Smart City คืออะไร? ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

องค์การสหประชาชาติ (United Nation) ได้ประมาณการว่า ภายในปีค.ศ. 2050 จะมีจำนวนประชากรบนโลกเพิ่มขึ้นอีก 2 พันล้านคน ส่งผลให้เมืองขนาดใหญ่แบบมหานคร Mega Urban City มีจำนวนมากขึ้นในอีก 15 ปีข้างหน้า และจากสถิติเฉลี่ยในปัจจุบัน มีผู้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ราว 55% ในขณะที่ 45% อาศัยอยู่นอกเขตเมืองโดยในอีก 30 ปีข้างหน้า คาดว่าสัดส่วนผู้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่จะเพิ่มเป็น 68% สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีอัตราการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่อยู่ที่ประมาณ 50% (Research by Siemens)

นอกเหนือจากเมืองขนาดใหญ่แบบมหานคร Mega Urban City ที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือ โรคระบาดร้ายแรงต่าง ๆ (Pandemic) ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้การพัฒนาเมืองใหญ่ และการเตรียมการในด้านต่าง ๆ เพื่อรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวกลายเป็นภารกิจสำคัญ อาทิ การบริหารสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและที่พักอาศัย การบริการทางสังคม บริการด้านสาธารณสุข หรือแม้แต่การศึกษา ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีเดิม ๆ ที่มีอยู่ ในขณะที่เทรนด์การเติบโตของมหานคร (Urbanization) และดิจิทัลไลเซชั่น (Digitalization) ได้พัฒนามาจนเกิดเป็นมิติใหม่สำหรับคนเมือง ดังนั้น “เมืองอัจฉริยะ” จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่จะเข้ามาช่วยบริหารเรื่องใหม่ๆ เหล่านี้การเพิ่มขึ้นของมหานครดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งที่มาของการสร้างเมืองอัจฉริยะ

เมืองอัจฉริยะเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข  อย่างยั่งยืน  เมืองอัจฉริยะแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทได้แก่

china-city-tier-01

สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) หมายถึง เมืองที่คำนึงถึง ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็น ระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การบริหาร จัดการของเสีย และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ตลอดจนเพิ่ม การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) หมายถึง เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการ ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น

พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) หมายถึง เมืองที่สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสมดุล ระหว่างการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก

การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) หมายถึง เมืองที่พัฒนาระบบบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้น ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ

การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) หมายถึง เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต

การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
หมายถึง เมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) หมายถึง เมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ซึ่งการสร้างเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น จำเป็นจะต้องมีเทคโนโลยีสำคัญ 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

1. สมาร์ทกริด (Smart Grid) หรือโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่นำเทคโนโลยีหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบเซนเซอร์และการควบคุมอัตโนมัติเพื่อให้ระบบไฟฟ้ากำลังสามารถรับรู้ข้อมูลสถานะต่าง ๆ ในระบบได้แบบ Real Time รวมถึงระบบสารสนเทศ ระบบเก็บข้อมูล และระบบการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้โครงข่ายไฟฟ้าสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น มีความสามารถมากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ มีความยั่งยืนปลอดภัยและที่สำคัญคือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะจะต้องครอบคลุมระบบไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งรวมถึงตั้งแต่ระบบการผลิต ระบบส่ง ระบบจำหน่าย จนถึงระบบของผู้ใช้ไฟฟ้า

2. อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) ภายในปีค.ศ. 2050 ประชากรโลกกว่า 70% จะพำนักอาศัยอยู่ภายในอาคาร และจะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหมายความว่า ความคาดหวังของผู้อยู่อาศัยจะสูงขึ้นตามไปด้วย อาคารต้องเป็นมากกว่าโครงสร้างผนังและหลังคา สามารถมอบความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้มากขึ้น ดังนั้น อาคารจะต้องมีระบบอัจฉริยะที่ทำให้อาคารสามารถตอบสนองต่อความต้องการผู้อยู่อาศัยได้ สามารถเรียนรู้ และ ปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3. ระบบไอซีทีอัจฉริยะ (Smart ICT : Smart Information and Communication Technology) ปีนี้อุปกรณ์มากกว่า 5 หมื่นล้านชิ้นจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ และ 1 ใน 5 ของอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกใช้อยู่ภายในอาคาร นั่นหมายความว่า ข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลจะถูกสร้างขึ้น หัวใจสำคัญคือเราจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้และวิเคราะห์ได้อย่างไร จึงจะทำให้เมืองมีความยืดหยุ่นในการบริหาร ในขณะเดียวกัน ยังสามารถตอบสนองความต้องการในระดับชุมชนและระดับบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เมืองอัจฉริยะจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทั้ง 3ส่วนนี้ทำงานผสานกัน

ตัวอย่างของเมืองอัจฉริยะ

Amsterdam

อัมสเตอร์ดัม ได้ร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง Phillips, Cisco, IBM, และบริษัทเล็กๆอีกจำนวนมาก มุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเมืองสีเขียว go green..เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริษัทเหล่านี้ช่วยกันพัฒนา คิดค้นเพื่อให้อัมสเตอร์ดัม เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยี สำหรับ smart city อัมเสตอร์ดัมกำลังกลายเป็นเมืองต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆในยุโรปขณะนี้ บางโครงการที่เมืองได้ทำไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน ทำให้อัมสเตอร์ดัมในเวลานี้เป็นเมืองที่เขียวมากๆ ถ้าได้เดินไปบนถนน ‘Climate Street’ คุณก็จะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีเหล่านี้ ว่ามันได้เริ่มใช้งานแล้ว ขยะถูกเก็บโดยรถขยะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ไม่สร้างมลพิษ ป้ายรถประจำทาง บิลบอร์ด แสงไฟล้วนได้รับพลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ บ้านหลายพันหลัง ติดหลังคาที่ช่วยประหยัดพลังงาน แนวคิดนี้ได้แพร่กระจายจาก ‘Climate Street’ ออกไปยังส่วนต่างๆของเมืองอย่างรวดเร็ว มีจุดจ่ายกระแสไฟให้กับรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ได้ recharge แบตเตอร์รี่ของรถ แทนการเติมน้ำมันดี

Xinjiang

เมืองผลิตน้ำมัน ในดินแดนที่ห่างไกลทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีการเปลี่ยนแปลงและนำเอาเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้กับเมืองอย่างรวดเร็ว  สิ่งที่โดดเด่นของเมืองก็คือ แนวคิดที่จะใช้ IT ( information-technology)มาเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตในแง่มุมต่างๆของชาวเมือง การเป็นเมืองอัจฉริยะของจีนไม่ได้เน้นเรื่องสิ่งปลูกสร้างเท่ากับการเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี  ทุกๆสถานีรถประจำทางจะมีการติดตั้งจออิเล็กทรอนิกซ์ ที่จะแสดงให้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับการมาของรถประจำทาง อุปกรณ์มือถือสามารถเชื่อมโยงกับระบบของรถประจำทาง สามารถตรวจสอบเวลาที่แน่นอนที่รถจะมาถึง ผ่าน mobile apps ซึ่งช่วยในเรื่องปัญหาการจราจรได้อย่างมาก  มีกล้องติดตั้งอยู่ทั่วเมือง  และมีเว็บไซต์ที่จะแสดงการจราจร  ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้เห็นการจราจรแบบ real time และชาวเมืองสามารถหลีกเลี่ยงการจราจรที่หนาแน่นได้ บ้านแต่ละหลัง ติดตั้ง panic buttons ซึ่งเป็นปุ่มขอความช่วยเหลือแบบฉุกเฉิน เมื่อผู้สูงอายุกดปุ่มนี้ ก็จะได้รับการช่วยเหลือในทันที  มีระบบที่จะทำให้รัฐบาลกลางรู้ได้ในทันทีถึงจำนวนคนว่างงานของเมือง แบบ real -time อีกเช่นกัน เพื่อการบริหารและจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

Copenhagen

โคเปนเฮเกน เป็นอีก เมืองที่มีความเป็นอัจฉริยะมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โคเปนเฮเกนมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลงให้เป็น 0 ในปี 2025 ซึ่งจะเป็นการเร่งให้เกิดการปฏิวัติเทคโนโลยีต่างๆเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนอกจากนั้น เมืองยังมีเป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่แบบยั่งยืน มีการใช้ระบบอัจฉริยะในการควบคุมไฟบนท้องถนน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในที่สาธารณะ มีระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัยมากๆในยุโรป มีการให้เข้าถึงมูลต่างๆของเมืองอย่างเปิดกว้างเพื่อการพัฒนา เช่น app หาที่จอดรถที่ว่างในเมือง , สมาร์ทโฟน สามาถควบคุมการเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครือข่ายการแลกเปลี่ยนจักรยาน เหล่านี้ทำให้โคเปนเฮเกนมีความก้าวหน้าไปอย่างมากในการเป็น Smart City

สำหรับประเทศไทยเองก็อยู่ในช่วงของการพัฒนาหลายๆ เมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะเช่นกัน ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ ภูเก็ต ขอนแก่น จันทบุรีและชลบุรี ก็ต้องรอคอยกันต่อไปว่าเมืองอัจฉริยะของเราจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างและเสร็จสมบูรณ์ได้เมื่อไหร่ และหวังว่าเมื่อโครงการดังกล่าวสำเร็จลงจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไทยมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้นต่อไป

อ้างอิง

https://smartcitythailand.or.th/

https://www.greennetworkthailand.com/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B0-smart-city/

https://www.iurban.in.th/greenery/10-impressive-smart-cities-earth/