ธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution) เป็นเรื่องหนึ่งที่หลายๆ ครอบครัวเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น เพื่อวางแผนในการส่งต่อทรัพย์สินและธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีธุรกิจครอบครัว (กงสี) ครอบครัวที่มีทรัพย์สินมากและมีความมั่งคั่งสูง สมาชิกในครอบครัวจะเริ่มพิจารณาทำการวางแผน การจัดสรร การส่งต่อทรัพย์สิน การดูแลสวัสดิการ การออมและการลงทุน การส่งต่อหุ้นบริษัทและการบริหารธุรกิจของครอบครัว โดยมีความมุ่งหวังและได้ให้ความสำคัญที่จะบรรลุความตกลงกันในรูปแบบเอกสารที่เรียกว่า “ธรรมนูญครอบครัว” หากแต่การบรรลุข้อตกลงระหว่างสมาชิกในครอบครัวกันนั้นเป็นเพียงปลายทางของความสำเร็จในการบรรลุการจัดสรร การส่งต่อทรัพย์สินและธุรกิจครอบครัวขณะลงนามเท่านั้น ในทางกลับกันการบรรลุข้อตกลงธรรมนูญครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่สมาชิกในครอบครัวจะต้องเคารพและยึดมั่นเพื่อส่งต่อจิตวิญญาณ แนวคิด และแนวทางปฏิบัติ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และข้อตกลงในธรรมนูญครอบครัว


จะเห็นได้ว่าความสำคัญที่เหนือกว่าการลงนามในเอกสารนั้น คือกระบวนการการจัดทำธรรมนูญครอบครัวนั่นเอง กล่าวคือ มิติของการมีส่วนร่วมของสมาชิกในครอบครัวทุกท่านในแต่ละช่วงเวลาของการจัดทำธรรมนูญครอบครัวที่เหมาะสม มิติขั้นตอนกระบวนการ (Journey) การพูดคุยหารือรับฟังความคิดความเห็นต่างๆ จากสมาชิกในครอบครัวทั้งรุ่นผู้ก่อตั้ง รุ่นผู้ส่งต่อ รุ่นผู้รับ และทายาทรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต เพื่อให้เกิดการยอมรับ (ด้วยใจ) ถึงแก่นแท้ เกิดความผูกผันกันและเข้าใจกัน (อย่างแท้จริง) ในเชิงการจัดการทรัพย์สิน และการบริหารธุรกิจครอบครัว ทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างทายาทในทุกระดับชั้น และได้เปิดโอกาสในการสร้างกระบวนการ การรวบรวมและบันทึกข้อมูลทั้งที่เกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัว ทรัพย์สิน การลงทุนและธุรกิจครอบครัว ในหลากหลายมิติที่จะช่วยปกป้องเรื่องต่างๆ ที่อาจมีการสงสัยและอาจนำไปสู่การโต้แย้งในอนาคต

เครื่องมือที่ทรงพลังและมีความสำคัญต่อกระบวนการการจัดทำธรรมนูญครอบครัว คือ “การฟังเชิงลึก” หรือที่เรียกว่า “Active Listening” เนื่องจากในกระบวนการจะประกอบด้วยสมาชิกในครอบครัวที่มีความหลากหลายทั้งในวัยที่ต่างกัน ความคิด ความเชื่อ การศึกษา ความถนัด ความชอบ ความต้องการ รวมถึงเงื่อนไขและแนวทางการใช้ชีวิตส่วนตัวของสมาชิกแต่ละท่าน โดยจะมีผลต่อการวางแนวทางและตัดสินใจในการบริหารจัดการและการลงทุนทรัพย์สิน ความต้องการในการสนับสนุนในการจัดสรรผลประโยชน์ และการดูแลในส่วนของสวัสดิการ รวมไปถึงความต้องการและไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการบริหารธุรกิจครอบครัว ทั้งในรูปแบบบริษัทประกอบกิจการ (Operating Company) และ บริษัทโฮลดิ้งครอบครัวหรือบริษัทโฮลดิ้งเพื่อลงทุน (Family or Investment Holding Company)


การจัดทำธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นการทำให้สมาชิกในครอบครัวจะต้องใช้เวลาร่วมกันในการกลั่นกรองให้ตกผลึก สกัดออกมาว่าดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นแนวคิดของครอบครัวเราเป็นอย่างไรในทุกๆ มิติ ในรายละเอียดของธรรมนูญครอบครัวอาจจะประกอบไปด้วยเรื่องที่สำคัญบางส่วนดังต่อไปนี้

  • หลักการพื้นฐานของครอบครัว ทั้งทางความคิด วัฒนธรรม ค่านิยม หลักคุณธรรม จริยธรรม ความเชื่อที่ครอบครัวยึดถือสำหรับปฏิบัติระหว่างสมาชิกครอบครัว และ ต่อสังคม
  • การหล่อหลอมและแนะแนวทางการปฏิบัติในครอบครัวตามหลัก ESG (Environment, Social, และ Governance) ให้กับสมาชิกในครอบครัว
  • การกำหนดคำนิยาม บทบาท สิทธิและหน้าที่ ภาระผูกผัน การมีส่วนร่วมของการเป็นสมาชิกในครอบครัวทั้งสายตรงและสายรอง รวมถึงทายาทที่เข้าทำงานและไม่ได้เข้าทำงานในธุรกิจครอบครัว
  • การสร้างวินัยการออมและการลงทุนที่เป็นระบบอย่างต่อเนื่อง
  • การจัดตั้งและขับเคลื่อนกลไกสภาครอบครัว เช่น การรับรองสิทธิ การเพิ่มลดสวัสดิการ เป็นต้น
  • การจัดตั้งและขับเคลื่อนกลไกคณะกรรมการธุรกิจครอบครัว เช่น การสร้าง New S Curve, M&A หรือ IPO เป็นต้น
  • การกำหนดกิจกรรมประจำของครอบครัว
  • การกำหนดนโยบายและแผนการส่งต่อทรัพย์สิน และสืบทอดตำแหน่งสำคัญๆ ของธุรกิจครอบครัว
  • การกำหนดหน้าที่สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งข้อกำหนดว่าห้ามสมาชิกในครอบครัวทำเรื่องใดบ้าง เช่น ห้ามค้าแข่งกับธุรกิจครอบครัว ห้ามประกอบธุรกิจหรือลงทุนที่ผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • การกำหนดการดูแลสมาชิกในครอบครัวในเรื่องสวัสดิการ เช่น ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน ค่าเรียนหลักสูตรพิเศษ ค่ารักษาพยาบาล ค่าประกันชีวิต ค่าจัดงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส ค่าใช้จ่ายสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บ้าน รถยนต์ เป็นต้น
  • กลไกการขจัดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยคนกลางผ่านกระบวนการประนีประนอม หรือ การระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ

ธรรมนูญครอบครัวเป็นผลของกระบวนการการมีส่วนร่วมของสมาชิกในครอบครัวทุกท่าน แต่ระหว่างทางที่มีการรับฟังแบบเชิงลึกจะเป็นการนำความคิดและข้อสรุปผ่านมาจากกลไกสภาครอบครัวและคณะกรรมการธุรกิจครอบครัว เพื่อวางรากฐานจนกลายเป็นเสาหลักที่เข้มแข็งของครอบครัวในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในการใช้ชีวิตระหว่างสมาชิกในครอบครัวและต่อสังคม แนวนโยบายและการวางเป้าหมายในการบริหารทรัพย์สินของครอบครัว (กงสี) ในการลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งในสินทรัพย์และการลงทุนในธุรกิจ และการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นจะเกิดความยั่งยืน เมื่อนั้นจะได้รับการยอมรับและการเคารพธรรมนูญครอบครัวที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงในทุกมิติจากสมาชิกในครอบครัว สุดท้ายนี้สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือเวลากับความสามัคคีในครอบครัว ในครั้งหน้าผมจะได้อธิบายกระบวนการการจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Planning) ผ่านทางการจัดทำบัญชีทรัพย์สิน (List of Assets) ที่จะเชื่อมโยงไปยังอีกหลายๆ เรื่องในการบริหารจัดการภายใต้สำนักงานครอบครัว ท่านสามารถติดตามได้ในบทความถัดไปครับ

บทความโดย : ดร.นิติ เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office

ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่อีเมล familyofficeteam@scb.co.th หรือที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน