ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
มีแมวเมื่อพร้อม ตรวจเช็คลิสต์ ก่อนเข้าสมาคมทาสเหมียว
“แมว” สิ่งมีชีวิตครองใจมนุษย์อันดับต้นๆ เบียดคู่สูสีกับสุนัขมาทุกยุคทุกสมัย แต่ในยุคที่ผู้คนต้องย้ายถิ่นไปพักอาศัยบนตึกสูง อาจทำให้ชั่วโมงนี้น้องเหมียวมีภาษีเหนือกว่าเล็กน้อย ด้วยความที่ไซส์กะทัดรัดสามารถเลี้ยงในพื้นที่จำกัดได้
ทว่านอกจากคำนึงถึงความน่ารักน่าเอ็นดูอยากอุ้มชู หรือความพร้อมด้านการเงินที่ต้องมีไม่ใช่น้อยสำหรับคนที่รักจะเข้าสมาคมทาสแมวแล้ว ความพร้อมด้านอื่น โดยเฉพาะหัวจิตหัวใจของแมวในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกันก็สำคัญ ลองมาทบทวนกันก่อนอีกนิดว่าพร้อมแล้วจริงหรือไม่ในการอุปการะเหมียวสักตัวมาคลอเคลียใกล้ตัว
1. เลี้ยงอย่างสบายใจ ไม่ขัดกฎระเบียบ
สำหรับคนที่มีบ้านอาจจะสบายใจหายห่วงได้เปลาะหนึ่ง แต่สำหรับมนุษย์คอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ทั้งหลาย ต้องศึกษาข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดที่ประกาศไว้ให้แน่ชัด เพราะแม้ว่าพระราชบัญญัติอาคารชุดจะไม่ระบุข้อห้ามเลี้ยงสัตว์ แต่อาคารชุดมีอำนาจกำหนดเกณฑ์ห้ามเลี้ยงสัตว์และวางบทลงโทษเองได้ ทำให้ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลย และหากไม่ยอมจ่ายค่าปรับเมื่อพบว่ากระทำผิด หากยืดเยื้อก็อาจถูกฟ้องร้องและได้รับคำสั่งศาลให้จ่ายค่าปรับภายหลัง อย่างที่เคยมีกรณีเกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้น คนที่รู้ตัวว่าจะกี่ชาติก็ขาดแมวไม่ได้ การมองหาคอนโดที่ชูจุดขายมาแต่ไกลว่า “เลี้ยงสัตว์ได้” อาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด เพราะนอกจากจะได้รับอนุญาตเลี้ยงอย่างถูกต้องแล้ว อาคารเหล่านั้นมักมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมไว้ สามารถอุ้มพาออกไปเดินเล่นในพื้นที่ส่วนกลาง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกใครมองค้อนเอาได้
แต่เมื่อแน่ใจว่าที่พักอาศัยเราพร้อมต้อนรับแมวเหมียวแบบไม่มีข้อจำกัด ใช่ว่าจะอุ้มพวกมันเข้ามาได้ทันที แต่ควรจะพิจารณาที่ทางของตัวเองสักหน่อย อาทิ เพื่อนบ้านรั้วติดกันหรือในบ้านเรามีสัตว์เลี้ยงตัวอื่นอยู่หรือไม่ จะจัดสรรแบ่งปันพื้นที่อย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้แบบไม่ขัดใจกัน หรือหากอยู่ในคอนโด ห้องของคุณมีความเสี่ยงที่แมวเหมียวจะปีนป่ายเล็ดลอดออกไปทางไหนหรือเปล่า ควรจัดการอุดรอยรั่วช่องโหว่เหล่านั้นให้ดี เพื่อป้องกันอันตรายของสัตว์เลี้ยง และทำให้แน่ใจว่าแมวน้อยของเราจะไม่เผลอเดินกรีดกรายไปจ๊ะเอ๋ห้องอื่นที่เขาอาจไม่รักสัตว์เหมือนเราก็ได้
2. เลือกสายพันธุ์ที่ชอบ เพื่อเหมียวที่ใช่
เวลาที่เราจะเลือกแมวสักตัวมาเลี้ยง ส่วนใหญ่ก็มักจะเล็งกันที่ความน่ารักของหน้าตา แต่เรามักจะลืมศึกษาลักษณะนิสัย และเกณฑ์อายุเฉลี่ยของพวกมัน จึงมักมีเรื่องเศร้าให้ได้ยินเสมอว่า มีแมวที่ถูกเจ้าของทอดทิ้ง อาจเป็นด้วยความเบื่อ เลี้ยงไม่ไหว หรือเพราะแมวชราและมีโรครุมเร้าจนไม่อยากรับภาระไว้อีกต่อไป
ดังนั้น ก่อนจะรับอุปการะแมวสักตัว ลองดูพื้นฐานของสายพันธุ์ก่อนว่าจะเข้ากับเราได้หรือไม่ เป็นประเภทติดมนุษย์หรือชอบปลีกวิเวก เช่น พันธุ์เปอร์เซีย และ เอ็กโซติก ชอร์ตแฮร์ ที่อาจรักความเป็นส่วนตัวสักหน่อย รวมถึงการศึกษาข้อดีหรือข้อด้อย และอุปนิสัยที่ควรระวัง หากในบ้านเรามีเด็ก ยิ่งต้องดูให้ดีว่าเป็นมิตรกับมนุษย์ตัวจิ๋วหรือไม่ อาทิ พันธ์ุเบงกอล แมวปราดร่าเริงพลังงานสูง ต้องเตรียมรับมือกับความซุกซนไว้สักนิด และต้องระวังเป็นพิเศษหากมีเด็กวัยกำลังหัดเดินในบ้าน
และที่สำคัญคือ ต้องศึกษาความเสี่ยงต่อโรคประจำสายพันธุ์ และถามตัวเองว่าหากจะต้องเจอจะพร้อมหรือเปล่า ซึ่งต้องดูควบคู่กับอายุเฉลี่ยของสายพันธุ์เหล่านั้น เพื่อที่จะประเมินได้ว่าเราจะเลี้ยงดูมันตลอดรอดฝั่งหรือไม่ และต้องเตรียมตัวอะไรไว้บ้าง ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่า นี่เป็นความรับผิดชอบระยะยาว เมื่อคำนวณจากอายุเฉลี่ยที่อาจยืนยาวได้ถึง 15-20 ปี ไม่ควรทอดทิ้งพวกมันในภายหลังอย่างเด็ดขาด
3. พร็อบจัดเต็มไม่ใช่แค่ภายนอก แต่สุขภาพภายในก็สำคัญ
การเลี้ยวแมวสักตัวให้ดี บางครั้งแทบไม่ต่างจากเลี้ยงเด็กน้อยคนหนึ่ง ยิ่งเป็นคุณพ่อคุณแม่ขี้เห่อ อาจทุ่มเทซื้ออุปกรณ์จัดเต็มชนิดที่แมวไม่ได้ร้องขอแต่ก็พร้อมทำให้ งานแฟร์เพื่อคนรักสัตว์ในสมัยนี้จึงทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากสินค้าที่คัดสรรมาเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่นอน ของเล่น รถเข็น เสื้อผ้า ซึ่งแต่อย่างก็มีเกรดที่ให้คุณภาพต่างกัน เช่น อาหาร หากเป็นแบบโซเดียมต่ำ หรืออาหารออแกนิกส์หรือมีการบำรุงสุขภาพ ก็อาจจะราคาแพงขึ้นมา ดังนั้น งบประมาณที่เรารับผิดชอบได้ ควรเป็นปัจจัยที่คำนึงถึงตั้งแต่แรก
ทว่าที่สำคัญกว่าคือการดูแลสุขภาพที่ต้องเตรียมไว้ โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ทางเลือกที่น่าสนใจอีกอย่างคือการทำประกันชีวิตสัตว์ เนื่องจากการรักษาพยาบาลบางรายการของเจ้าเหมียว อาจสูงเฉียดๆ กับคนทั่วไปเลยทีเดียว
ทั้งนี้ แผนการคุ้มครองก็แล้วแต่งบประมาณที่เรามี ยิ่งจ่ายแพงก็จะมีการคุ้มครองมากขึ้น โดยความคุ้มครองมีทั้งการรักษาโรค การฉีดวัคซีน คุ้มครองกรณีเสียชีวิต เหล่านี้อาจจะเหมาะกับสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงต่อโรค หรือเป็นประเภทแสนซนมักถามหาอุบัติเหตุบ่อยๆ เริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือนไปจนถึง 7 หรือ 9 ปี สนนราคามีตั้งแต่หลักพันบาทต้นๆ ไปจนถึงเฉียดหมื่นบาทต่อปี
นอกจากนั้น ยังมีสิ่งที่คนไม่ค่อยรู้อีกอย่างคือ เมื่อทำประกันแล้ว ยังคุ้มครองไปถึงกรณีที่แมวของเราอาจไปประทุษร้ายผู้อื่น เช่น กระทำการฟ้อนเล็บหรือลับคมเขี้ยวใส่ชาวบ้านแบบไม่เจตนา รวมถึงชดเชยในกรณีจัดค่าพิธีศพของพวกมัน เมื่อถึงคราวเศร้าที่ต้องลาจากด้วย
ไม่ว่าจะมีงบประมาณน้อยหรือมาก การดูแลให้แมวเหมียวมีความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินทองเป็นหลัก แต่การเลี้ยงดูเอาใจใส่ใกล้ชิด ให้มันอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การเลี้ยงดูเจ้าเหมียวสมบูรณ์แบบและแฮปปี้กันถ้วนหน้าได้แน่นอน
ที่มา
https://www.wongnai.com/articles/budgeting-for-a-cat
https://brandinside.asia/pet-insurance-thailand/