ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เตรียมเงินยามเกษียณ ผ่านประกันชีวิตแบบบำนาญ
การทำประกันชีวิต แท้จริงแล้วไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวว่าควรเริ่มต้นทำตั้งแต่อายุเท่าไรจึงจะเหมาะสม บางคนอาจเริ่มต้นทำประกันชีวิตให้ลูกตั้งแต่เมื่อแรกเกิด หรือบางคนเริ่มทำประกันชีวิตในช่วงเริ่มต้นทำงาน บ้างก็ตัดสินใจทำประกันชีวิตเอาในช่วงวัยใกล้เกษียณ
ที่สุดแล้ว การทำประกันชีวิต ขึ้นอยู่กับ “ความพร้อมทางการเงิน” หรือความสามารถในการชำระเบี้ยประกันของแต่ละบุคคล ดังนั้นวัยที่ควรเริ่มต้นทำประกันชีวิต คือ “วัยที่พร้อม” ซึ่งความพร้อมอาจหมายถึงความพร้อมสำหรับตัวเอง หรือความพร้อมสำหรับทำประกันภัยให้คนที่รักก็ได้
หากพูดถึงแบบประกันชีวิตสำหรับวัยเกษียณ คงหนีไม่พ้นประกันชีวิตแบบบำนาญ เพราะมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าเป็นการคุ้มครองชีวิตและมีเงินสะสมไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต รูปแบบของกรมธรรม์จึงเป็นแบบประกันระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หรือแบบประกันที่มีรูปแบบการจ่ายผลตอบแทนหลังเกษียณ ซึ่งอาจจะจ่ายคืนเป็นเงินก้อนครั้งเดียวคล้ายกับเงินบำเหน็จ หรือทยอยคืนอย่างสม่ำเสมอเป็นงวด ๆ คล้ายกับเงินบำนาญ
เมื่อกล่าวถึงการทำประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อช่วยวางแผนเกษียณ หลายคนอาจรู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะทำหรือไม่ เพราะหากมองผลตอบแทนของประกัน แน่นอนว่าผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ หรือหากมองในด้านความคุ้มครองชีวิตก็ไม่สูงมากนัก ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการทุนประกันสูง ๆ เพื่อคุ้มครองภาระทางการเงิน อย่างไรก็ตามในข้อจำกัดยังมีสิ่งที่โดดเด่นของประกันชีวิตแบบบำนาญที่แตกต่างจากประกันชีวิตแบบอื่น ๆ คือ มีเงินคืนให้เป็นประจำหลังเกษียณหรือช่วงที่หยุดชำระเบี้ยแล้ว ทำให้ผู้ทำประกันมีรายได้เป็นรายปีต่อเนื่องหลังเกษียณ หรือมีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอแบบตอนทำงานอยู่ (ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย)
เรื่องควรรู้ก่อนทำประกันชีวิตแบบบำนาญ
1.ผู้เอาประกันจะได้รับเงินได้ประจำหรือเงินบำนาญตลอดชีพ หรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันเกษียณอายุ 2.เน้นการออมทรัพย์มากกว่าความคุ้มครอง 3.กู้ เวนคืน หรือปิดบัญชีได้เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสด 4.เหมาะกับผู้ที่ต้องการมีรายได้ภายหลังเกษียณอายุหรือผู้ที่ต้องการสร้างบำนาญไว้ใช้ยามชรา 5.อัตราเบี้ยประกันค่อนข้างสูง 6.ชำระเบี้ยประกันในอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา |
ที่มา : หลักสูตรวางแผนการเงิน : การวางแผนการประกันภัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
มูลค่าเงินสด หมายถึง เมื่อผู้เอาประกันภัยได้ส่งเบี้ยประกันภัยเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปตั้งแต่ 2 หรือ 3 ปี ขึ้นไป กรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับนั้นจะเกิดมูลค่าขึ้นมูลค่านี้เรียกว่า มูลค่าเงินสด ซึ่งถ้าผู้เอาประกันภัยบอกเลิกสัญญาก่อนสัญญาถึงกำหนด ผู้รับประกันภัยจะจ่ายมูลค่าเงินสดคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เงินที่จ่ายคืนนี้เรียกว่า มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต (ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย : คปภ.)
เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถทำนายได้ กรมธรรม์บำนาญถือเป็นหลักประกันทางการเงินหลังวัยเกษียณให้คุณได้ ซึ่งการซื้อกรมธรรม์บำนาญก็คล้ายกับการลงทุนคือ ยิ่งรู้จักช้า ก็ยิ่งสูญเสียโอกาสที่จะได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และไม่เกิน 15% ของเงินได้ โดยเมื่อนำไปรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ข้อสังเกต คือ กรณีไม่มีเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนแทนเบี้ยประกันชีวิตก่อนได้ ซี่งจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีรวมสูงสุด 300,000 บาท หากมีคู่สมรส และทั้งคู่เป็นผู้ชำระเบี้ยประกัน สามารถแยกกันยื่นภาษีในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนในส่วนของตนเองได้ สูงสุดคนละ 200,000 บาท
สำหรับขั้นตอนการตัดสินใจเลือกทำประกันชีวิตแบบบำนาญก็ไม่ต่างไปจากการเลือกซื้อประกันชีวิตแบบอื่น ๆ โดยมีวิธีเบื้องต้น ดังนี้
1.กำหนดวัตถุประสงค์ในการทำประกันชีวิต โดยระบุเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการจากการทำประกันชีวิต เช่น ต้องการมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี เดือนละ 20,000 บาท เป็นต้น
2.เลือกแบบประกันชีวิตที่เหมาะสม ควรเลือกกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองและเงื่อนไขในการจ่ายเงินและผลประโยชน์ตรงกับความต้องการของตัวเองให้มากที่สุด เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บออมไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ
3.คำนวณจำนวนเงินเอาประกันที่ต้องการ โดยควรเลือกจำนวนเงินเอาประกันให้เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันด้วย
4.เลือกบริษัทประกัน ควรเปรียบเทียบกรมธรรม์จากหลาย ๆ บริษัท เพื่อใช้เป็นข้อมูลเลือกซื้อกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน
5.สมัครทำประกัน ควรติดต่อบริษัทประกันโดยตรง หรือกรณีตัวแทนประกันต้องขอดูใบอนุญาตการเป็นตัวแทนประกัน กรอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน จ่ายเบี้ยประกันตามกำหนด เมื่อได้รับกรมธรรม์พร้อมใบเสร็จให้ตรวจสอบรายละเอียด แจ้งให้ผู้รับผลประโยชน์ทราบโดยละเอียด
ตัวอย่าง การคำนวณเงินคืนที่ได้รับตอนเกษียณ
ปัจจุบันอายุ 40 ปี ต้องการทำประกันชีวิตแบบบำนาญที่ทุนเอาประกัน 100,000 บาท ระยะเวลาชำระเบี้ยประกัน 20 ปี ระยะเวลาเอาประกันถึงอายุครบ 90 ปี ซึ่งมีเงื่อนไขการจ่ายเงินผลประโยชน์ในอัตรา 24% ของทุนประกัน
ภายใต้กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีทุนประกัน 100,000 จะต้องจ่ายเบี้ยประกันทุกปี เป็นระยะเวลา 20 ปี ปีละ 150,000 บาท (สมมติให้อัตราเบี้ยประกัน 150 บาทต่อจำนวนเงินเอาประกัน 1,000 บาท) หมายความว่าตั้งแต่อายุ 40 - 59 ปี คิดเป็นเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายรวมทั้งสิ้น 3,000,000 บาทตลอดอายุสัญญา
หลังจากนั้นจะได้รับเงินบำนาญทุกปี ปีละ 24,000 บาท ตั้งแต่อายุ 60 ปียาวไปจนถึงอายุ 90 ปีตามที่ได้วางแผนไว้ หรือคิดรวมเป็นเงินผลประโยชน์ที่ได้รับถึง 720,000 บาท
จะเห็นได้ว่าประกันชีวิตแบบบำนาญก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ แม้ว่าอัตราเบี้ยประกันจะค่อนข้างสูง แต่ก็เหมือนเป็นการบังคับตัวเองในการเก็บเงินเพื่อช่วยให้มั่นใจได้ว่าในวัยเกษียณจะมีเงินใช้ในบั้นปลายของชีวิตอย่างแน่นอน