เรื่องเที่ยวเรื่องใหญ่...แต่จะเอาเงินที่ไหนเที่ยวเป็นเรื่องใหญ่กว่า

เรื่อง: บองเต่า ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ


Hi-Lights :

  • วิธีที่เราสามารถใช้วางแผนการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปีแรกๆ ของการทำงานมาจนถึงปัจจุบันคือ การตั้งงบให้ตัวเองทั้งปีก่อนเลย ว่าปีนี้เรามีงบเที่ยวเท่าไร เช่น มีงบสำหรับการท่องเที่ยวเท่ากับ 15% ของรายได้ประจำปี แล้วเราเอาเงินก้อนนี้ไปบริหารเอาเองว่าปีนี้เราจะจัดทริปเที่ยวแบบไหน
  • การจัดงบเที่ยวแบบทั้งปีเหมาะสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สม่ำเสมออยู่แล้ว และเป็นวิธีที่ดีกว่าการจัดงบไปทีละทริป เพราะว่าเราเห็นภาพใหญ่ของทั้งปี ทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
  • การท่องเที่ยวนั้นรอได้ รอจนกว่าเราจะพร้อมที่สุด ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดตัวเองจนเกินไปถ้ายังไม่พร้อม ตั๋วโปรรอบนี้ไม่ทัน เดี๋ยวมันก็มีรอบใหม่ เที่ยวให้เหมาะกับงบประมาณของเรา และเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะไปเที่ยว อย่าเสียดายเงิน การท่องเที่ยวก็เป็นการลงทุนซื้อประสบการณ์ให้ชีวิต อะไรที่เราคิดว่าจ่ายแล้วได้ประสบการณ์ที่ดี ประสบการณ์นั้นจะอยู่กับเราไปอีกนานมาก

ผมสังเกตว่าในช่วงหลังๆ เรามักเห็นสื่อโฆษณา ไปจนถึงบทความต่างๆ บอกให้คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อิสระเป็นของเรา คนรุ่นใหม่ต้องออกเดินทาง ออกไปเห็นโลกกว้าง ออกไปผจญภัย ออกไปค้นหาแพชชั่นของชีวิต สลับแอพไปเปิดอินสตาแกรม ก็มีแต่เพื่อนไปเที่ยว ถ่ายรูปสวย ในร้านอาหารเก๋ๆ หรือวิวสวยๆ ระดับร้อยล้าน พร้อมแฮชแท็ก #ชีวิตดี กันแทบจะทุกมุมโลก แหม สังคมบิ๊วกันหนักขนาดนี้ บางทีเราก็อยากจะพุ่งตัวไปที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้วเอาเงินฟาดที่เคาน์เตอร์ขายตั๋วเครื่องบินให้รู้แล้วรู้รอดไป


ในขณะที่ตัดภาพกลับมาที่โลกแห่งความจริง เราพบว่าเรากำลังแอบอ่านบทความนั้นอยู่ในห้องประชุมของบ่ายวันศุกร์ที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร จะให้ออกไปตามความฝันตอนนี้เลยเหรอ ทำงานส่งลูกค้าให้เสร็จก่อนไหม แล้วเงินล่ะ จะเอาที่ไหนไปฟาดซื้อตั๋วเครื่องบินดั่งใจนึก แค่จะไปสุวรรณภูมิยังต้องคิดก่อนไหมว่าจะนั่งแท๊กซี่ หรือยอมประหยัดนั่งแอร์พอร์ตลิงก์ดีนะ


จริงอยู่ที่ในยุคนี้ การเดินทางไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ตั๋วเครื่องบินไม่ได้แพงระยับจนจับต้องไม่ได้ ข้อมูลการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็กใหญ่ใกล้ไกลแค่ไหน ก็มีให้อ่านแบบไม่จบสิ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งทุกอย่างในชีวิตเพื่อไปใช้ชีวิตเต็มพิกัดในแบบที่โฆษณาบอกเราได้ เพราะเรายังต้องมีความรับผิดชอบในชีวิตอีกมาก ยังมีครอบครัวต้องดูแล มีงานต้องทำ มีรถมีบ้านต้องผ่อน มีค่าอินเทอร์เน็ตต้องจ่าย มีหมาต้องให้อาหาร คิดแค่นี้โลกกว้างที่รอเราอยู่ก็ดูจะไม่ใกล้อย่างที่เราคิด


ถึงคอลัมน์นี้จะชื่อว่า การท่องเที่ยวควรทำทันที แต่การเที่ยวก็ยังเป็นเรื่องที่ควรวางแผนก่อนเสมอครับ และการวางแผนที่สำคัญที่สุด คือการวางแผนเรื่องเงิน สุดท้ายแล้วการเที่ยวก็หนีไม่พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ นี่แหละ

วิธีที่ผมใช้วางแผนการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปีแรกๆ ของการทำงานมาจนถึงปัจจุบันคือ ผมตั้งงบให้ตัวเองทั้งปีก่อนเลยครับว่าปีนี้เรามีงบเที่ยวเท่าไร อย่างเช่น ปัจจุบันผมมีงบสำหรับการท่องเที่ยวเท่ากับ 15% ของรายได้ประจำปี แล้วเราเอาเงินก้อนนี้แหละไปบริหารเอาเองว่าปีนี้เราจะจัดทริปเที่ยวแบบไหน บางปีผมก็เที่ยวมันแทบทุกเดือน แต่ว่าเน้นไปทริปเล็กๆ สั้นๆ  ทริปละไม่เกินสามสี่วัน เช่น ไปฮ่องกง หรือไปแค่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ในขณะที่บางปีก็เน้นจัดชุดใหญ่ไฟกระพริบ บินข้ามโลกไปยุโรป ไปอเมริกา ซึ่งก็ต้องแลกกับการที่ทั้งปีอาจจะมีโอกาสเที่ยวแค่ทริปเดียว


ผมพบว่าการจัดงบเที่ยวแบบทั้งปีนั้น เหมาะสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สม่ำเสมออยู่แล้ว และเป็นวิธีที่ดีกว่าการจัดงบไปทีละทริป เพราะว่าเราเห็นภาพใหญ่ของทั้งปี ทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น บางทีมีตั๋วโปรหลุดออกมาแบบไม่ทันตั้งตัว เราก็สามารถเปลี่ยนแผน บริหารจัดการเอางบทริปโน้นมาโปะทริปนี้ได้ แล้วไปเล็มงบทริปนั้น ซึ่งสุดท้ายโจทย์ใหญ่สุดของการบริหารงบแบบนี้คือ เราเที่ยวยังไงก็ได้ แต่อย่าเกินงบประจำปีที่ตั้งไว้แต่แรกก็พอ และเมื่อเราเติบโตขึ้นในหน้าที่การงาน รายได้เยอะขึ้น ย่อมหมายถึงการได้รางวัลเป็นงบสำหรับเที่ยวที่มากขึ้นให้สมกับความรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่มากขึ้นเช่นกัน


กรณีที่เป็นทริปใหญ่ มักต้องใช้เงินเยอะมากเป็นพิเศษ การจะเก็บเงินเป็นก้อนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีวินัยกับตัวเอง และบางครั้งวินัยก็เกิดจากการบังคับตัวเอง ซึ่งวิธีที่ผมพบว่าได้ผลดีคือ การตั้งบัญชีแยกไว้อีกบัญชี โดยให้บัญชีที่สอง เป็นบัญชีที่ไม่ต้องมีบัตรเอทีเอ็ม ไม่ต้องผูกกับแอพเลยก็ได้ คือทำให้มันถอนยากเป็นพิเศษ เมื่อเรามีเงินเดือนเข้าบัญชีแล้วก็จัดการเจียดเงินโอนเข้าบัญชีนี้ทันที แล้วก็ปล่อยให้เงินนอนกองอยู่ในบัญชีสำรองนั้นไปเรื่อยๆ นานๆ จะมาเปิดดูยอดสักที แล้วจะรู้เลยครับว่าการเก็บเงินวิธีนั้น มันได้เงินก้อนเร็วกว่าที่เราคิดมาก

นอกจากการบริหารงบแล้ว อีกสิ่งที่เราควรบริหารด้วยคือความคาดหวังของตัวเราเองครับ  ผมเชื่อเสมอว่าการประหยัดเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมไม่เชื่อว่าการประหยัดที่สุด จะทำให้การท่องเที่ยวสนุกที่สุดหรือคุ้มที่สุด เพราะประสบการณ์ในแต่ละอย่าง ในแต่ละประเทศ อาจจะต้องใช้เงินที่มากพอเพื่อแลกกับประสบการณ์ที่ดี และเมื่อเรายอมเก็บเงิน ใช้วันลาพักร้อนมาเที่ยวขนาดนี้แล้ว ผมคิดว่าเราก็ควรจะยอมจ่ายในระดับที่อยากกินอะไรก็ควรได้กิน อยากเห็นอะไรก็ควรได้เห็น อยากลองอะไรก็ควรได้ลอง เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับบ้านมาพร้อมกับความเสียดาย หรือคำว่า “รู้งี้...” ให้เจ็บใจตัวเองเล่น


ผมจึงเชื่อว่า การท่องเที่ยวนั้นรอได้ รอจนกว่าเราจะพร้อมที่สุด ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดตัวเองจนเกินไปถ้ายังไม่พร้อม ตั๋วโปรรอบนี้ไม่ทัน เดี๋ยวมันก็มีรอบใหม่ เที่ยวให้เหมาะกับงบประมาณของเรา และเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะไปเที่ยว อย่าเสียดายเงินครับ การท่องเที่ยวก็เป็นการลงทุนซื้อประสบการณ์ให้ชีวิต อะไรที่เราคิดว่าจ่ายแล้วได้ประสบการณ์ที่ดี ประสบการณ์นั้นจะอยู่กับเราไปอีกนานมาก เราจะจำรสชาติความอร่อยของอาหารมื้อนั้นไปอีกนาน เราจะจำความสวยงามของวิวนั้นไปอีกนาน เราจะจำความเท่เก๋ไก๋ของมิวเซียมนั้นไปอีกนาน


ในขณะที่เมื่อเรากลับถึงบ้าน คงไม่มีใครที่จะเลือกจำว่าเราจ่ายอะไรไปเท่าไรบ้าง ซึ่งนี่แหละครับ คือความคุ้มค่าของการลงทุนเพื่อซื้อประสบการณ์จากการท่องเที่ยวที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยเงินทอง