ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เปิดจักรวาลประกัน ชีวิตนี้ควรมีกี่แบบ?
หลายคนคงมีคำถามในใจ ประเภทของประกัน ที่มีมากมายจนคิดไม่ตก ลองมาเปิดจักรวาลประกัน ทำความรู้จักให้ครบทุกรูปแบบ หาคำตอบให้กับคำถามคาใจ ประกันแบบไหนถึงจะคุ้มค่า ตอบโจทย์ความต้องการของเรา และที่สำคัญ ต้องไม่ทำให้การวางแผนทางการเงินที่วางไว้ผิดแผน
ก่อนจะทำความรู้จักประกันรูปแบบต่างๆ ควรต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การทำประกันภัย (Insurance) ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะลดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเรา แต่การทำประกันภัยเป็นการบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการโอนความเสี่ยงภัยของเราไปยังบริษัทประกันภัยแทน เมื่อไหร่ที่ตกลงทำประกันและจ่ายเบี้ยประกันแล้ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดความเสียหายต่อชีวิตขึ้น บริษัทประกันภัยจะทำหน้าที่จ่ายเงินหรือสินไหมทดแทน ตามความคุ้มครองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์นั้นๆ
ประกันชีวิต (Life Insurance)
ตัวเลือกสำหรับผู้ที่อยากมีหลักประกันอนาคต หรือเป็นมรดกให้ลูกหลาน ในยามที่เซย์กู้ดบายจากโลกนี้ไปแล้ว หรือเป็นการวางแผนทางการเงินเพื่อความมั่นคงในอนาคตได้ ซึ่งประกันชีวิตนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบให้เราได้เลือกสรรกันตามความเหมาะสม
1. ประกันชีวิต กรมธรรม์แบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance)
เป็นประกันชีวิตที่พูดถึงความคุ้มครองชีวิตเป็นหลักและมีเบี้ยประกันถูกกว่ารูปแบบอื่น ๆ โดยบริษัทประกันจะจ่ายความคุ้มครองให้ในกรณีที่เสียชีวิตแก่ผู้ได้รับผลประโยชน์ ภายในระยะเวลาเอาประกันเท่านั้น หลายคนจึงเรียกประกันแบบนี้ว่า “เบี้ยจ่ายทิ้ง”
เหมาะกับ: หัวหน้าครอบครัวที่ทำหน้าที่หลักในการเลี้ยงครอบครัวหรือบริหารความเสี่ยงในช่วงชีวิต เช่นช่วงที่ชีวิตมีการเปลี่ยนในระยะเวลาสั้นๆ แล้วอาจทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หรือช่วงเวลาที่ยังมีภาระหนี้สิน
2. ประกันชีวิต กรมธรรม์แบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)
ถ้าอยากมองกันไกลๆ ยาวๆ มองถึงความมั่นคงในอนาคตชนิดที่อยากทำประกันชีวิตไว้เพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลานล่ะก็ ควรเลือกประกันชีวิตกรมธรรม์แบบตลอดชีพ (ประกันมรดก) โดยประกันรูปแบบนี้เราจะจ่ายเบี้ยประกันแค่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 10 ปี 20 ปี หรือ 25 ปี เป็นต้น แต่จะได้รับความคุ้มครองกันแบบยาวๆ ไปจนถึงอายุ 80-99 ปี (แล้วแต่กรมธรรม์กำหนด) เมื่ออายุครบตามที่ทำประกันไว้หรือเสียชีวิตไปก่อน ทุนประกันก็จะกลับคืนสู่กระเป๋าเรา หรือผู้รับผลประโยชน์
เหมาะกับ: หัวหน้าครอบครัวที่ต้องการสร้างความมั่นคงและเป็นมรดกให้กับคนที่คุณรัก
3. ประกันชีวิต กรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)
ตอบโจทย์สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่พร้อมจะรับความเสี่ยงสูง ซึ่งประกันชีวิตกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ จะเป็นส่วนผสมระหว่างความคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ที่จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของเงินคืนหรือเงินปันผล ขึ้นอยู่กับแบบกรมธรรม์ที่เลือก รวมถึงเงินก้อนเมื่อครบกำหนด พร้อมอัตราผลตอบแทน (ประมาณ 1-4% ต่อปี ตามแต่ละแบบกรมธรรม์) พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองชีวิตด้วย
เหมาะกับ: ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองและเงินสะสมคืนตามเงื่อนไขของสัญญาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกๆ หลานๆ ในอนาคต ผู้ที่อยากออมทรัพย์ในรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำ และผู้ที่ต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี นำไปลดหย่อนภาษีด้วย
4. ประกันชีวิต กรมธรรม์แบบบำนาญ (Annuity Insurance)
หากคุณยังเป็นหนุ่มโสด สาวโสด หรืออยู่ในจุดที่มองอนาคตไว้แล้วว่ายากที่จะพึ่งพาใคร การทำประกันชีวิตกรมธรรม์แบบบำนาญจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่งเลย! เพราะเมื่อไหร่ที่อายุล่วงเลยถึงวัยเกษียณก็เตรียมตัวรับทรัพย์เข้ากระเป๋าได้เลย
เหมาะกับ : หนุ่มโสด สาวโสด ผู้ที่ต้องการวางแผนเกษียณ ที่ต้องการใช้ชีวิตวัยเกษียณโดยไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน และผู้ที่ต้องการบริหารภาษี นำไปลดหย่อนภาษีด้วย
ประกันสุขภาพ
แม้ว่าบริษัทหรือองค์กรที่เราทำงานอยู่จะมอบสวัสดิการดีๆ และประกันสังคมให้ แต่ก็ไม่ควรจะชะล่าใจ เพราะโรคภัยไข้เจ็บอาจเข้ามาประชิดและจู่โจมร่างกายเราได้ในอนาคต โดยประกันสุขภาพนั้นจะมีประเภทความคุ้มครองให้เราเลือกได้หลากหลาย ได้แก่
1. ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล
ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล จากโรคภัยไข้เจ็บหรือประสบอุบัติเหตุต่างๆ ทั้งค่ารักษา ค่าผ่าตัด ค่าห้องพัก รวมถึงไปถึงค่าอาหาร หากรูปแบบประกันที่เราเลือกไว้มีวงเงินเพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลตามจริง เท่ากับว่าการรักษาพยาบาลครั้งนั้น ไม่ต้องควักเงินในกระเป๋ามาจ่ายเลยสักบาทเดียว
ปัจจุบันมีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่
● ผู้ป่วยใน (IPD) : คุ้มครองเมื่อผู้เอาประกันมีอาการเจ็บป่วย และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
● ผู้ป่วยนอก (OPD) : คุ้มครองเมื่อผู้เอาประกันมีอาการเจ็บป่วย หรือเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น เป็นหวัด หรือมีอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเล็กน้อย แต่ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
เหมาะกับ: ผู้ที่ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล หรือมีไม่มาก ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจะช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่ายได้ดี
2. ความคุ้มครองโรคร้ายแรง
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณบังเอิญตรวจพบโรคร้ายแรงที่ต้องใช้เวลารักษานาน และจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนในการรักษาและมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นระยะเริ่มต้นหรือระยะลุกลาม โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินก้อนหรือแบ่งจ่ายเงินเป็นงวดให้กับเรา ขึ้นอยู่กับแบบประกันที่เลือกไว้
เหมาะกับ: ผู้ที่ต้องการคลายกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากพบโรคร้ายในอนาคต แล้วจะต้องเสียเงินค่ารักษาเพิ่มเติมจากความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่มีอยู่ ควรเลือกความคุ้มครองโรคร้ายเพิ่ม เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา
3. ความคุ้มครองชดเชยรายได้
หากการเข้ารับการรักษาตัวทำให้รายได้หดหาย คุณจะได้รับเงินชดเชยตามจำนวนวันที่เข้าพักรักษาตัว โดยจำนวนเงินจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความคุ้มครองที่คุณเลือกไว้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความคุ้มครองจะไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล
เหมาะกับ: ผู้ที่กังวลว่าการเข้ารับการรักษา อาจทำให้ขาดรายได้จากการหยุดงาน และอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล
ประกันอุบัติเหตุ
มีประกันชีวิตแล้ว มีประกันสุขภาพแล้ว ประกันอุบัติเหตุ หรือ Personal Accident ก็เป็นอีกหนึ่งประกันที่คุณไม่ควรมองข้าม ประกันอุบัติเหตุจะคุ้มครอง จ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยเฉพาะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเราเท่านั้น โดยจะครอบคลุมถึงการบาดเจ็บเล็กน้อย หรือรุนแรงจนถึงขั้นต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุด้วย
ซึ่งประกันอุบัติเหตุจะมีกรมธรรม์อยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่
● ลักษณะประกันอุบัติเหตุพื้นฐานทั่วไป คือให้คุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา การฟังเสียง การพูดออกเสียง และทุพพลภาพที่เกิดจากอุบัติเหตุทั่วไป
● ลักษณะประกันอุบัติเหตุพื้นฐานทั่วไป ที่เพิ่มความคุ้มครองอื่นๆ เพิ่มเติม คือ ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากอุบัติเหตุทั่วไปแล้ว ก็จะมีความคุ้มครองพิเศษเพิ่มเติมอื่นๆ อีกด้วย เช่น คุ้มครองการเสียชีวิตและทุพพลภาพ การใช้รถจักรยานยนต์ คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลอุบัติเหตุ คุ้มครองเงินชดเชยรายได้รายวัน ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นต้น
ประกันควบการลงทุน
นักลงทุนถูกใจสิ่งนี้! เพราะนี่คือการควบรวมของประกันชีวิตและการลงทุนไว้ด้วยกัน จะมอบทั้งความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิต และโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าการซื้อประกันแบบเดิม
1. ประกันชีวิต แบบ Unit Linked
เป็นประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันสามารถดีไซน์ได้เองว่า เบี้ยประกันที่จ่ายไปจะไปลงที่ความคุ้มครองหรือการลงทุนมากกว่ากัน ซึ่งผู้เอาประกันสามารถประเมินความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหว และเลือกกองทุนที่ต้องการได้ตามรายชื่อกองทุนที่บริษัทประกันได้คัดสรรไว้ให้ ทั้งนี้ผู้เอาประกันจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและอาจขาดทุนได้
ประกันควบการลงทุนเหมาะกับ: ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตสูงๆ และยังได้เพิ่มโอกาสรับเพิ่มผลตอบแทนสูงในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
2. ประกันชีวิต แบบ Universal Life
ประกันชีวิตแบบ Universal Life มีลักษณะคล้ายกันกับแบบ Unit Linked ต่างกันตรงที่พาร์ทของการลงทุน ผู้เอาประกันไม่สามารถบริหารการลงทุนได้เอง แต่บริษัทประกันจะเป็นผู้เข้ามาทำหน้าที่บริหารการลงทุนให้ และมีการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ ทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าประกันสะสมทรัพย์
เหมาะกับ: ผู้ที่ต้องการความคุ้มครอง และได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าขั้นต่ำตามแบบกรมธรรม์กำหนดไว้
ทำความเข้าใจกันครบทุกรูปแบบของประกันแล้ว หลายๆ คนคงได้เห็นถึงข้อดีที่แตกต่างกัน ดังนั้นคุณคนเดียวเท่านั้นที่จะเป็นคนตอบคำถามว่าชีวิตนี้ควรมีประกันกี่แบบ อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เลือกซื้อประกันจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ทั้งแง่ของการจ่ายเบี้ยประกัน ผลประโยชน์ที่จะได้รับ และตอบโจทย์แผนการเงินของคุณที่สุด ประกันรูปแบบนั้นถึงมอบความคุ้มค่าสูงสุดให้กับคุณ
เพราะเราไม่อาจรู้เลยว่าในอนาคตอันใกล้หรือไกลนี้ ชีวิตในแต่ละวันจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอะไรขึ้นบ้าง การทำประกันจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือบริหารทางการเงิน ที่ไม่มีทางเรียกได้ว่าไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน
อยากซื้อประกัน คุ้มครองเรื่องไม่คาดฝัน กดซื้อผ่านแอป SCB EASY ได้เลย
ดาวน์โหลดแอป SCB EASY คลิกที่นี่
กดซื้อประกัน คลิกที่นี่
อ้างอิง
https://guruprakanphai.oic.or.th
https://www.itax.in.th