แปลง "ที่อยู่เรา" เป็น "ที่พักเขา" สร้างเกสต์เฮาส์..ต้องดูอะไร

เทรนด์แปลงที่อยู่อาศัยส่วนตัว หรือชุบชีวิตบ้านหลังเก่าให้กลายเป็นเกสต์เฮาส์ โฮสเทล หรือบูติกโฮเต็ล สร้างรายได้แบบ passive income ยังคงมาแรงและเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเสียด้วย แต่จะทำยังไงไม่ให้แป้ก? เราลิสต์ประเด็นคำถามน่าสนใจ ที่ผู้ประกอบการควรตอบให้ได้และพิจารณาให้ดีก่อนจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้กันแบบเต็มตัว มาดูกันเลยว่าจะมีอะไรบ้าง


1.ทำเลที่ใช่ คือตรงไหนกันแน่?

ทำเลที่เหมาะ ไม่จำเป็นต้องติดถนนใหญ่ ใกล้รถไฟฟ้ามาก ๆ ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ติดริมแม่น้ำ ริมทะเลวิวสวยเลิศเสมอไป คุณวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ กูรูด้านบูติกโฮเต็ลเคยกล่าวไว้ว่า ‘จงลงทุนในทำเลที่เลว’ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีศักยภาพในการเช่าที่ทำเลทองราคาแพงๆ แบบนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ที่พักจะหน้าตาเป็นอย่างไร หากคนเดินทางไปถึงได้ โอกาสของธุรกิจก็รออยู่ ใครที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ไม่ต้องท้อใจไปขอให้อย่างน้อยมีการคมนาคมที่สะดวก หรือรถสาธารณะเข้าถึงได้ ที่เหลือก็สามารถนำความโดดเด่นในด้านอื่น ๆ เข้าสู้โดยเฉพาะการบริการที่ดีเยี่ยม


2.จุดเด่นของเกสต์เฮาส์ ควรเป็นเรื่องอะไร?

หลายคนมองว่าการตกแต่งที่แตกต่างจะสร้างจุดเด่นและดึงดูดแขกให้เลือกมาเข้าพักได้ จึงทุ่มเทงบจำนวนมากในการตกแต่งที่พักให้ดูสวยงาม ทันสมัย แท้จริงแล้ว การเลือกตกแต่งที่เรียบง่าย แต่ดูดี จะส่งผลดีในระยะยาวมากกว่า เพราะไม่ต้องสิ้นเปลืองงบในการเปลี่ยนสไตล์การตกแต่งบ่อยๆ ให้เข้ากระแส  ลองหยิบเอาธรรมชาติมาตกแต่งสถานที่ ช่วยสร้างบรรยากาศความผ่อนคลายเพื่อการพักผ่อนที่แท้จริง รวมถึงเน้นไปมอบการบริการที่น่าประทับใจ ความสะอาดของที่พัก แบบนี้จะช่วยสร้างประสบการณ์การเข้าพักที่ดีและน่าบอกต่อได้

3.เงินทุน ตัวแปรสำคัญ

อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องคิดกันอย่างรอบคอบที่สุดก็หนีไม่พ้นเงินทุน ผู้ที่ใฝ่ฝันจะแปลงบ้านเป็นที่พัก ต้องวางแผนการเงินให้ดีเพื่อเก็บสะสมเงินทุน และไม่ควรเก็บเงินไว้แค่ในบัญชีออมทรัพย์ ลองแบ่งเงินมาลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดี ๆ หรือมองหาโปรแกรมสินเชื่อที่มีเงื่อนไขน่าสนใจเป็นตัวช่วย หากใครไม่ได้ต้องการจะใช้ที่อยู่ของตัวเองมาแปลงเป็นที่พักให้เช่า การเลือกเฟ้นบ้านมือสองทำเลดีที่เป็นทรัพย์ธนาคารมาแปลงร่างเป็นเกสต์เฮาส์หรือโรงแรมขนาดเล็ก ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี และอาจมีข้อเสนอที่ตรงใจเราก็เป็นได้


4.กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็มองข้ามไม่ได้!

การจะแปลงที่อยู่เป็นที่พัก เรื่องกฎหมายต่างๆ ก็สำคัญ ต้องดูกันตั้งแต่ที่ดินที่จะทำ ตามกฎหมายอนุญาตให้สร้างเป็นอาคารโรมแรมได้หรือไม่ (ในกรณีที่อยากทำเป็นโรงแรมขนาดเล็ก) จำนวนห้องพักมีมากน้อยเพียงใด เช่น ตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2551 หากที่พักอาศัยมีห้องพักในหลังเดียวกันหรือหลายหลัง รวมกันไม่เกิน 4 ห้อง เก็บค่าเช่ารายวันสำหรับผู้เข้าพักอาศัย และมีคนเข้าพักอาศัยรวมทั้งหมดไม่เกิน 20 คน แบบนี้จะไม่ถือว่าเป็นโรงแรม เป็นต้น ลักษณะอาคารสิ่งปลูกสร้าง หากปรับเปลี่ยนจากของเดิม ก็ต้องศึกษาเรื่องระยะถอยร่น ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงโครงสร้างของอาคารที่จะต้องรองรับการใช้งานของคนจำนวนมากได้


จะแปลงที่อยู่เป็นที่พักไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่มีอะไรยากเกินเอื้อม หากเรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และศึกษาข้อมูลให้พร้อม โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนที่หากมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำในการจัดการบริหาร ก็จะสร้างความอุ่นใจได้มากทีเดียว