ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
น้องมีบุญ ชวนบูชาพระประจำวันเกิด
อากาศเริ่มเย็นลงแล้ว เป็นสัญญาณบอกว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงเดือนสุดท้ายของปี ในปีนี้เราเดินทางผ่านมา 11 เดือนแล้ว ใกล้จะเข้าสู่ปีหน้าฟ้าใหม่ วันนี้น้องมีบุญจึงอยากชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยววัดพร้อมบูชาพระประจำวันเกิด เพื่อความสุขทางใจ โดยก่อนออกเดินทาง เราลองมาทำความรู้จักวันทั้ง 7 กันก่อน โดยชื่อวันในภาษาไทยนั้น เราใช้ชื่อดาวนพเคราะห์ในตำราโหราศาสตร์ไทย ที่มีดวงดาว 9 ดวงอันส่งผลต่อชีวิตมนุษย์มาใช้เรียกวันต่างๆ โดยอิงจากสัญลักษณ์ตั้งแต่เลข 1 ถึงเลข 7 ดังนี้
เลข 1 คือ พระอาทิตย์ นับเป็นวันแรกของสัปดาห์ คำว่า “อาทิตย์” มาจากภาษา สันสกฤต “อาทิตฺย”หมายถึง ดวงตะวัน
เลข 2 คือ พระจันทร์ นับเป็นวันที่ 2 ของสัปดาห์ คำว่า “จันทร์” มาจากภาษา สันสกฤต “จนทร” หมายถึง ดวงเดือน
เลข 3 คือ พระอังคาร นับเป็นวันที่ 3 ของสัปดาห์ คำว่า “อังคาร” มาจากภาษา สันสกฤต “องฺคาร” หมายถึง ถ่านไฟ
เลข 4 คือ พระพุธ นับเป็นวันที่ 4 ของสัปดาห์ คำว่า “พุธ” มาจากภาษา สันสกฤต “พุธ” หมายถึง ผู้ทรงความรู้
เลข 5 คือ พระพฤหัสบดี นับเป็นวันที่ 5 ของสัปดาห์ คำว่า “พฤหัสบดี” มาจากภาษา สันสกฤต “วฺฤหสฺปติ” หมายถึง เทพที่เป็นครูของเทวดาทั้งหลาย
เลข 6 คือ พระศุกร์ นับเป็นวันที่ 6 ของสัปดาห์ คำว่า “ศุกร์” มาจากภาษา สันสกฤต “ศุกฺร” หมายถึง บุญ หรือ สุกสว่าง
เลข 7 คือ พระเสาร์ นับเป็นวันที่ 7 ของสัปดาห์ คำว่า “เสาร์” มาจากภาษา สันสกฤต “เสาร” หมายถึง ฟากฟ้า สวรรค์
จริงๆ แล้วยังมีตำนานเรื่องเล่า และความเชื่อเกี่ยวกับวันต่างๆ อีกมากมาย แต่ตอนนี้น้องมีบุญขอพาเพื่อนๆ ไปเที่ยววัดทำบุญกันก่อนดีกว่า ขอเริ่มจากวันแรกของสัปดาห์เลยก็แล้วกัน
1. วันอาทิตย์ - พระพุทธรูปปางถวายเนตร วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร คนทั่วไปมักเรียกสั้นๆ ว่า วัดสุทัศน์ สร้างขึ้นในต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปีพ.ศ.2350 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดขึ้นในพื้นที่พระนครชั้นใน และพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส ทรงโปรดให้สร้างพระวิหารเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลก่อนจะแล้วเสร็จ (จำหลัก คือการแกะสลักภาพให้เป็นลวดลาย) จนในที่สุด วัดก็สร้างเสร็จใน ปีพ.ศ.2390 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุทัศน์เทพวราราม" ดังที่ปรากฎในจดหมายเหตุ ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี", "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี"
สำหรับคนที่เกิดวันอาทิตย์ สามารถมาสักการะบูชาพระพุทธรูปประจำวันเกิด ปางถวายเนตร ที่วัดแห่งนี้ ซึ่งองค์พระนั้นประดิษฐานอยู่ในเก๋งจีน เปรียบเหมือน อนิมิสเจดีย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงยืนจ้องพระเนตรดูต้นมหาโพธิ์ โดยมิได้กะพริบพระเนตรตลอด 7 วัน ภายหลังตรัสรู้ได้ 1 สัปดาห์ โดยจัดเป็น 1 ในสัตตมหาสถานที่สำคัญอีกด้วย
ที่ตั้ง 146 ถ. บำรุงเมือง แขวง วัดราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
2. วันจันทร์ - พระพุทธรูปปางห้ามญาติหรือปางห้ามสมุทร วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
วัดราชโอรสาราม หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า วัดราชโอรส เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีขื่อเดิมว่า วัดจอมทอง หรือวัดเจ้าทอง บางคนก็อาจเรียกว่า วัดกองทอง ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ซึ่งในขณะนั้นยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงสถาปนาวัดจอมทองขึ้นใหม่ เนื่องจากเมื่อครั้งนำทัพไปสกัดพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญนบุรีโดยทางเรือ วันแรกทรงเสด็จผ่านคลองบางกอกใหญ่ และคลองด่าน ทรงหยุดประทับแรมที่หน้าวัดจอมทอง และทรงประกอบพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม พร้อมทรงอธิษฐานขอให้การไปทัพครั้งนี้ได้รับชัยชนะ หากเป็นไปตามที่อธิษฐานก็จะทรงกลับมาปฏิสังขรณ์วัดให้ใหม่ เมื่อไปถึงด่านเจดีย์สามองค์ก็ไม่ปรากฎกองทัพพม่า จึงยกทัพกลับ และทรงเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทอง ถวายเป็นพระอารามหลวงตามที่เคยตรัสไว้ ในช่วงเวลานั้น ไทยติดต่อค้าขายกับจีน จึงได้รับเอาศิลปะ และสถาปัตยกรรมแบบจีนเข้ามาผสมผสาน เป็นการสร้างนอกแบบ หรือเรียกอีกอย่างว่า ตามแบบพระราชนิยม วัดราชโอรสาราม จึงเป็นวัดแรกๆ ที่ได้รับการตกแต่งด้วยศิลปะแบบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตู ตุ๊กตาเคลือบตั้งหน้าบานประตู เจดีย์โบราณทรงถะหรือทรงจีน หน้าบันที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหลากสีสัน หรือจิตรกรรมฝาผนังของพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยลายเครื่องตั้งมงคลแบบจีน นอกจากนั้น ที่นี่ยังมีพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งธนบุรีอีกด้วย
คนเกิดวันจันทร์ สามารถมาสักการะพระพุทธรูปปางห้ามญาติ หรือปางห้ามสมุทร ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวิหารพระยืน โดยอยู่ทางซ้ายของพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะขนาดใหญ่ ศิลปะสมัยอู่ทอง โดยสันนิษฐานว่าวิหารแห่งนี้เคยเป็นพระอุโบสถหลังเก่าของวัดจอมทอง โดยมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติเป็นพระประธาน
ที่ตั้ง ถ. เอกชัย แขวง บางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150
3. วันอังคาร - พระพุทธรูปปางไสยาสน์หรือปางปรินิพพาน และวันพุธกลางคืน -
พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
หากเอ่ยถึงวัดโพธิ์ ทุกคนคงจะคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี ด้วยเป็นวัดที่มีประวัติ ความเป็นมายาวนาน มีชื่อเสียงด้านการนวดแผนไทย เป็นวัดที่เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เพราะเป็นที่รวมหลักจารึกศาสตร์หลายแขนง ถึง 1,440 ชิ้นจนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกประจำปีพ.ศ.2554 จากยูเนสโกอีกด้วย
เดิมที วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนั้น มีชื่อว่า วัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ราวปีพ.ศ.2231-2246 ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ ทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร รวมถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ของเดิมจนแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2344 และพระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” อันหมายถึง ที่อยู่อันงามของพระพุทธเจ้า วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอีกด้วย
คนเกิดวันอังคาร สามารถมาสักการะบูชาพระพุทธไสยาสน์ที่วัดแห่งนี้ได้ โดยองค์พระถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีลักษณะพิเศษคือ พระบาทซ้าย และขวาซ้อนเสมอกัน พระบาทประดับมุก 108 ประการ ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระพุทธไสยาสน์ซึ่งสร้างขึ้นในภายหลัง
สำหรับคนเกิดวันพุธ กลางคืน (18.00 น. - เช้าวันพฤหัสบดี 05.59 น.) ก็สามารถมาสักการะพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารทิศเหนือ องค์พระนั้นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งสถาปนาวัดพระเชตุพนฯ
ที่ตั้ง 2 ถนน สนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
4. วันพุธ แบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา โดยสาเหตุของการแบ่งเช่นนี้ เพราะตามหลักโหราศาสตร์ มีดวงดาวที่มีอิทธิพลสำคัญ 8 ดวง แต่เมื่อมีเพียง 7 วัน จึงได้แบ่งวันพุธออกเป็น 2 ช่วงเวลาแทน โดยวันพุธ กลางคืน ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว
สำหรับวันพุธ กลางวัน (6.00 น. - 17.59 น.) - พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร วัดอินทรวิหาร
รู้จักกันดีในชื่อ วัดหลวงพ่อโต เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ คาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีชื่อเรียกว่า วัดบางขุนพรหมนอก และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่จาก เจ้าอินทร์ ซึ่งเป็นน้าของพระสนมเอกในรัชกาลที่ 1 ชาวบ้านจึงพากันเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดอินทร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บูรณะวัด ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามให้ใหม่ว่า วัดอินทรวิหาร
คนเกิดวันพุธกลางวัน สามารถมาสักการะพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปั้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง 32 เมตร สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือหลวงพ่อโต ในปีพ.ศ.2410 แต่ยังสร้างไม่ทันแล้วเสร็จ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต ก็มรณภาพเสียก่อน ต่อมาจึงสร้างเสร็จเรียบร้อยในปีพ.ศ.2467 และได้มีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนยอดพระเกศ
ที่ตั้ง 144 ถนน วิสุทธิกษัตริย์ แขวง บางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
5. วันพฤหัสบดี - พระพุทธรูปปางสมาธิ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อว่า “วัดสะแก” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ และขุดคลองรอบพระอาราม พร้อมพระราชทานนามว่า “วัดสระเกศ” พระองค์ทรงเคยประทับ ทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อครั้งเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชา เพื่อปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีพ.ศ.2325
ปัจจุบันวัดสระเกศเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ส่วนพระเจดีย์ภูเขาทองที่เห็นเด่นชัด สร้างขึ้นตามแบบวัดภูเขาทองในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นปูชนียสถาน แต่ในการก่อสร้างสมัยนั้น ใช้ไม้ในการทำเป็นโครงพระปรางค์ขนาดใหญ่ เอาไม้ซุงปูฐานเป็นตาราง ใช้ศิลาแลงก่อขึ้นจนเสมอหน้าดิน แล้วจึงก่อด้วยอิฐ ส่วนในองค์พระปรางค์ขนาดใหญ่ ก็นำศิลาก้อนที่ราษฎรเก็บมาขายใส่ลงไป แต่การก่อสร้างด้วยวิธีนี้ ทำให้ทรุด และยุบตัวพังลงมา เมื่อก่อสร้างใหม่ก็ยังทรุดอีกเช่นเคย จึงยุติการก่อสร้างจนสิ้นรัชกาลที่ 3 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ และเสด็จวางศิลาฤกษ์ พระราชทานนามว่า “บรมบรรพต” บนยอดเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้
คนเกิดวันพฤหัสบดี สามารถมาสักการะบูชาพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ได้ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นศิลปะสมัยอยุธยา ตรงตามที่กล่าวกันว่ารัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้สร้างพอกทับพระประธานองค์เดิม โดยพระพุทธรูปมีพระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยมแบบอยุธยา พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระโอษฐ์กว้าง พระสังฆาฏิซ้อนทับแบบเดียวกับพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย และผนังพระอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพทศชาติ เทวดา ท้าวจตุโลกบาล ภาพมารวิชัย และภาพไตรภูมิด้วย
ที่ตั้ง 344 ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวง บ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
6. วันศุกร์ - พระพุทธรูปปางรำพึง วัดราชนัดดารามวรวิหาร
วัดราชนัดดารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้สถาปนาขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2389 ณ ริมคลองรอบกรุง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัส พระราชนัดดาพระองค์เดียวที่ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ดำรงพระอิสริยยศเสมอพระราชโอรสพระราชธิดา ซึ่งต่อมาพระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางนาฏ โสมนัสวัฒนาวดี บรมอัครราชเทวี พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงโปรดให้สร้างโลหะปราสาทแทนการสร้างเจดีย์ โดยโลหะปราสาทนั้น เป็นชื่อดั้งเดิมของอินเดีย หมายถึง คฤหาสน์ที่มียอดทำจากโลหะ ทั่วโลกนี้มีโลหะปราสาทเพียง 3 แห่งเท่านั้น แห่งแรกคือที่ประเทศอินเดียสร้างขึ้นในสมัยพุทธกาล ปัจจุบันได้สูญสลายไปแล้ว แห่งที่สองคือที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งปัจจุบันก็เหลือเพียงซากปรักหักพัง ส่วนแห่งที่ 3 คือที่วัดราชนัดดาวรวิหาร ซึ่งสร้างตามแบบของประเทศศรีลังกา ผสมผสานกับศิลปะ สถาปัตยกรรมแบบไทย เป็นอาคารสูง 7 ชั้น และมียอดปราสาท 37 ยอด ซึ่งหมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ (แนวปฏิบัติที่บริบูรณ์เพื่อความดับทุกข์) และที่ชั้น 7 ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอีกด้วย
คนเกิดวันศุกร์ สามารถมาสักการะบูชาพระพุทธรูปปางรำพึงที่ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในศาลาการเปรียญ สร้างโดยพระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่วัดแห่งนี้ได้
ที่ตั้ง 2 ถ. มหาไชย แขวง วัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
7. วันเสาร์ - พระพุทธรูปปางนาคปรก วัดนาคปรก
วัดเก่าแก่แห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2291 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นวัดราษฎร์ที่ร่วมกันสร้างโดยชุมชน เดิมมีชื่อเรียกว่าวัดปก ตัววัดได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลาจนเหลือแต่ซากปรักหักพัง ต่อในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีพ่อค้าเรือสำเภาชาวจีน คือ เจ้าสัวพุก แซ่ตัน หรือ พระบริบูรณ์ธนากร เดินทางมาประกอบกิจการค้าขาย และสร้างครอบครัวกับภรรยาชาวไทย เกิดความเสื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้ทำการบูรณะอุโบสถ โดยให้ช่างฝีมือชาวจีนเขียนภาพจิตรกรรมต่างๆ แบบศิลปะจีนมหายาน ดังนั้น หากได้มีโอกาสไปเที่ยวชมวัดแห่งนี้ ก็จะได้พบศิลปะการก่อสร้าง การตกแต่งแบบจีน วัดนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปีพ.ศ.2520 จากกรมศิลปากร
คนเกิดวันเสาร์ สามารถมาสักการะพระพุทธรูปปางนาคปรกที่วัดแห่งนี้ได้ โดยองค์พระนั้นเป็นพระพุทธรูปสุโขทัย ปางมารวิชัยสัมฤทธิ์ ที่เจ้าสัวพุกได้ขอพระราชทานจากรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งทรงรวบรวมองค์พระมาจากหัวเมืองต่างๆ เพื่อนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารซึ่งมีรูปปูนปั้นพญานาค 7 เศียรแผ่พังพานอยู่ด้านหลัง
ที่ตั้ง 99 ถนนเทอดไท แขวง ปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160
น้องมีบุญ พาท่องเที่ยวสุขใจ ไหว้พระ ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ขอชวนมาบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation บำรุงศาสนสถาน สร้างบุญกุศลผ่านแอป SCB EASY กันต่อ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ
>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง
ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล
และหากอยากทำบุญสุขใจเพิ่มเติม สามารถเข้าเลือกวัดที่จะทำบุญเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> /th/personal-banking/other-services/e-donation.html
ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด