ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เพื่อนรักนักอ่าน ส่องเทคยอดนิยมของนอนหนังสือไทย-เทศ
ได้วันหยุดสุดแสนพิเศษทั้งที จะมีอะไรดีไปกว่าใช้เวลาอ่านหนังสือสนุกๆ ให้หนำใจแบบไม่ต้องพัก ไม่ว่าจะนอนอยู่บ้านหรือพกพาไปอ่านระหว่างท่องเที่ยว โดยมีเทคโนโลยีที่ช่วยเข้ามาเปิดโลกการอ่านให้มาอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ พร้อมเรื่องราวให้เลือกหลากหลาย ทั้งจากนักเขียนมืออาชีพและสมัครเล่น แบบไม่ต้องพกหนังสือเป็นเล่มให้ลำบากอีกต่อไป
ใครจะรู้ คุณยังอาจได้ลองอวดฝีมือ เปลี่ยนบทบาทจากนักอ่านเป็นนักเขียนเองได้ต่างหาก เมื่อแพลตฟอร์มเหล่านั้นเปิดกว้างให้คนมีของได้ลองเผยแพร่งานเขียนของตัวเอง เผลอๆ อาจเป็นช่องทางสร้างรายได้ทันใจ แบบไม่ต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์ก็เข้าถึงผู้อ่านได้
E-reader กรุยทางเทคเพื่อการอ่าน
เครื่องมือดิจิทัลหน้าตาเหมือนแท็บเล็ตอย่าง Kindle เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีรุ่นบุกเบิกที่ตลาดนักอ่านรู้จักมากว่า 15 ปี โดยอาศัยความได้เปรียบจากบริษัทที่มีคลังหนังสือระดับโลกอย่าง Amazon เป็นเจ้าของผู้พัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ผู้อ่านสามารถค้นหาหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือสื่อดิจิทัลอื่นๆ สั่งซื้อและดาวน์โหลดมาเก็บไว้อ่านอย่างง่ายดาย
มาถึงปี 2022 Kindle ก็ได้รับการพัฒนามาถึงเจเนอเรชั่นที่ 11 แล้ว โดยยังคงจุดเด่นของการใช้เทคโนโลยี e-ink ให้การแสดงผลใกล้เคียงกับการอ่านหนังสือจากหน้ากระดาษ จอภาพละเอียด และความจุเพิ่มมากขึ้นสำหรับการดาวน์โหลดหนังสือเล่มโปรดเก็บไว้ และเวอร์ชั่นล่าสุดยังสามารถรองรับไฟล์ e-book แบบ ePub ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกการอ่านออนไลน์ในปัจจุบัน แทนที่จะจำกัดที่ไฟล์ .AZW หรือ .MOBI อย่างเดิมเท่านั้น
ทว่าข้อจำกัดของ kindle ในไทยก็ยังมีอยู่ เพราะการเข้าถึงได้จะเป็นสื่อภาษาอังกฤษเป็นส่วนมาก นอกจากนั้นการนำเอาเทคโนโลยี e-ink มาใช้ยังจำกัด เพราะมีลูกค้ากลุ่มเฉพาะมาก (niche market) คือ กลุ่มคนรักการอ่าน และด้วยประสิทธิภาพของ e-ink ข้อดีที่สุดคือการใช้งานที่เป็นธรรมชาติเหมือนอ่านหนังสือจริง แต่ไม่สามารถรองรับการทำงานอื่นๆ ได้หลากหลายเหมือนแท็บเล็ตทั่วไป ดังนั้น เครื่องมือเฉพาะเจาะจงอย่าง e-reader จึงไม่ได้รับความนิยมในฐานะสื่อการอ่านในวงกว้าง เมื่อเทียบกับแท็บเล็ตที่มาพร้อมสเปคครบเครื่องเอนกประสงค์มากกว่า
ส่องแอปพลิเคชันหนังสือยอดนิยมเมืองนอก
ปัจจุบันทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ต่างมีตัวเลือกแอปพลิเคชันสำหรับอ่านหนังสือออนไลน์ให้เลือกจำนวนมาก ไม่ว่าจะอยากขยายตัวหนังสือให้ใหญ่ขึ้น หรือให้แอปช่วยอ่านหนังสือให้ฟังก็ย่อมได้ ขณะที่แอปยอดนิยมของต่างประเทศ ได้แก่
- Goodreads:
ชุมชนนักอ่านที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้งานได้ทั้งระบบ iOS, Android และเว็บเบราเซอร์ในคอมพิวเตอร์ ช่วยค้นหาหนังสือที่นักอ่านชอบ โดยดูจากเล่มโปรดที่ผ่านมา สามารถดูได้ว่าเพื่อนอ่านเล่มไหน อ่านรีวิวแสดงความคิดเห็นจากผู้อ่าน หรือเข้าไปแสดงความคิดเห็นของตัวเองต่อหนังสือเล่มที่เราอ่านได้ด้วย ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 90 ล้านบัญชี และมีหนังสือกว่าพันเล่ม
- Wattpad:
เป็นแพลตฟอร์มสำหรับคนรักหนังสือและคนชอบเขียนอย่างแท้จริง เพราะเปิดโอกาสให้มือสมัครเล่นมีช่องทางเผยแพร่ผลงานของตัวเอง จุดเด่นของแอปนี้คือ การเปิดโอกาสให้คนอ่านเข้าร่วมชุมชนนักอ่านคอเดียวกัน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานทั้งนักอ่านและนักเขียนกว่า 90 ล้านบัญชี และมีเรื่องแต่งมากกว่า 50 ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษาไทยด้วย
- Kindle:
นอกจากจะมีเครื่องมือ E-reader แล้ว Kindle ยังมีแอปพลิเคชันให้ใช้งานในโทรศัพท์มือถือหรือเปิดอ่านผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย แต่วงเล็บว่าเหมาะสำหรับคนที่มีแอคเคาท์ซื้อหนังสือผ่าน Amazon อยู่แล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี แอปจากค่ายนี้ย่อมไม่เป็นรองใคร เพราะนอกจากเปลี่ยนฟอนต์และขนาดให้สบายตาแล้ว ยังขีดไฮไลท์ตัวหนังสือที่สนใจ ค้นหาความหมายและคำแปลได้
- Webtoon:
ชุมชนเว็บคอมิกส์ หรือ แหล่งรวมการ์ตูนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดจากเกาหลีใต้ พัฒนาโดย Naver Corporation เจ้าของเดียวกับแอปแชทอย่าง Line ที่คนคุ้นเคยกันดีนั่นเอง นักอ่านการ์ตูนสามารถค้นหาเรื่องราวจาก 23 หมวดหมู่ รวมถึง Webtoon Originals ที่ผลิตเพื่อแพลตฟอร์มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมีงานจากผู้สร้างคนไทยรวมอยู่ไม่น้อย หรือการ์ตูนระดับรางวัล และการ์ตูนดังที่ทำรายได้ระดับโลกก็มีให้อ่านกันบนแอปนี้
ส่องกระแส ‘ อ่านออนไลน์ ’ ในไทย
คอหนังสือคนไทยที่หันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อ่านหนังสือเติบโตขึ้นอย่างมาก ด้วยมูลค่าตลาด e-book กว่า 1,200 ล้านบาท หรือราว 10% ของตลาดธุรกิจหนังสือทั้งหมด ส่งผลให้กลุ่มทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนขยายธุรกิจเจาะตลาดนี้มากขึ้น โดยมีชุมชนนักอ่าน-นักเขียนสองรายใหญ่ ประกอบด้วย
- ReadAwrite:
แพลตฟอร์มการอ่านหนังสือ และการเขียนหนังสือเผยแพร่บนโลกออนไลน์ที่มีฐานผู้ใช้มากที่สุดรายหนึ่งในไทย สมาชิกสามารถเผยแพร่เนื้อหาได้ด้วยตัวเอง (User Generated Content) โดยเลือกว่าจะให้อ่านฟรี หรือหารายได้ด้วยการจำหน่ายแบบติดเหรียญ หรือให้นักอ่าน Donate ตามความสมัครใจได้ด้วย
การใช้งานได้ทั้งระบบ iOS, Android และบนคอมพิวเตอร์ ธุรกิจนี้อยู่ภายใต้การพัฒนาของ Meb Corporation บริษัทลูกในเครือ Central ที่มีร้านหนังสือออฟไลน์อย่างบีทูเอสในมืออยู่แล้ว และ Meb Market เองยังมีเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของตัวเอง เป็นแหล่งรวมการจำหน่ายหนังสือดิจิทัลในรูปแบบ e-book ที่ใหญ่ที่สุดของไทยอีกรายหนึ่ง
- Dek-D:
แพลตฟอร์มนวนิยายอายุ 23 ปี ถือว่าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ภายใต้บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จํากัด และยังคงมีฐานผู้ใช้งานหนาแน่นจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดมีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เมื่อบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) สำนักพิมพ์รายใหญ่ของประเทศ ขยับรุกเข้าสู่ตลาดออนไลน์คอนเทนต์เต็มตัวด้วยการเข้าถือหุ้นใน Dek-D กว่า 51% ด้วยมูลค่ากว่า 204 ล้านบาท
นอกเหนือจากชุมชนการอ่านออนไลน์แล้ว Dek-D ยังมีธุรกิจคอนเทนต์ด้านการศึกษาที่เป็นจุดเด่น เป็นที่รู้จักของนักเรียนที่เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบ การศึกษาต่อในสาขาวิชาต่างๆ อย่างเจาะลึกและครอบคลุม
โลกการอ่านออนไลน์ในอนาคต ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนหันมาหาความบันเทิงหน้าจอมากขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีเอื้อให้คลังหนังสือนับล้านเล่มเลื่อนมาอยู่ในมือเราง่ายๆ แบบไม่ต้องเสาะแสวงหาตามร้านทั่วไปอย่างในอดีตอีกต่อไป
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.blognone.com/node/128277
https://tips.thaiware.com/2046.html
https://www.lifewire.com/best-book-reading-apps-4691765
https://www.intellectsoft.net/blog/best-apps-for-book-lovers/
https://en.wikipedia.org/wiki/Webtoon_(platform)
https://brandinside.asia/meb-corporation-sells-75-million-shares-to-the-sec/
https://www.thairath.co.th/business/investment/2526850
https://www.prachachat.net/ict/news-776406