เทคนิคยื่นภาษีฉบับผู้ไม่มีรายได้ประจำ ปีภาษี 2565

ไม่เพียงมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำเท่านั้น ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ ถึงแม้จะมีรายได้เป็นครั้งคราว แต่ถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็ต้องยื่นภาษีประจำปี


อย่างไรก็ตาม คำว่า “ผู้ไม่มีรายได้ประจำ” มีความหลากหลายทางอาชีพ ดังนั้น ก่อนยื่นแบบภาษีเงินได้ต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำประเภทไหน เนื่องจากการคำนวณหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และการคำนวณภาษีมีความแตกต่างกัน โดยหลัก ๆ ได้แก่

  • ฟรีแลนซ์ เช่น เขียนบทความ ช่างภาพ กราฟฟิกดีไซน์ สอนพิเศษ แปลภาษา
  • อาชีพอิสระ เช่น ขายของออนไลน์ นักร้อง นักดนตรี นักแสดงภาพยนตร์
  • วิชาชีพอิสระ ได้แก่ นักบัญชี นักกฎหมาย วิศวกร สถาปนิก ช่างประณีตศิลป์ และการประกอบโรคศิลป์

freelancer

ฟรีแลนซ์

เป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจทำเป็นอันดับต้น ๆ เพราะบางอาชีพมีรายได้สูงและมีความเป็นอิสระ หรือมนุษย์เงินเดือนก็สามารถรับงานฟรีแลนซ์ได้ด้วย ซึ่งเงินได้จากงานฟรีแลนซ์มักเข้าข่ายเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร และ หากมีรายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) หรือมีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี (กรณีสมรส) ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


เมื่อฟรีแลนซ์ได้รับค่าจ้างจะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้ง ซึ่งยังไม่ใช่ภาษีที่จะต้องชำระที่แท้จริง และต้องนำรายได้ทั้งหมดมารวมคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราก้าวหน้า หากคำนวณภาษีได้มากกว่าที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม แต่ถ้าน้อยกว่าก็สามารถขอคืนภาษีได้


ที่สำคัญฟรีแลนซ์ต้องขอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) จากผู้ว่าจ้างทุกครั้ง เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นภาษีและประโยชน์ในการขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไป


จากนั้นฟรีแลนซ์ต้องตรวจสอบเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนซึ่งสามารถหักจากเงินได้พึงประเมินเพื่อคำนวณหารายได้สุทธิ และนำรายได้สุทธิดังกล่าวไปเป็นฐานในการคำนวณภาษีต่อไป


โดยค่าใช้จ่ายของฟรีแลนซ์สามารถหักแบบเหมาได้ 50% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และหากมีเงินได้ทั้งจากงานฟรีแลนซ์และเงินเดือน ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกันแล้วหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% สูงสุดไม่เกิน
100,000
บาทเช่นกัน

อาชีพอิสระ

ผู้ที่มีอาชีพอิสระ เช่น ขายของออนไลน์ นักร้อง นักดนตรี และผู้มีรายได้จากการทำเกษตร รายได้จากการขายของชำ และรางวัลจากการชิงโชค เป็นต้น ซึ่งเข้าข่ายเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ก็มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องยื่นภาษีเมื่อมีรายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) หรือมีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี (กรณีสมรส)


จากนั้นตรวจสอบว่ามีค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอะไรที่หักได้บ้าง โดยอาชีพอิสระสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ ได้แก่

  • หักค่าใช้จ่ายตามจริง

การหักค่าใช้จ่ายตามจริงเหมาะกับผู้ที่มีต้นทุนสูง เพราะจะทำให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงตามไปด้วย ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว เงินได้สุทธิที่ต้องนำมาคำนวณภาษีก็จะลดลงตามไป โดยวิธีนี้ต้องจัดเก็บรวบรวมบัญชีรายรับรายจ่ายพร้อมหลักฐาน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ให้ครบถ้วน เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ และลดความสับสนเมื่อยื่นภาษี

  • หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%

(สำหรับนักแสดง นักร้อง นักดนตรี และนักกีฬาอาชีพ มี 2 ขั้น คือ เงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท หักได้ 60% และเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท หักได้ 40%)


การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเหมาะกับผู้ที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงกว่าต้นทุนที่แท้จริง โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานเพื่อพิสูจน์ค่าใช้จ่ายอีกด้วย

วิชาชีพอิสระ

ผู้มีวิชาชีพอิสระ 6 อาชีพ ได้แก่ นักบัญชี นักกฎหมาย วิศวกร สถาปนิก ช่างประณีตศิลป์ และการประกอบโรคศิลป์ ก็มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเงินได้จากวิชาชีพดังกล่าวเข้าข่ายเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีวิชาชีพอิสระกลุ่มนี้ต้องยื่นภาษีเมื่อมีรายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) หรือมีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี (กรณีสมรส)


จากนั้นตรวจสอบว่ามีค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอะไรที่หักได้บ้าง โดยวิชาชีพอิสระเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ ได้แก่ หักตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายครบถ้วน) และหักแบบเหมา 30 - 60% (ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) โดยการประกอบโรคศิลป์ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของค่าตอบแทนที่เรียกเก็บหรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง ส่วนวิชาชีพอิสระอื่น ๆ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30% ของค่าตอบแทนที่เรียกเก็บหรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง

โดยสรุป หากผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำและถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษี ต้องพิจารณา 3 ปัจจัย ดังนี้

1.เข้าใจประเภทรายได้

ถึงแม้จะเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าการคำนวณภาษีจะเหมือนกัน เพราะผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำแต่ละประเภทอาจมีการหักค่าใช้จ่ายในอัตราที่แตกต่างกัน จึงต้องรู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำประเภทไหน


2.จดบันทึกข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน

ขึ้นชื่อว่าผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ หมายถึง การรับรายได้ไม่สม่ำเสมอ จึงควรจดบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดพร้อมเก็บเอกสารหลักฐานทางการเงินทั้งรายได้และค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ตรวจสอบสถานะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการประกอบอาชีพ เพื่อทำให้การยื่นภาษีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


3.คำนวณสถานะเงินได้สุทธิเป็นประจำ

ผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ สามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีได้ เช่น การลดหย่อนจากการลงทุนในกองทุนรวม RMF หรือ SSF หรือประกันชีวิตที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ดังนั้น ควรคำนวณสถานะเงินได้เป็นประจำเพื่อทำให้สามารถแบ่งเงินมาลงทุนสำหรับลดหย่อนภาษีได้ถูกต้อง และเป็นไปตามแผนเพื่อประหยัดภาษีและสร้างความมั่นคงในยามเกษียณ


สำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ เมื่อถึงเวลาต้องยื่นภาษีอาจต้องรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเองและอาจทำให้ข้อมูลบางอย่างไม่ครบหรืออาจถึงขั้นผิดพลาดในการยื่น และทำให้เสียเวลามากขึ้นไปอีก ทางออกที่ดี คือ เริ่มวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากรวบรวมข้อมูลให้ครบแล้ว ก็ต้องรู้ว่าต้องจ่ายภาษีจำนวนเท่าไรและมีวิธีการไหนบ้างที่จะช่วยประหยัดภาษีได้ เช่น การลงทุนในกองทุน SSF / RMF เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในระยะยาวด้วย


หากอยากซื้อกองทุน SSF / RMF เพื่อลดหย่อนภาษีปลายปี สามารถซื้อได้ง่าย ๆ ผ่าน SCB Easy App ได้ทุกที่ทุกเวลา โดย SCB มีกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ที่มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายให้เลือกตามความต้องการและระดับความเสี่ยงที่รับได้ และสามารถเลือกลงทุนได้ทันที ศึกษาข้อมูลกองทุนและขั้นตอนการลงทุนง่ายๆ ผ่าน SCB Easy App  ฟังก์ชัน  WEALTH4U  ผู้ช่วยด้านการลงทุน แนะนำกองทุนแบบรู้ใจเฉพาะคุณ ได้ที่นี่ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/digital-banking/scb-easy/wealth-for-you-info.html