว รวมถึงต้องประสานสิบทิศกับผู้เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สถาปนิก วิศวกร ทีมงานออกแบบ ผู้รับเหมา และอีกสารพัดช่าง
สำหรับเจ้าของบ้านที่ใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน ก็จะช่วยเบาแรงไปได้หลายอย่าง ไม่ต้องกลัวผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือหาช่างที่ชำนาญงานไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะสร้างบ้านด้วยการติดต่อผ่านผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ หรือบริษัทรับสร้างบ้าน เจ้าของบ้านก็ต้องหมั่นเข้าไปดูแลความคืบหน้าของงานในแต่ละขั้นตอนด้วย เพื่อให้ได้บ้านที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันมากที่สุด บทความนี้มีคำแนะนำดีๆ จากผู้ที่มีประสบการณ์ปลูกบ้านอยู่เองมาเล่าสู่กันฟัง
1.ที่ดิน
การออกแบบบ้าน ควรรังวัดขนาดของที่ดินจากสถานที่จริง โดยวัดจากหมุดหลักเขตบนที่ดิน อย่าใช้การเทียบขนาดจากโฉนดที่ดิน เนื่องจากมีโอกาสผิดพลาดสูง อีกทั้งการรังวัดที่ดินเพื่อไม่ให้มีปัญหาการรุกล้ำที่ดินกับเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน เจ้าของบ้านจะต้องรังวัดอย่างเป็นทางการ โดยนัดหมายเจ้าของที่ดินทุกคนที่มีที่ติดกับที่ดินของเรามาร่วมรู้เห็นในการรังวัดด้วย หากที่ดินของใครที่หาหลักหมุดไม่เจอ ยิ่งต้องรังวัดให้รู้เขตแนวที่แน่นอน เพื่อจะได้ทราบว่า บ้านที่ติดกันนั้น มีส่วนล้ำเข้ามาในที่ดินของเราหรือไม่ และการก่อสร้างของเราก็จะได้ไม่ไปรุกล้ำที่ดินของคนอื่นเช่นกัน เพราะการรังวัดขนาดที่ดินที่ผิดพลาด นอกจากจะเกิดปัญหาทางกฎหมายได้แล้ว ยังมีผลต่อการออกแบบบ้านและพื้นที่โดยรอบด้วย โดยเฉพาะที่ดินที่มีเนื้อที่ไม่กว้างนัก และต้องใช้เนื้อที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ส่วนการเตรียมระดับพื้นดินสำหรับบ้านสร้างใหม่ ควรถมที่ดินให้สูงกว่าถนนหน้าบ้านอย่างน้อย 30 – 50 เซนติเมตร หากสูงกว่านั้นได้ก็จะยิ่งดี ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม และการปรับระดับถนนสาธารณะหน้าบ้านในอนาคต การทำระดับให้สูงไว้ก่อนจะช่วยไม่ให้ที่ดินของเรากลายเป็นที่รับน้ำจากภายนอก และยังช่วยให้ไม่ต้องต่อเติมรั้วบ้านให้สูงขึ้นในอนาคตด้วย เพราะการต่อเติมรั้วบ้าน หากเสาเข็มที่เคยลงไว้ไม่เพียงพอต่อการรับน้ำหนักของรั้วที่มากขึ้น ก็สามารถทำให้รั้วบ้านล้มเอียงได้ อีกทั้งการถมที่ดินยังช่วยให้การวางระบบท่อน้ำทิ้ง ที่ต้องลาดเอียงไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ ทำได้ง่ายขึ้นด้วย
2. รั้วบ้าน
การสร้างบ้าน ควรเตรียมการเรื่องรั้วและตัวบ้านไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะได้คำนวณราคาค่าก่อสร้างที่แท้จริงได้ อีกทั้งการทำรั้วบ้านต้องมีการเตรียมเสาเข็ม แนวกันดิน หรือสเตย์ที่เป็นคานดึงเสารั้วไม่ให้ล้มหรือเอียง อีกทั้งยังต้องคำนวณเผื่อไปถึงการรับน้ำหนักของแนวเหล็กแหลมกันขโมยที่เจ้าของบ้านบางรายต้องการจะติดไว้รอบรั้วบ้านด้วย
หากที่ดินของเราติดกับรั้วเพื่อนบ้าน ก็ต้องมาดูว่าจะทำรั้วอีกชั้นหรือไม่ หรือหากระดับพื้นดินของแต่ละฝ่ายต่างกันมาก ยิ่งต้องวางแผนทำแนวกันดิน หรือสเตย์ที่เป็นคานดึงเสารั้วควบคู่ไปกับการวางเสาเข็ม อย่ารอให้ตัวบ้านขึ้นโครงมาแล้วค่อยคิดทำรั้ว เพราะต้องเผื่อพื้นที่ระหว่างตัวบ้านและรั้วให้กว้างพอที่รถขุดเจาะ หรือเครื่องจักรสามารถเข้าไปทำงานได้ด้วย ที่สำคัญมากๆ คือ รั้วบ้าน บริเวณรอบบ้าน และตัวบ้าน ต้องมีระบบฐานรากที่เป็นอิสระแยกจากกัน เพราะการทรุดตัวของสามส่วนดังกล่าวไม่เท่ากัน หากถูกยึดไว้ด้วยกันจะพากันทรุดและเกิดปัญหาการแตกร้าวที่สามารถทำให้บ้านหรือรั้วพังลงมาได้
3. ไฟฟ้า
แผงไฟ และปลั๊กไฟก็สำคัญ ไม่ควรอยู่ในระดับต่ำเกินไป เพื่อให้พ้นจากมือเด็กเล็ก และป้องกันน้ำท่วมถึง รวมถึงการกำหนดตำแหน่งแผงไฟ ปลั๊กไฟนั้น เจ้าของบ้านควรจะเป็นผู้ชี้จุดให้กับช่าง หรือผู้รับเหมา เพื่อจะได้สอดคล้องกับพื้นที่ใช้งาน จุดไหนออกแบบไว้วางตู้ เตียง เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ปลั๊กไฟก็ควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับพื้นที่ใช้สอย หรือใครใช้ประตูรั้วแบบเปิดปิดด้วยรีโมท กล่องควบคุมการเปิดปิดประตูก็ไม่ควรตั้งไว้กับพื้น เพราะเป็นจุดที่เสี่ยงกับน้ำท่วมได้ง่ายเช่นกัน
ในปัจจุบันการออกแบบบ้านเพื่อให้ดูสวยงาม จะมีการเดินสายไฟร้อยอยู่ในท่อ และฝังท่อไฟอยู่ในผนังบ้านอีกทีเพื่อความสวยงาม แต่ข้อเสียคือ หากในอนาคตมีการเจาะผนังเพื่อแขวนสิ่งของ ใส่ราวจับ หรือต่อเติมเล็กๆ น้อย การเจาะผนังโดยไม่รู้ว่าแนวท่อไฟเดินผ่านจุดไหนบ้าง จะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากจะเดินท่อไฟอยู่ในผนัง ก่อนที่จะฉาบปูน เจ้าของบ้านควรเข้าไปถ่ายภาพจุดที่เป็นเส้นทางของท่อไฟให้ครบทุกจุด ไล่เรียงไปที่ละห้อง ทีละมุม และอัดภาพเก็บเอาไว้เป็นเหมือนคัมภีร์ผนังในบ้านให้ตัวเราเอง และลูกหลานได้ใช้เป็นคู่มือ โดยเฉพาะผนังบางจุดที่มีการเดินไฟทั้งด้านหน้า และหลังก็ต้องโน้ตเพิ่มเป็นพิเศษว่าให้ระวังท่อไฟที่เดินอยู่ในผนังอีกฝั่งด้วย เพราะหากก่อผนังบาง โอกาสที่เจาะผนังฝั่งหนึ่งแล้วไปโดนท่อไฟอีกฝั่งหนึ่งก็เกิดขึ้นได้
4. ห้องน้ำ
พื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุจากการลื่นล้มได้ง่ายที่สุดในบ้านคือห้องน้ำ จึงควรเลือกกระเบื้องปูพื้นห้องน้ำที่หยาบและป้องกันการลื่นเป็นพิเศษ อย่าคิดว่าสามารถซื้ออุปกรณ์กันลื่นต่างๆ มาใช้ได้ เพราะอุปกรณ์เหล่านั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้พอดีกับพื้นที่ใช้สอย และหากนำมาวางบนพื้นกระเบื้องที่ลื่น ก็จะทำให้ลื่นไถลได้เช่นกัน
ราวจับกันลื่นก็สำคัญ เพราะในวันที่คนในบ้านอายุมากขึ้น หรือเจ็บป่วยจนเคลื่อนไหวไม่สะดวก ราวจับในห้องน้ำถือเป็นตัวช่วยพยุงยามลุกนั่งได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การติดราวจับ ราวแขวนเสื้อผ้า เจ้าของบ้านควรกำหนดจุดที่ต้องการให้ช่างทราบก่อนจะปูกระเบื้องผนังห้องน้ำ เพราะการปูกระเบื้องแล้วค่อยมาแก้ไข กระเบื้องก็จะเป็นรู ทำให้ต้องเปลี่ยนกระเบื้องจุดนั้นใหม่ และอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นหากกระเบื้องที่สำรองไว้มีไม่เพียงพอ
อีกเรื่องที่อยากฝากไว้พิจารณา เนื่องจากในอนาคตหากต้องซ่อมบำรุงจุดต่างๆ ของบ้าน หรืออาจมีการจ้างแม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดบ้านทุกสัปดาห์ การมีห้องน้ำเล็กๆ อยู่นอกตัวบ้านให้ช่าง หรือแม่บ้านได้ใช้สอยแยกจากห้องน้ำในตัวบ้านก็เป็นสิ่งที่ดีไม่น้อย อีกทั้งห้องน้ำนอกตัวบ้านยังสามารถใช้ล้างเนื้อล้างตัวก่อนเข้าบ้านในวันที่ต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ได้ด้วย
5. มือจับประตู และก๊อกน้ำ
จุดที่ใช้ทุกวัน และใช้บ่อยๆ ในบ้าน ก็คือมือจับประตู และก๊อกน้ำต่างๆ โดยแนะนำให้เลือกใช้แบบคันโยก เพราะทนทานกว่าแบบที่ใช้มือหมุนเปิดปิด อีกทั้งเวลาที่มือเลอะสิ่งสกปรก หรือถือของแล้วไม่อยากวางลง ก็สามารถใช้ข้อศอกหรือท่อนแขนช่วยเปิด-ปิด ได้สะดวกกว่า รวมถึงในกรณีของผู้สูงอายุที่มือไม่ค่อยมีแรง การใช้แบบคันโยกจะช่วยให้ออกแรงน้อยกว่าแบบลูกบิดอีกด้วย
ก๊อกน้ำสนาม หรือก๊อกน้ำที่สามารถเสียบสายยางได้ก็สำคัญ ในบ้านหนึ่งหลังควรมีตำแหน่งก๊อกสนามน้ำไว้ด้วย เหตุผลไม่ใช่เพื่อความสะดวกในการล้างรถ หรือรดน้ำต้นไม้ แต่ในยามที่น้ำประปาไหลอ่อนจากการซ่อมบำรุงของการประปา จนแรงส่งน้ำไม่พอดันน้ำเข้าไปเก็บในแท็งก์เพื่อปั๊มน้ำมาใช้ในบ้านได้ เรายังสามารถรองน้ำจากก๊อกสนามนี้มาใช้ได้บ้าง โดยก๊อกนี้แนะนำให้ทำแบบที่สามารถสลับไปใช้น้ำจากสายเมนของการประปาโดยตรง หรือใช้น้ำจากแท็งก์ก็ได้ แค่นี้ปัญหาเรื่องน้ำไม่ไหล ไฟดับ ปั๊มน้ำไม่ทำงาน ก็จะมีก๊อกน้ำจุดนี้ที่พอจะใช้งานได้อยู่บ้าง
การปลูกบ้านยังมีรายละเอียดต่างๆ อีกมาก แต่ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญ ไม่อยากให้เจ้าของบ้านมองข้ามไป เพราะชั่วชีวิตคนส่วนใหญ่สามารถปลูกบ้านอยู่เองได้เพียงหนึ่งหลัง แต่บ้านหนึ่งหลังนั้น สามารถใช้อยู่อาศัยได้ยาวนานหลายชั่วอายุคน จึงต้องพิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียดและความปลอดภัยของการอยู่อาศัยควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้บ้านออกมาดีที่สุด แข็งแรงที่สุด ปลอดภัยที่สุด เท่าที่แรงกาย แรงใจ และกำลังทรัพย์ของเจ้าของบ้านจะสามารถเนรมิตได้
สำหรับค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างบ้านนั้น ปัจจุบันสามารถขอสินเชื่อได้สะดวกรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ ใครที่มีแอปพลิเคชัน SCB EASY ก็คลิกเข้าไปที่เมนูสมัครสินเชื่อและบัตรเครดิตได้เลย จากนั้นเลือกสินเชื่อบ้าน ระบุวงเงินที่ต้องการ ใส่รายละเอียดการขอสินเชื่อ และหลักฐานเงินได้ต่อเดือน เพียงแค่นี้ ข้อมูลก็จะถูกส่งไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ จากนั้นไม่นานก็จะมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารติดต่อกลับมาโดยตรง
สิ่งสำคัญในการปลูกบ้านไม่ใช่การขอสินเชื่อให้ผ่าน แต่ต้องรู้จักประมาณตนเองว่าเราไหวแค่ไหน ควรจะปลูกบ้านด้วยงบประมาณที่เท่าไหร่ และจะควบคุมงบประมาณไม่ให้บานปลายได้อย่างไร เพื่อจะได้ไม่สร้างภาระหนี้ที่หนักเกินตัว และมีความสุขกับบ้านที่สร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรงอย่างแท้จริง