รวมครบ 18 คำถามเด็ด ‘ช้อปดีมีคืน 2565’

ปลายปีที่แล้วนักช้อปคนไทยได้รับข่าวดีเกี่ยวกับโครงการ ‘ช้อปดีมีคืน’ ที่รัฐจัดมาให้อีกครั้ง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเศรษฐกิจ ในปีนี้โครงการนี้ได้กลับมาอีกครั้ง โดยช่วงเวลาการช้อปที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จะอยู่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565


ช่วงนี้ใกล้ถึงกำหนดเวลาจบโครงการแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัยมากมายว่า สรุปแล้วโครงการนี้มีข้อกำหนดอะไรบ้าง และเราสามารถช้อปอะไรได้บ้าง วันนี้เรารวบรวมคำถามและคำตอบยอดฮิตมาไขข้อข้องใจ เผื่อใครยังช้อปไม่เต็มสิทธิ จะได้ไปช้อปกันให้เต็มสิทธิค่ะ


1. เราต้องใช้สิทธิไหม ลงทะเบียนอย่างไร เราใช้ ‘คนละครึ่ง’ หรือเราใช้ ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ แล้ว เรายังใช้สิทธิ ‘ช้อปดีมีคืน’ ได้อีกไหม และใช้สิทธิได้เท่าไร

  • ง่ายๆ เลย โครงการช้อปดีมีคืนไม่ต้องลงทะเบียนที่ไหนเลย สบายใจได้ และถึงแม้ว่าจะเคยเข้าร่วมคนละครึ่งหรือยิ่งใช้ยิ่งได้แล้ว ก็ยังใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้อีก ไม่ซ้ำซ้อนอะไรทั้งสิ้น

2. เมื่อซื้อของครบ 30,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ทุกคนลดหย่อนภาษีได้เท่ากันไหม

  • สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท หากใช้สิทธิเกิน 30,000 บาท จะนำมาลดหย่อนภาษีได้เพียง 30,000 บาทเท่านั้น ซึ่งจะลดหย่อนได้เท่าไรขึ้นอยู่กับฐานภาษีเงินได้ของแต่ละบุคคล
  • ถ้าถามว่าจำเป็นต้องใช้สิทธิไหม หากเงินได้สุทธิต่อปีเข้าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี การใช้สิทธิก็จะมีประโยชน์ เพราะจะได้มีค่าลดหย่อนมาลดภาษี อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องซื้อของอะไรเพิ่มเติม คุณสามารถเอาค่าใช้จ่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต้องซื้อสินค้าอุปโภคประจำวันอยู่แล้วมาใช้สิทธินี้ได้

3. การใช้สิทธินี้เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีของปีไหน

  • มาตรการนี้ออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในปี 2565 จึงเป็นการลดหย่อนภาษีของปี 2565 ซึ่งผู้ใช้สิทธิจะต้องเก็บใบเสร็จไว้เป็นหลักฐาน เพื่อไปใช้ประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงต้นปี 2566

4. ซื้ออะไรจึงจะใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้

  • หลักการคือ สินค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีได้ สามารถใช้ช้อปดีมีคืนได้ ดังนั้นง่ายสุดคือ ถามคนขายก่อนซื้อหรือรับบริการที่ร้านค้านั้นๆ ว่าสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้ได้หรือไม่

สำหรับสินค้าและบริการที่ไม่เข้าข่ายใช้สิทธิโครงการช้อปดีมีคืน ได้แก่

  • ซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ
  • ชำระค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ทั้งสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์
  • บริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
  • ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ

question-about-shopdeemeekeun-2565-01

5. ซื้อสินค้าอุปโภค เช่น สบู่ แชมพู ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ถุงขยะ ฯลฯ ได้หรือไม่

  • ได้ ถ้าซื้อจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ห้างสรรพสินค้าทั่วไป

6. ค่าซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แก็ดเจ็ต โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ได้หรือไม่

  • ได้ ถ้าซื้อจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

7. ซื้อสินค้าประเภทอาหารสดหรือเนื้อสัตว์นำไปประกอบอาหาร ผัก ผลไม้ นม ได้หรือไม่

  • ไม่ได้ เพราะสินค้าบริโภคเหล่านี้ได้รับยกเว้น VAT (ยกเว้นผลิตภัณฑ์นมแปรรูปที่ต้องเสีย VAT เช่น นมเปรี้ยว ชีส)

8. ซื้อหน้ากากอนามัย ชุดตรวจ ATK ได้หรือไม่

  • ไม่ได้ เพราะสินค้าเหล่านี้ได้รับยกเว้น VAT

9. ซื้อผ้าอ้อมเด็ก ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ได้หรือไม่

  • ได้ ถ้าซื้อจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

10. ซื้อคอร์สนวด สปา เพื่อความงามจากสถานบริการความงามได้หรือไม่

  • ได้ แต่ต้องซื้อและใช้บริการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 และสถานบริการความงามนั้นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

11.ชำระค่าบริการทางการแพทย์เกี่ยวกับการเสริมความงาม ทำหัตถการต่างๆ เช่น ฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ทำจมูก ทำศัลยกรรมตา ยกหน้า ได้หรือไม่

  • หัตถการทางการแพทย์รวมถึงศัลยกรรมต่างๆ ที่ต้องลงมีด จะต้องทำโดยแพทย์ในสถานพยาบาล โดยสถานพยาบาลถือเป็นธุรกิจที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืนได้

12. ค่าอาหารและเครื่องดื่มจากการรับประทานอาหารในร้านอาหารและร้านอาหารในโรงแรมได้หรือไม่

  • ได้ ถ้าร้านอาหารนั้นได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ค่าเครื่องดื่มประเภทที่มีแอลกอฮอล์ไม่สามารถเข้าร่วมได้

13. ชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตเข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืนหรือไม่

  • ไม่ได้ แต่ค่าเบี้ยประกันชีวิตสามารถนำมาลดหย่อนได้ในหมวดค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่มีอยู่แล้วตามปกติ

14. ชำระค่าเทอมให้กับโรงเรียนนำมาลดหย่อนได้หรือไม่

  • ไม่ได้ เพราะโรงเรียนถือเป็นสถานศึกษา ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

15. ซื้อทองคำสามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่

  • ทองคำแท่งและทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้ แต่ในส่วนของค่ากำเหน็จของทองรูปพรรณสามารถใช้ลดหย่อนได้

16. ซื้อบัตรของขวัญ (Gift Voucher) นำมาลดหย่อนได้หรือไม่

  • ไม่ได้ เพราะบัตรของขวัญไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม

17. ซื้อกองทุนจากสถาบันการเงินนำมาลดหย่อนได้หรือไม่

  • จำนวนการซื้อกองทุนนั้นไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้ แต่ยอดค่าธรรมเนียมการซื้อกองทุน หรือที่เรียกว่า Front-End Fee สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ โดยผู้ลงทุน (ผู้ซื้อ) ต้องขอหนังสือรับรองสิทธิในหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีจากสถาบันการเงินดังกล่าว เพื่อนำมายื่นประกอบการขอลดหย่อนกับกรมสรรพากร

18. ซื้อของจากแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์ต่างๆ ได้หรือไม่

  • สามารถซื้อได้ แต่ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ระบุข้อมูลผู้ซื้อครบถ้วน โดยการขอใบกำกับภาษีเป็นไปตามวิธีการที่แต่ละแอปพลิเคชันกำหนด และสินค้าต้องเป็นสินค้าที่ต้องเสีย VAT


สรุปได้สั้นๆ จากมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ก่อนจะตัดสินใจช้อปอะไร และช้อปเท่าไร ควรต้องพิจารณา 3 อย่าง คือ

1. รายได้สุทธิต่อปีของเราเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีหรือไม่

2. การใช้จ่ายอะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องซื้ออยู่แล้ว ไม่ควรใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพียงเพื่อต้องการใช้สิทธิ

3. ก่อนซื้ออะไรก็ตามให้ถามสถานบริการหรือผู้ขายก่อน เพื่อความมั่นใจว่าเป็นสถานบริการหรือร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบได้หรือไม่ และสินค้าหรือบริการของเราเป็นสินค้าที่เข้าข่ายสามารถเข้าร่วมโครงการหรือไม่


ข้อมูล ณ วันที่ 20 มกราคม 2565


บทความโดย คุณกมลชนก รามโกมุท ผู้อำนวยการ Estate Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์


ที่มาข้อมูล : The Standard Wealth