Living Will เมื่อเราออกแบบวาระสุดท้ายของชีวิตได้

เมื่อความตายเป็นเรื่องที่ทุกคนหลีกหนีไม่พ้นและไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้นการวางแผนเพื่อส่งต่อทรัพย์มรดกให้แก่คนที่เรารักเมื่อยามที่เราจากไปผ่านการทำพินัยกรรม* จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามและควรที่จะจัดทำให้เรียบร้อย ทั้งนี้เรื่องที่อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงบ่อยนัก คือเมื่อถึงวาระสุดท้ายแล้วเราอยากได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างไร ซึ่งตัวเราเองนั้นสามารถวางแผนดูแลชีวิตของตนเองก่อนที่เราจะจากไปได้ผ่านการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข (Living Will) 

Living Will นั้นจะอยู่ภายใต้มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้....” จะเห็นได้ว่าการทำ Living Will นั้นเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ทำสามารถเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์ได้ แต่จะไม่ได้รวมถึงการอนุญาตให้ผู้อื่นช่วยเหลือตนในการฆ่าตนเองหรือที่เราเรียกกันว่าการุณยฆาตซึ่งปัจจุบันกฎหมายในประเทศไทยจะไม่ได้รองรับในเรื่องของการุณยฆาต รวมทั้งในเรื่องของการปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะงดเว้นไม่ให้การรักษาแต่อย่างใด แต่แพทย์จะยังคงต้องรักษาแบบประคับประคอง บรรเทาความเจ็บปวดเพื่อให้ผู้ทำ Living Will ได้จากไปตามธรรมชาติ ตามที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดปี 2558 ได้วางหลักเอาไว้ว่า “กฎกระทรวงฯ มิได้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และองค์ประกอบอันมีความหมายในการปล่อยให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาเสียชีวิตลงโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา หรือการใช้ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต แต่เป็นการรักษาอย่างประคับประคองเพื่อให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวตายอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อมิให้ยื้อความตายอย่างสิ้นหวัง หรือทำให้ผู้นั้นต้องทรมานจากการเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลา



ข้อดีของการทำ Living Will เช่น

  • เพื่อที่ตนเองจะได้จากไปอย่างสงบตามที่ตนเองต้องการโดยไม่ต้องถูกเหนี่ยวรั้งหรือทุกข์ทรมานจากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อยืดการตายออกไปเกินกว่าความจำเป็น โดยผู้ทำ Living Will สามารถกำหนดได้ว่าจะไม่รับการรักษาอย่างไรบ้างเมื่ออยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเมื่อได้รับทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บหรือจากโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ เช่น ปฏิเสธที่จะใช้เครื่องช่วยหายใจ ปฏิเสธการเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ ปฏิเสธการฟอกไตเมื่อไตวาย ปฏิเสธกระบวนการฟื้นชีพเมื่อหัวใจหยุดเต้น
  • ผู้ทำ Living Will สามารถระบุความต้องการในด้านการเยียวยาทางด้านจิตใจตามความเชื่อของตนก่อนที่ตนจะจากไปอย่างสงบ เช่น การสวดมนต์ การเทศนาของนักบวช
  • ผู้ทำ Living Will สามารถระบุความต้องการของตนที่จะเสียชีวิต ณ สถานที่ใด
  • เพื่อให้ญาติหรือบุคคลที่ตนรักได้ปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ทำ Living Will ซึ่งก็จะช่วยให้บุคคลเหล่านั้นไม่ต้องเป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์สำหรับผู้ทำ Living Will เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเมื่อได้รับทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บหรือจากโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ของผู้ทำ Living Will

สำหรับท่านที่มีความสนใจในการทำ Living Will ไว้ล่วงหน้า ท่านอาจจะเขียนหรือพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งหนังสือนั้นจะต้องลงลายมือชื่อของท่าน พยาน และผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ด้วย หนังสือนั้นจะต้องระบุความต้องการของท่าน โดยมีข้อมูลเป็นแนวทางในการทำดังนี้

  • วัน/เดือน/ปีที่ทำหนังสือ
  • การรักษาทางการแพทย์ใดบ้างที่ท่านไม่ต้องการจะได้รับ
  • ชื่อ นามสกุล อายุ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ของท่าน รวมทั้งชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของพยานและความเกี่ยวข้องกับท่าน
  • หากท่านให้ผู้อื่นพิมพ์หรือเขียน จะต้องระบุ ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ด้วย
  • หรือท่านอาจใช้แบบฟอร์มที่อยู่ใน website ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อทำ Living Will ได้ที่  บริการแบบฟอร์ม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (nationalhealth.or.th)

การทำ Living Will นอกจากมีประโยชน์ในด้านการระบุความต้องการสุดท้ายของรักษา ยังเป็นคู่มือในการทบทวนชีวิตรวมทั้งใช้เพื่อระบุคำสั่งเสียของตนให้แก่คนรุ่นหลังได้อีกด้วย เพื่อให้คุณได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย และจากไปอย่างมีความสุข >

*ท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ  “พินัยกรรม เรื่องสำคัญห้ามมองข้ามในยุคที่ชีวิตไม่แน่นอน”

บทความโดย : ณัชภัค อนันต์อาชญาสิทธิ์ ที่ปรึกษา SCB Wealth Planning and Family Office 

ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน