ทำความรู้จักกับสำนักงานธุรกิจครอบครัว FAMILY OFFICE

หนึ่งในพื้นฐานที่เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งของธุรกิจครอบครัว เพื่อ การจัดการทรัพย์สิน สร้างและ รักษาความมั่งคั่ง รวมถึงส่งต่อความมั่งคั่งนั้นจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน ก็คือสำนักงานธุรกิจครอบครัวหรือที่บางท่านอาจคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “Family Office” สำนักงานธุรกิจครอบครัวมีไว้เพื่อดูแลช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวและธุรกิจครอบครัวในหลากหลายมิติ ทั้งในการวางรากฐานทางความคิด การหล่อหลอมวัฒนธรรมของครอบครัว การวางกลยุทธ์ของครอบครัว แนะนำแนวทางการบริหารจัดการ การลงทุน การระงับข้อพิพาท การดูแลระหว่างสมาชิกในครอบครัวโดยมีสภาครอบครัวเป็นฟันเฟืองอยู่ภายใต้ธรรมนูญครอบครัว รวมถึงการให้คำแนะนำในด้านต่างๆ เช่น ด้านกฎหมาย ด้านภาษี ด้านการลุงทุน ด้านการบริจาคและการกุศลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของสมาชิกในครอบครัว ทรัพย์สินของครอบครัว (กงสี) และธุรกิจครอบครัว สำนักงานธุรกิจครอบครัวจึงเป็นรากฐานและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการบริหาร จัดการ ดูแลสมาชิกในครอบครัวเพื่อให้เกิดความกลมเกลียว รวมไปถึงการดูแลให้คำแนะนำด้านการลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจครอบครัว


โดยสำนักงานธุรกิจครอบครัว Family Office ได้แบ่งบทบาทและเรื่องที่สำคัญในการบริหารจัดการและสนับสนุนสมาชิกในครอบครัว ธุรกิจครอบครัว (ธุรกิจกงสี) หลักๆ ไว้ดังนี้

  1. ธรรมนูญครอบครัว (Family Governance)
    หนึ่งในความสำคัญอย่างยิ่งของธรรมนูญครอบครัว คือการสกัดดีเอ็นเอ (DNA) ของตระกูล การวางรากฐานทางความคิด การหล่อหลอมวัฒนธรรมภายในสมาชิกครอบครัว และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในครอบครัว
  2. การวางแผนความมั่งคั่งและกลยุทธ์ครอบครัว (Family Wealth Planning & Strategy) 
    การจัดทำบัญชีทรัพย์สิน (List of Assets) และเอกสารทั้งในรูปแบบเอกสารสําเนา (Hard Copy Document) และ รูปแบบเอกสารดิจิทัล (Digital Documents) การวางแผนในการบริหารจัดการและการส่งต่อแบบเชิงลึก รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจครอบครัว การขยายกิจการทั้งในธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ การควบรวมกิจการ การออกจากธุรกิจ การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO : Initial Public Offering) การจัดตั้งโฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company) ในหลากหลายรูปแบบ
  3. การลงทุนของครอบครัว (Family Investment) 
    การบริหารความมั่งคั่งผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ (Property Backed Loan) หรือหลักทรัพย์ (Lombard Loan) ของท่านให้เป็นเงินลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
  4. แผนการส่งต่อธุรกิจครอบครัว (Family Succession Planning) 
    การหล่อหลอม การประเมิน และการจัดการทายาทที่เป็นสมาชิกในครอบครัวที่จะเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวด้วยแนวทางและขั้นตอนกระบวนการที่ชัดเจน
  5. การปฏิบัติตามกฎ ระเบียบครอบครัว (Family Compliance) 
    ทั้งเรื่องกฎหมาย ภาษี บัญชีและการเงิน และความเสี่ยง
  6. สิ่งแวดล้อมและสังคมกับครอบครัว (Family Environment and Social) 
    ปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล ESG (Environment, Social, และ Governance) เป็นเรื่องที่สำคัญที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนและวางเป้าหมายเพื่อให้สำเร็จ รวมถึงการให้ความรู้และการหล่อหลอมทายาท และสมาชิกในครอบครัวทุกรุ่น
  7. การบริจาคและการกุศลครอบครัว (Family Donations and Philanthropic) 
    นอกจากการวางแผนสำหรับครอบครัวแล้ว หลายๆ ครอบครัวได้คำนึงถึงการช่วยเหลือสังคมแบบยั่งยืน ทั้งการบริจาคและการกุศลทั้งในรูปสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ผ่านช่องทางมูลนิธิที่ทางครอบครัวได้จัดตั้งขึ้น
  8. การระงับข้อพิพาทในครอบครัว (Family Dispute Resolution)
    • การประนีประนอม (Conciliation)
    • การไกล่เกลี่ย (Mediation)
    • อนุญาโตตุลาการ (Arbitration)

การบริหารจัดการ ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนต้องใช้ทักษะของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น การดูแลให้คำแนะนำในด้านการวางแผนทรัพย์สินเพื่อการส่งต่อของธุรกิจครอบครัวและมรดก การดูแลให้คำแนะนำด้านการลงทุนเพื่อบริหารความมั่งคั่งผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หากสมาชิกครอบครัวไม่ได้จัดตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัวและไม่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมาคอยดูแลซึ่งทางสมาชิกครอบครัวท่านที่เป็นลูกค้า SCB PRIVATE BANKING สามารถพิจารณาเลือกใช้บริการสำนักงานธุรกิจครอบครัว Family Office นี้ได้จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผ่านหน่วยงาน Wealth Planning and Family Office ผู้ช่วยคนสำคัญที่ดูแลให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในเรื่องที่เกี่ยวกับการวางแผนทรัพย์สินเพื่อการส่งต่อของธุรกิจครอบครัวและมรดก เช่น การให้คำแนะนำเรื่องธรรมนูญครอบครัว คณะกรรมการสภาครอบครัว สัญญาก่อนสมรสพินัยกรรม พินัยกรรมชีวิต โครงสร้างการลงทุน เป็นต้น ในเรื่องนี้ผมก็อยากเน้นย้ำเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการส่งต่อธุรกิจครอบครัวไปยังรุ่นถัดไปอย่างยั่งยืนก็คือธรรมนูญครอบครัว ธรรมนูญครอบครัวเปรียบได้กับกฎของบ้านที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม/เจตนารมณ์ของครอบครัวของตน ทำให้สมาชิกในครอบครัวทราบถึงบทบาทหน้าที่ของตน สิ่งที่ควรหรือไม่ควรปฏิบัติ วิธีในการจัดการเรื่องภายในครอบครัวหรือธุรกิจครอบครัวเมื่อเกิดปัญหาหรือความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว การศึกษาของบุตรหลาน ฯลฯ ซึ่งในครั้งต่อ ๆ ไป ผมจะมีลงรายละเอียดของสำนักงานธุรกิจครอบครัว Family Office ในแต่ละเรื่อง โดยจะเริ่มจากธรรมนูญครอบครัว (Family Governance) เป็นลำดับแรก ท่านสามารถติดตามได้ในบทความถัดไป แล้วพบกันครับ


บทความโดย : ดร.นิติ เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office

ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่อีเมล familyofficeteam@scb.co.th หรือที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน