ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
นมัสการ 7 พระธาตุสร้างแต้มบุญกับ 'ทำบุญทันใจ'
ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา เจดีย์พระธาตุ คือสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ หรือเถ้ากระดูกของพระพุทธเจ้า ซึ่งการกราบไหว้นมัสการพระธาตุจึงได้อานิสงค์ผลบุญอย่างใหญ่หลวง แนะนำ 7 พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพบูชามาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลให้สายบุญได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต
1. พระธาตุขามแก่น วัดเจติภูมิ จ. ขอนแก่น
มาเริ่มที่ภาคอีสาน พระธาตุขามแก่นเป็นหนึ่งในปูชนียสถานสำคัญเก่าแก่คู่เมืองขอนแก่น ที่สร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 25 มีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสามเหลี่ยมทรงอีสาน สูง 10 เมตร มีฐานเป็นรูปบัวคว่ำ ผังสี่เหลี่ยมสอบขึ้นด้านบนปลายยอดเป็นฉัตรทอง องค์เรือนธาตุเป็นรูปดอกบัวตูมยอดย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเจติภูมิ ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งบริเวณบ้านขามเคยเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ตามประวัติของพระธาตุขามแก่น สร้างโดยโมริยกษัตริย์เจ้าเมืองโมรีย์ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน พระองค์มีความประสงค์ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่นาน มาบรรจุที่องค์พระธาตุพนม จึงโปรดให้พระอรหันต์และพระเถระเจ้าคณะรวม 9 องค์ นำขบวนอัญเชิญพระอังคาร ซึ่งเมื่อผ่านมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่ง มีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น และเมื่อเดินทางต่อไปจนถึงภูกำพร้าปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับและตั้งใจว่าจะนำพระอังคารธาตุกลับไปประดิษฐานไว้ในที่บ้านเมืองของตน
แต่เมื่อเดินผ่านดอนมะขามอีกครั้งปรากฏว่าแก่นมะขาม ที่ตายแล้วนั้นกลับยืนต้นแตกกิ่งก้านผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่น่าอัศจรรย์ คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนี้ ประดิษฐานพระอังคารธาตุและให้นามว่า"พระธาตุขามแก่น" มาจนทุกวันนี้ และเป็นจุดยึดเหนี่ยวทางจิตใจมีความศักดิ์สิทธิ์คู่กับภาคอีสานอีกแห่งหนึ่ง โดยทุกวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานฉลองพระธาตุขามแก่นเป็นประจำทุกปี
- คำนมัสการพระธาตุขามแก่น : อุกาสะ วันทามิ ภันเต มะหาสาระนะคเร เจติยะภูมิยัง อาราเม นะวะหิ อะระหันเตหิ อานีตัง สุปะติฎฐาปิตัง สัมมาสัมพุทธะ สารีริกะธาตุง สิระสา นะมามิ ตัสสะ สารีริกธาตุในปูชา เม ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
- อานิสงส์ที่ได้รับ : เรื่องร้ายกลายเป็นดี ดุจดังแก่นขามตายแล้วฟื้น รักยั่งยืน เรื่องร้ายกลายเป็นดี โรคภัยที่มี หลีกลี้ห่างหาย
ที่ตั้ง : https://goo.gl/maps/o6F7anBS65BgM3Up9
2. พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม
จังหวัดนครพนมได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ มีพระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานสำคัญอันเป็นที่เคารพสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวลาว พระธาตุแห่งนี้ตั้งอยู่บนโคกสูงกว่าบริเวณอื่นโดยรอบเรียกว่า ภูกำพร้า ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ว่ากันว่าสร้างมานานกว่า 2,500 ปีมาแล้วโดยพระมหากัสสปะเถระ และพระอรหันต์ 500 องค์ มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมก่อสร้างด้วยอิฐซึ่งสลักลวดลายโบราณคล้ายกับรูปแบบของศิลปะทวารวดี เพื่อบรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย
พระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีวอกและเกิดวันอาทิตย์ ทุกๆ ปีจะมีการจัดงานประเพณียิ่งใหญ่ซึ่งจัดสืบต่อมากันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน คือ งานนมัสการองค์พระธาตุพนม โดยจะจัดในวันเพ็ญเดือน 3 ของทุกปี โดยเริ่มเมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันแรกของงาน และไปสิ้นสุดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 รวม 6 วัน 6 คืน ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศเพื่อมาสมโภชและนมัสการพระธาตุพนมเป็นประจำทุกปี สิ่งของที่นิยมบูชาพระธาตุ ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกไม้สีแดง ธูป 6 ดอก เทียน 2 เล่ม
· คำนมัสการพระธาตุพนม : ปุริมายะ , ทักขิณายะ, ปัจฉิมายะ , อุตตะรายะ , เหฏฐิมายะ , อุปะริมายะ ทิสายะ, กะปะณะคิริสะมิง ปัพพะเต มหากัสสะเปนะ ฐาปิตัง พุทธอุรังคะธาตุง สิระสา นะมามิ
- คำไหว้ยอด : เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทธะอุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะ
- อานิสงส์ที่ได้รับ : เสริมมงคลเพิ่มพูนบารมีให้ผู้คนเคารพนับถือ
ที่ตั้ง : https://goo.gl/maps/CZC6payH9mPfJTpn8
3. พระธาตุดอยตุง วัดพระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย
มาที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงรายที่มีพระธาตุดอยตุงปูชนียสถานที่สำคัญคู่เมือง โดยมีลักษณะเป็นเจดีย์สีทองอร่าม 2 องค์คู่กันซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,000 เมตร ทำให้เมื่อขึ้นไปยืนบนจุดนั้นสามารถมองเห็นวิวเมืองเชียงรายได้เต็มตา นับเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ตามตำนานกล่าวว่าเป็นเจดีย์แห่งแรกในอาณาจักรล้านนาสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคืออำเภอแม่จัน)
ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) เมื่อผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานจึงเกิดความชำรุดทรุดโทรม จนกระทั่งปี พ.ศ.2470 ครูบาศรีวิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาได้ทำการบูรณะองค์พระธาตุดอยตุงโดยสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กสององค์บนฐานแปดเหลี่ยมตามศิลปะแบบล้านนา และได้มีการบูรณะอีกหลายครั้งในภายหลัง ซึ่งพระธาตุแห่งนี้มีพุทธศาสนิกชนให้ความเคารพสักการะเป็นอย่างยิ่ง จึงมีผู้คนเดินทางมาที่นี่ไม่ขาดสาย โดยเฉพาะคนเกิดปีกุนเพราะเป็นพระธาตุประจำปีเกิด
- คำนมัสการพระธาตุดอยตุง : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ) พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรงมะหาคะมานะ มามิหัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
- อานิสงส์ที่ได้รับ : ครั้งหนึ่งในชีวิต ผู้ที่เกิดปีกุน ควรได้เดินทางมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลและได้รับอานิสงส์ทำให้เป็นผู้มีอายุยืนยาวและสู่สุคติภูมิ
ที่ตั้ง : https://goo.gl/maps/mt5SPb6oSnL1tdt96
4. พระธาตุผาเงา วัดพระธาตุผาเงา จ.เชียงราย
วัดเก่าแก่ประจำเชียงแสน มีชื่อเดิมว่า วัดสบคำ ซึ่งในบริเวณวัดมีก้อนหินก้อนนี้มีขนาดใหญ่ทรงคล้ายเจดีย์ตั้งอยู่บนยอดหินผา ที่ให้ร่มเงาร่มรื่น จึงเป็นชื่อพระธาตุผาเงา (เงาของก้อนผา) กล่าวกันว่าสมัยก่อนวัดแห่งนี้มีความรุ่งเรืองมากในสมัยโยนกนคร แต่ถูกทิ้งร้างมานาน จนเมื่อเดือนมีนาคม 2519 มีการสำรวจพบพระพุทธรูปที่สวยงามเก่าแก่ ศิลปะแบบสุโขทัย นั่งขัดสมาธิ ประดิษฐานอยู่บนอิฐโบราณที่วางเรียงรายกันเป็นฐานใหญ่มั่นคง จึงเรียกว่า หลวงพ่อผาเงา เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านที่เลื่อมใส และเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดพระธาตุผาเงา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
องค์พระอุโบสถของวัดยังสวยงามคลาสสิกแบบศิลปะท้องถิ่น ภายในประดับด้วยภาพไม้แกะสลักบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติตามแบบฉบับล้านนา และจากบริเวณวัดสามารถมองเห็นวิวแม่น้ำโขงอีกด้วย
- อานิสงส์ที่ได้รับ : ผู้ที่เจ็บป่วยที่ได้มาสักการบูชาพระธาตุที่วัดนี้ จะช่วยให้อาการป่วยทุเลาลงและหายในที่สุดอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
ที่ตั้ง : https://goo.gl/maps/2TRwSS4ufEH5TPaD6
5. พระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จ.เชียงใหม่
มาต่อกันที่เชียงใหม่ ไม่รอช้ามุ่งตรงไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุประจำคนเกิดปีมะแม (ปีแพะ) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ที่ในช่วงวันวิสาขาบูชาของทุกปีจะมีการจัดงานประเพณีเตียวขึ้นดอย จัดก่อนหน้าวันวิสาขบูชา 1 วัน เพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีขบวนแห่น้ำสำหรับสรงพระธาตุ ประกอบด้วยพระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชนจากชุมชนต่าง ๆ มาร่วมขบวนกันอย่างเนืองแน่น
วัดและองค์พระธาตุดอยสุเทพ สร้างในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงแยกพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นสองส่วน โดยอัญเชิญองค์หนึ่งบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนอีกองค์หนึ่งได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างมงคล โดยพระองค์ทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายว่าหากช้างเชือกนั้น หยุดลงตรงที่ใดก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ซึ่งช้างเชือกดังกล่าวได้มาหยุดลงตรงยอดดอยสุเทพแห่งนี้ จึงได้สร้างเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูง ย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยม ปิดด้วยทองจังโก 2 ชั้น ซึ่งก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา บรรจุพระสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่และพุทธศาสนิกชนจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
- คำนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ทิศเหนือ : ปัญญะวา อัสมิงเยวะ จันทิมา อิวะธารยัง ปีฏะกัตตะเย สาสนะนีย์ ยานิเกติฯ
ทิศใต้ : ปะฐะมัง อุปัชฌัง คาหาเปตวา ปัตตะจีวรัง ยัง ยัง ชาตัง สังฆมัชเฌ ปุจฉา สุวาหฯ
ทิศตะวันออก : โมกขะปะฐะมะวะรัง อะปายะนิวาระณัง อะระหัง สัคคะโสปาณังฯ
ทิศตะวันตก : สุวัณณะเจติยัง เกสาวะระมัตถุลุงคัง วะรัญญะธาตุง สุเทวะนามะกัง นะระ
- อานิสงส์ที่ได้รับ : จะมีแต่ความสำเร็จสมหวังดังปรารถนา แคล้วคลาด ผ่านอุปสรรคนานาไปได้
ที่ตั้ง : https://goo.gl/maps/tvbrzr2mEGRf7ZmP7
6. พระธาตุดอยสะเก็ด วัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง จ.เชียงใหม่
ยังอยู่กันที่จ.เชียงใหม่ มานมัสการพระธาตุดอยสะเก็ด ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุ อายุร่วม 1,000 ปี เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน โดยในเดือน 8 เป็ง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ใต้) ของทุกปี ทางวัดจะอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ลงมาจากที่ประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนสรงน้ำ และจะมีปรากฏสิ่งอันเป็นปาฏิหาริย์ทุกครั้ง
ในส่วนวัดพระธาตุดอยสะเก็ดที่ตั้งอยู่บนดอยสะเก็ด มีเรื่องเล่าบันทึกมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลว่า เมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว พระองค์ได้มาปรากฏกายทิพย์บนดอยแห่งหนึ่ง ซึ่งใกล้ๆ เป็ยหนองน้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของพญานาคสองตน พญานาคทั้งสองได้เห็นองค์พระพุทธเจ้าทรงเปล่งแสงแสดงปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์ยิ่ง พญานาคเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้แปลงกายเป็นมนุษย์ แล้วนำดอกบัวในหนองน้ำไปถวายแด่พระพุทธองค์เป็นพุทธบูชา พระองค์ทรงรับดอกบัวแล้วได้ประทานพระเกศาธาตุแก่พญานาคคู่นั้น พญานาคจึงได้ก่อกองหิน (บางขึ้นมาเพื่อบรรจุพระเกศาธาตุประดิษฐานไว้บนดอยแห่งนี้ เป็นที่มาของชื่อ “ดอยเส้นเกศ” (ดอยที่บรรจุเส้นผม หรือ เส้นเกศของพระพุทธเจ้า) แล้วถูกเรียกเพี้ยนมาเป็น “ดอยสะเก็ด” ในปัจจุบัน
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่าขณะที่พญานาคได้แปลงร่างกลายเป็นมนุษย์เพื่อนำดอกบัวไปถวายพระพุทธเจ้า พญานาคต้อง สละเกล็ด ออกเพื่อให้ผิวเรียบเนียน ชาวบ้านจึงเรียกดอยแห่งนี้ว่า “ดอยสละเกล็ด” เมื่อเวลาผ่านไปจนถูกเรียกเพี้ยนมาเป็น “ดอยสะเก็ด”
- อานิสงส์ที่ได้รับ : ไหว้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ที่ตั้ง : https://goo.gl/maps/oajRqRzPyW2Fiuve8
7) พระธาตุช่อแฮ วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
พระธาตุช่อแฮ ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของเมืองแพร่มากว่าพันปี เป็นที่บรรจุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระศอกด้านซ้าย และพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล โดยที่มาของชื่อพระธาตุช่อแฮ เชื่อกันว่าขุนลัวะอ้ายก้อมได้นำผ้าแพรมาถวายพระพุทธเจ้า และต่อมาชาวบ้านได้นำผ้าแพรชั้นดีทอจากสิบสองปันนามาผูกบูชาพระธาตุ คำว่าช่อแฮ จึงหมายถึง “ช่อแพร”
รูปแบบองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสนแบบแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยมซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดาน 1 ชั้น จนถึงองค์ระฆัง 8 เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉนส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา
ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ จากนั้นได้จัดงานสักการะ 7 วัน 7 คืน ต่อมาในปีพ.ศ.2467 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งโดยครูบาศรีวิชัยเป็นประธาน ในส่วนวัดพระธาตุช่อแฮ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ ๙ ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อปีพ.ศ. 2549
- คำนมัสการพระธาตุช่อแฮ : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ) โกเสยยะ ธะชัคคะ ปัพพะเต สัตตะมะ โนรัมเม พุทธะเกสาธาตุ ปะติฆฐิตา อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส
- อานิสงส์ที่ได้รับ : หากนำผ้าแพรสามสีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้ พลังบารมีจะดลบันดาลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
ที่ตั้ง : https://goo.gl/maps/rbWGL28nkYdN7hEYA
มากราบนมัสการ 7 พระธาตุศักดิ์สิทธิ์สร้างอานิสงค์ผลบุญและเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ชวนมาบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation บำรุงศาสนสถานสร้างบุญกุศลผ่านแอป SCB EASY มีขั้นตอนดังนี้
>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ
>> กด ‘ยอมรับ’ ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่กรมสรรพากร และ/หรือหน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เงินก็ส่งไปเข้าบัญชีวัดโดยตรง
ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้วที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจสายบุญยุคดิจิทัล
ที่มา : https://thai.tourismthailand.org
https://dhamma.mthai.com/pray/3348.html
https://www.museumthailand.com
https://www.wongnai.com/
https://www.thailandtourismdirectory.go.th/
http://www.phrae.go.th
Facebook ประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย
Facebook นครพนม Nakhonphanom