5 เหตุผลที่แผนเก็บเงินเกษียณล้มเหลว

“คุณมั่นใจหรือไม่ว่าหลังเกษียณจะมีเงินใช้อย่างพอเพียง” หากตอบว่ามั่นใจ แสดงว่าคุณอาจมีแผนการเงินเพื่อเกษียณเป็นขั้นตอน แต่ถ้าตอบว่าไม่มีความมั่นใจ เป็นไปได้ว่าคุณยังไม่ลงมือวางแผนการเก็บเงิน หรืออาจไม่รู้ตัวว่าต้องลงมือเก็บเงินแล้ว


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะวางแผนเก็บเงินเพื่อเกษียณอย่างสม่ำเสมอ แต่กลับประสบความล้มเหลว เช่น เงินลงทุนไม่งอกเงยหรืองอกเงยช้า ช่วงไหนที่ค่าใช้จ่ายเยอะก็ตัดสินใจถอนเงินลงทุนสำหรับเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณออกมา หรือเกิดอาการท้อแท้ก็ล้มเลิกกลางคัน มาดูว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้แผนเก็บเงินเพื่อเกษียณล้มเหลว มีอะไรบ้าง

1.ออกจากงานเร็วเกินไป

ไม่มีใครไม่ต้องการเกษียณอายุก่อนกำหนด เพราะจะได้ใช้ชีวิตที่ตัวเองวาดฝันเอาไว้ แต่แนวคิดเกษียณเร็วเกินไปอาจไม่เหมาะสมกับผู้ที่ไม่ได้วางแผนการเงินเพื่อเกษียณ เช่น ตัดสินใจเกษียณอายุตอน 45 ปี ขณะที่มีรายได้ต่อเดือน (หลังหักภาษี หักค่าใช้จ่ายที่จำเป็น) 50,000 บาท เท่ากับว่าเงินจะหายไป 600,000 บาทต่อปี หรือ 9,000,000 บาท ในระยะเวลา 15 ปี


อีกทั้ง การเกษียณเร็วจะทำให้สูญเสียสวัสดิการที่ได้รับจากบริษัทที่ทำงาน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิการรักษาพยาบาล ดังนั้น หากตั้งใจเกษียณเร็วก็ต้องวางแผนการเงิน ประกันชีวิต ประกันสุขภาพให้เรียบร้อยแต่เนิ่นๆ


2.ไม่วางแผนหลังเกษียณ

มีหลายคนออกแบบชีวิตตัวเองหลังเกษียณอย่างสวยหรู แต่กลับลืมวางแผนว่าจะเกษียณอายุเมื่ออายุเท่าไหร่ ที่สำคัญต้องเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายเท่าไหร่ ดังนั้น ก่อนเกษียณต้องตอบคำถามให้ได้ว่าควรมีเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้สบายๆ ไปตลอดชีวิต ซึ่งจริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยซึ่งต่างกันไปในแต่ละคน ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณจะอยู่ที่ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ เช่น ก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่าย 30,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะประมาณ 21,000 บาทต่อเดือน (252,000 บาทต่อปี)


จากนั้นก็นำค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ (ประมาณ 21,000 บาทต่อเดือน) ไปคูณกับจำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังวัยเกษียณ เช่น คาดว่าจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังวัยเกษียณ 25 ปี (เสียชีวิตตอนอายุ 85 ปี) หมายความว่าควรมีเงินเก็บก่อนวันเกษียณประมาณ 6,300,000 บาท (252,000 คูณ 25)

3.จัดพอร์ตลงทุนผิดพลาด

มีหลายคนที่ทุกเดือนได้แบ่งเงินไปลงทุนในแผนการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ แต่ไม่ประสบความความสำเร็จ สาเหตุสำคัญ คือ ไม่ได้วางแผนการลงทุน โดยเฉพาะการไม่ลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และลงทุนในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จักหรือไม่มีความเข้าใจ


เช่น ผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย แต่เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่สินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น ขณะที่ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง แต่เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย เช่น เงินฝากธนาคาร กองทุนตลาดเงิน เช่นเดียวกับ ผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุน เช่น ผู้ที่ทำงานประจำ แต่เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่รูปแบบหุ้น ซึ่งเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่ต้องอาศัยการติดตามข้อมูลเป็นประจำ เป็นต้น


4.สถานการณ์เปลี่ยน แต่ไม่ปรับพอร์ตลงทุน

อย่ามองว่าหลังจากวางแผนการเงินเพื่อเกษียณเรียบร้อยแล้ว จากนั้นปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ก็จะสามารถถึงเป้าหมายทางการเงินได้ เพราะการปล่อยให้เงินทำงานไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่เคยทบทวนพอร์ตการลงทุนเลยอาจไม่ใช่การจัดการเงินที่ดีนัก โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ ผลตอบแทนจากการลงทุน ภาระค่าใช้จ่าย หรือปัญหาเรื่องสุขภาพ อาจทำให้แผนการลงทุนผิดพลาดและไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด


ดังนั้น การทบทวนแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ จึงมีความสำคัญและควรทำอย่างน้อยๆ ปีละครั้ง โดยประเมินผลการลงทุนของตัวเองและผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ลงทุนเอาไว้ว่าเป็นอย่างไร หากลงทุนมาสักระยะแล้วผลตอบแทนไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายหรือขาดทุน ก็ควรปรับสัดส่วนการลงทุน (Portfolio Rebalancing) ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

5.ไม่วางแผนเรื่องการก่อหนี้

ผู้ที่กำลังถึงวัยเกษียณหลายคนอาจมีภาระหนี้ติดตัวเพราะไม่มีแผนจัดการหนี้ที่ดี และถึงแม้จะมีเงินเก็บจำนวนหนึ่งแต่เมื่อไหร่ที่ต้องแบ่งมาจ่ายหนี้ อาจทำให้มีเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายหลังวัยเกษียณ โดยหนี้ที่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อคนวัยเกษียณ ได้แก่ หนี้ระยะยาวที่มีอายุชำระเกิน 1 ปี เช่น หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ รวมถึงหนี้นอกระบบ ดังนั้น ควรปลดหนี้ดังกล่าวให้หมดก่อนถึงวันเกษียณ


อย่างไรก็ตาม หากมีการวางแผนก่อหนี้ที่ดี จะทำให้สามารถปลดหนี้ได้ก่อนวันเกษียณ เช่น หากกู้ซื้อบ้านตั้งแต่อายุ 30 ปี ก็จะจบการผ่อนก่อนอายุ 60 ปี หรือหากในระหว่างทางได้ทำการโปะหนี้หรือรีไฟแนนซ์ ก็จะสามารถผ่อนบ้านได้หมดเร็วขึ้น


ในโลกความเป็นจริงแล้วการเกษียณไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากถ้าผู้ที่พร้อมเกษียณมีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะแผนด้านการเงิน เช่น เริ่มต้นด้วยการประเมินตัวเองในเรื่องอายุเกษียณ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงวางแผนการลงทุนอย่างมีวินัย หากทำได้จะช่วยให้ประสบความสำเร็จอย่างราบรื่นในที่สุด