เงินหาย รายได้หดสู้ต่อไปยังไงดี

ไม่มีใครรู้หรอกว่ารายได้เราจะลดลงในอนาคตหรือเปล่า? ยิ่งในปัจจุบันทุกคนมีความเสี่ยง แม้เป็นมนุษย์เงินเดือนก็อาจถูกลดเงินเดือนหรือถูกให้ออกจากงานได้ เป็น Freelance หรือทำธุรกิจ ก็จะมีช่วงที่รุ่งและช่วงที่ร่วง แต่พอเราเห็นภาพรวมเศรษฐกิจที่กำลังแย่ลง แน่นอนทุกคนปรับตัวเพื่อลดรายจ่าย ยิ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเงินหาย รายได้หด เรามีวิธีรับมือผ่อนหนักให้เป็นเบาในช่วงวิกฤตมาฝากกัน

1.ตั้งสติยอมและยอมรับความจริง

เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป มองไปรอบๆ ตัวไม่ใช่เราคนเดียวที่กำลังลำบาก จะได้มีกำลังใจมากขึ้น

2. สำรวจรายรับ-รายจ่าย

ตอนนี้เรามีเงินใช้จ่ายเท่าไหร่ มีเงินเก็บเหลือเท่าไหร่ เดือนนี้จะได้รับค่าจ้างหรือไม่ รับเต็มเดือนหรือครึ่งเดือน หรือกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อรวบรวมข้อมูลทางการเงินของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มวางแผนการใช้เงินในแต่ละวัน ถ้ายังพอมีรายได้เข้ามา อย่าลืมออมเงินไว้ยามฉุกเฉิน เพราะเราคาดเดาไม่ถูกเลยว่าจะต้องอยู่กับสภาวะเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไหร่

3.ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

ให้เหลือเพียงแค่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆ หากเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป ก็ลดปริมาณการใช้จ่าย จัดลำดับความสำคัญของรายจ่ายมาเรียงดูว่า จะต้องลดอะไรก่อน เช่น รายจ่ายไม่จำเป็น รายจ่ายหรูหรา ลดก่อนเลย จากเคยขับรถก็หันมาใช้ขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า รถเมล์ ที่เคยต้องนั่งมอเตอร์ไซต์เข้าซอย ก็หันมาเดินแทน หากเป็นรายจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืม มีดอกเบี้ย ก็ต้องเจรจากับเจ้าหนี้ เพราะหนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก รายได้หาย ผ่อนต่อไม่ได้ต้องรีบเจรจาขอผ่อนผัน

4. หารายได้เสริม

ซึ่งในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้อาจฟังดูยาก แต่จริงๆ ก็อาจมีงานอะไรบางอย่างที่ยังมีความต้องการอยู่ แต่สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนคืออย่าอายและกลัวคนอื่นมองว่าตัวเองตกอับ ต้องกล้าเสนอตัวทำงาน ต้องมองในแง่บวกว่าเราทำงานสุจริต เราทำเพื่อความอยู่รอด ไม่ได้เสียหายอะไร  เช่น รับดูแลผู้สูงอายุในวันหยุด เป็นพี่เลี้ยงเด็ก รับดูแลสัตว์เลี้ยง  ถ้ามีทักษะอื่นๆ เช่น การรับแปลเอกสาร การทำหน้ากากผ้าขาย ทำขนมหรือทำอาหารขายออนไลน์ หรือทักษะอื่นๆ ที่เรามี ก็สามารถเพิ่มรายได้ให้เราได้

5. จัดสรรรายได้ให้เป็นระบบ

หลังจากตัดค่าใช้จ่ายบางตัวที่ไม่จำเป็นแล้ว ได้เวลาที่เราต้องกลับมามองรายได้ที่มีอยู่ ถ้าคิดว่าเราไม่สามารถควบคุมเงินในมือให้เป็นไปตามที่คาดหวังได้ด้วยตัวเอง เราก็ต้องมีตัวช่วยเข้ามาเสริม อย่างเช่น ลองกำหนดดูว่าในแต่ละวันเราควรใช้เงินเท่าไร แล้วแบ่งใช้ตามนั้น

6. จดบันทึกรายรับ รายจ่าย

การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เป็นวิธีจัดระบบการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะจะทำให้เราเห็นตัวเลขรายได้และค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนในแต่ละเดือน แล้วจะรู้ทันทีว่าเราใช้เงินไปกับเรื่องไหนมากเกินไปหรือเปล่า ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่รายได้ลดลง และนี่จะกลายเป็นนิสัยทางการเงินที่ดีในอนาคตด้วยเมื่อรายได้กลับมาเหมือนเดิม

7. หยุดฝากอนาคตทางการเงินไว้กับการเสี่ยงโชค

ไม่ว่าจะลอตเตอรี่ หวยใต้ดิน หรือการเสี่ยงโชคใด ๆ ก็ตามที่คิดว่าเป็นเงินแค่เล็กน้อย แต่ในสถาการณ์ตอนนี้ทุกบาททุกสตางค์มีค่า 90 บาท 100 บาทก็เป็นเงินที่สามารถซื้ออาหารได้มื้อสองมื้อเลยทีเดียว หยุดคิดเรื่องการฝากอนาคตไว้กับดวง เพราะโอกาสที่เราจะดวงดีนั้นมีเปอร์เซ็นต่ำเอามากๆ  แทนที่จะเอาเงินไปทุ่มกับดวง แนะนำว่าให้เก็บเงินเหล่านั้นไว้ใช้จะดีกว่า

ในสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่เราคนเดียวที่แย่ ไม่ใช่เราคนเดียวที่รายได้ลดลง เมื่อจัดสรรการใช้จ่ายให้ลงตัวได้แล้ว ก็อย่าลืมแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นเงินออมหรือเงินลงทุน แนะนำว่าอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ เมื่อสถานการณ์ทางการเงินดีขึ้นก็สามารถเพิ่มเงินเก็บและเงินลงทุนให้สูงขึ้นได้ การออมหรือการทำให้เงินงอกเงยทำได้หลายรูปแบบทั้งเงินฝากประจำ การลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ แต่ถ้าต้องการผลประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีก็เลือกเป็นกองทุน SSF หรือ RMF หรือถ้าต้องการทั้งการออมเงินและความคุ้มครองไปพร้อมๆ กัน ก็สามารถลงทุนในประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่ง SCB มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกลงทุนอย่างหลากหลายตามเป้าหมายทางการเงินของคุณ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scb.co.th/th/personal-banking.html