อัพเดทมาตรการภาษีช่วยประชาชน ผ่านวิกฤตโควิด-19

มาตรการช่วยประชาชนในเรื่องภาษีเงินได้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยเหลือของรัฐในการพยุงสถานการณ์การเงินในครัวเรือนของประชาชนให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้  ภาครัฐออกมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือในเรื่องอะไรบ้าง? ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Head of Estate Planning & Family Office และคุณศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) มาพูดคุยเจาะลึกในรายละเอียดมาตรการภาษีช่วยแบ่งเบาภาระในภาคประชาชน

SCB AD Wealth 1920x1080_C

ดร.สาธิตกล่าวว่าจากที่ทางภาครัฐก็มีการออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมระยะที่ 1 วันที่ 10 มีนาคม 2563 ระยะที่ 2 วันที่ 24 มีนาคม 2563 และระยะที่ 3 วันที่  7 เมษายน 2563 โดยมีรายละเอียดประเด็นเกี่ยวกับภาษีที่น่าสนใจหลายข้อ เพื่อบรรเทาภาระภาษีเงินได้ให้ประชาชนทั่วไป ดังต่อไปนี้

  • มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้ประชาชนทั่วไปหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) กองพิเศษ ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท  โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และ ไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด (รวมวงเงินหักลดหย่อน 500,000 บาท) ทั้งนี้ ในการได้สิทธิพิเศษทางภาษี จะต้องซื้อหน่วยลงทุน SFF กองพิเศษ ภายในวันที่ 1 เมษายน 2563 – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น มีเงื่อนไขถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ

  • กรมสรรพากรออกมาตรการเลื่อนเวลายื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี2562 (ภ.ง.ด.90/91) รอบ 2 เพิ่มเติมอีก 2 เดือน จากสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2563 เป็น 31 สิงหาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้เสียภาษีที่จากเดิมได้มีมาตรการเลื่อนเวลาการ ยื่นแบบฯ ออกไป จากสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2563 เป็นเดือนมิถุนายน 2563 และในกรณีที่ต้องชำระภาษีตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ผู้ชำระภาษีสามารถขอผ่อนชำระได้ 3 งวด โดยมีกำหนดชำระงวดที่ 1 ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ชำระงวดที่ 2 ภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 และชำระงวดที่ 3 ภายใน 31 ตุลาคม 2563

  • การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขในปีภาษี 2563 ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม รักษา ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19  เช่น แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่สืบสวนโรค พนักงานขับรถ ส่งผู้ป่วย รวมทั้งบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น

  • เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น และมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแล สุขภาพลดลง ตั้งแต่ปีภาษี2563 เป็นต้นไป ในส่วนรายการลดหย่อนภาษีเงินได้ กรมสรรพากรให้เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมที่สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อ รวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

  • พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ.2563 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป โดยจากการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 7 เมษายน 2563 จึงได้มีมติเห็นชอบในการขยายระยะเวลาบังคับใช้วงเงินการคุ้มครองเงินฝาก จำนวน 5 ล้านบาท จากเดิมถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการขยายระยะเวลาถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและคุ้มครองผลประโยชน์ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน และทำให้ผู้ฝากเงินมีความมั่นใจต่อการใช้บริการของสถาบันการเงินเป็นปกติ ปัจจุบันได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ.2563 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป

เรื่องภาษีเกี่ยวข้องกับประชาชนเราทุกคน ซึ่งการที่ภาครัฐออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ก็เป็นการช่วยบรรเทาภาระในด้านภาษีในช่วงเวลานี้ได้ คลิกดู LIVE SCBTV โอกาสในวิกฤตโควิด-19 ตอนที่ 5 : มาตรการภาษีภาคประชาชน เพื่อเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ได้ - ที่นี่ -


ที่มา : LIVE SCBTV โอกาสในวิกฤตโควิด-19 ตอนที่ 5 : มาตรการภาษีภาคประชาชน เพื่อเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ออกอากาศทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 26 พฤษภาคม 2563


อ้างอิง :

https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/news/news22_2563.pdf
มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม  ระยะที่ 1 วันที่ 10 มีนาคม 2563

มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม  ระยะที่ 2 วันที่ 24 มีนาคม 2563

มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม  ระยะที่ 3 วันที่ 7 เมษายน 2563

พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ.2563  วันที่ 19 เมษายน 2563