BANI บริบทโลกใหม่ที่ภาคธุรกิจเล็ก-ใหญ่ควรรู้เพื่อ‘รับมือ’

อันนี้ก็เร่ง-อันนั้นก็รีบ”....“กังวลเรื่องโน้น ลังเลเรื่องนี้”  เคยรู้สึกแบบนี้กันใช่ไหม?


ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้เกิดเพราะโลกหมุนเร็วขึ้น แต่เพราะทุกอย่างรอบตัวเปลี่ยนแปลงไปเร็วจนยากจะปรับตัว โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำโลกเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น ทำให้ทุกอย่างสะดวกรวดเร็ว จนหลายคนรอไม่ได้ ช้าไม่เป็น แถมยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้เกิดกระแสโลกใหม่ (New World) ที่มีการอ้างอิงถึงแนวคิด BANI World  


หากเปรียบ BANI World เป็นภาพยนต์ก็คงเป็นภาคต่อของ VUCA World แนวคิดเลื่องชื่อที่อธิบายถึงบริบทสังคม การเมือง เศรษฐกิจและผู้คนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการพูดถึงแนวคิด “BANI World” ที่คิดขึ้นโดย Jamais Cascio นักมนุษยศาสตร์และนักประพันธ์ชื่อดังชาวอเมริกาในวงกว้างมากขึ้น เพื่ออธิบายบริบทโลกใหม่ที่ลงลึกถึงระดับความรู้สึกของผู้คน และผลกระทบต่อธุรกิจทั้งเล็กใหญ่โดยมีเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนเรียนรู้เพื่อ ‘รับมือ’


VUCA World                                                                  BANI World

V = Volatility (ความผันผัวสูง)                               B = Brittle (โลกเปราะบางกว่าที่คิด)

U = Uncertainty (สภาวะที่ไม่แน่นอน)                      A = Anxious (โลกที่เต็มไปด้วยความกังวล)

C = Complexity (ความซับซ้อนเชิงระบบ)                 N = Non-linear (โลกที่ไม่อาจคาดเดาได้)

A = Ambiguity (ความคลุมเครือ)                             I = Incomprehensible (โลกที่เข้าใจยาก)

bani-world-01

B = Brittle ‘โลกเปราะบางกว่าที่คิด


แม้ภาพรวมระบบต่าง ๆ ของโลกดูเหมือนมั่นคงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่หากสังเกตให้ดีจะพบปัญหามากมายแอบซ่อนตัวอยู่ใต้พรม และกำลังรอจังหวะเผยตัวตนออกมาสร้างผลกระทบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง ตลอดจนสภาวะจิตใจของผู้คน ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปมากเท่าใด มนุษย์เราก็ยิ่งเสพติดความสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลต่อพฤติกรรม ทำให้คนยุคปัจจุบันมีจุดเดือดต่ำ และมีความเปราะบางทางความรู้สึก


โดยทั่วไปแล้ว ระบบที่เปราะบางมักพร้อมแตกสลายและกลายเป็นปัญหาลุกลามทันที เมื่อเจอปัจจัยที่ไม่คาดฝันเข้าไปกระตุ้น ยิ่งโลกมีการเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยีมากเท่าไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมแพร่กระจายมากเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2007 อันเกิดจากการบริหารจัดการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (sub-prime mortgage) ผิดพลาด และการกำกับดูแลธุรกิจวาณิชธนกิจ (investment banking) ที่หละหลวมของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่กลับสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ในขณะนี้เกิดคำถามสำคัญขึ้น นั่นคือ ระบบต่าง ๆ ของโลกในปัจจุบันกำลังนำเราเข้าสู่ภาวะวิกฤตเหมือนที่เคยเกิดขึ้นหรือไม่?


A = Anxious ‘โลกปกคลุมด้วยความกังวล


ความรู้สึกกังวลของมนุษย์เป็นผลพวงจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น และมักนำพาสังคมไปสู่ทัศนคติแบบติดลบและนิ่งเฉย (negative and passive attitude) หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบหรือการมีส่วนร่วมทางสังคม อีกทั้งความกลัวหรือความกังวลยังเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดความสิ้นหวังในการดำเนินชีวิตและตัดสินใจผิดพลาดทางธุรกิจอีกด้วย


ธรรมชาติของมนุษย์มักมองโลกในแง่ร้ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นทำให้เราถูกห้อมล้อมด้วยข้อมูลข่าวสารทั้งจริงและเท็จตลอดเวลา การรายงานข่าวของสื่อทั่วโลกเหมือนถูกตั้งโปรแกรมให้ขายความกลัวด้วยการเน้นข่าวร้าย เพียงเพราะข่าวร้ายสามารถสร้าง engagement ได้ดีกว่า แต่นั่นก็ทำให้ผู้คนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลแห่งความกังวล ไม่กล้าคิดนอกกรอบ และเกิดผลกระทบต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม


N = Non-linear ‘โลกที่ไม่อาจคาดเดาได้


ปัจจุบันมีการพูดถึงปรากฎการณ์ non-linear มากขึ้นในหลายแง่มุม เช่น ในอดีตเราอาจเคยถูกสอนว่า “ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย” แต่ทุกวันนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้นเพราะหลายคนทำน้อยกลับได้มากก็มี เห็นได้จากนักลงทุนอายุน้อยร้อยล้านที่สามารถทำเงินมหาศาลเพียงชั่วข้ามคืนด้วยนวัตกรรมการลงทุนใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ นั้นไม่สามารถคาดเดาได้เหมือนในอดีต


เส้นทางจาก A ไป B อาจไม่ใช่ทางตรง แต่มีทางเบี่ยง ทางโค้งหรืออาจเจอทางตันก็ได้ อีกทั้งพฤติกรรมคนในสังคมยังพร้อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้นักการตลาดต้องหาหนทางตอบสนองความต้องการได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว


Non-linear เกิดจากการที่ระบบต่างๆ ของโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ ระบบเศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างหลากหลายยากจะคาดเดาได้  และอาจทำให้เกิด ‘butterfly effect’ ที่ความเชื่อมโยงของเหตุและผลเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ แต่กลับนำไปสู่ผลกระทบในวงกว้างจนเกินคาดการณ์ได้ เช่น เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่นำไปสู่ปัญหาวิกฤตพลังงานในภูมิภาคยุโรป ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก เป็นต้น


I = Incomprehensible ‘โลกที่เข้าใจยากมากขึ้น


โลกที่เข้าใจยากขึ้นหรือ Incomprehensible เป็นผลพวงจากความเปราะบาง ความกังวล และความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลหรือ non-linear ซึ่ง Cascio ได้เปรียบเทียบปรากฏการณ์ Incomprehensible กับการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่อาจมีโค้ดบางอันที่ดูเหมือนซับซ้อนและไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าลบโค้ดนั้นออก ระบบอาจจะล่มโดยหาสาเหตุไม่ได้


ความไม่เข้าใจจะนำไปสู่ความรู้สึกคลุมเครือและยากจะตัดสินใจเมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ แม้ว่าปัจจุบันจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นมากมายให้ใช้ประกอบการตัดสินใจ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการตัดสินใจนั้นจะออกมาถูกต้องเสมอไป เพราะบ่อยครั้งที่ ‘ข้อมูลท่วมหัว เอาตัวไม่รอด’


แม้ว่า BANI จะไม่ได้ช่วยกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจโดยตรง แต่ BANI ทำให้องค์กรเข้าใจสภาพการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรม พื้นฐานอารมณ์และสภาพสังคมที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค เพื่อนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจในอนาคตได้     

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
https://stephangrabmeier.de/bani-versus-vuca/
https://digitalleadership.com/blog/bani-world/