Home Care โอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตามอง

ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดการณ์ว่า ปี พ.ศ.2564 สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)  และจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2574 สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากคนไทยมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น มีลูกทั้งน้อยลงและช้าลง ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


โดยการเข้าสู่สังคมสูงวัยจะต้องมีประชากรผู้สูงวัย 20 คนต่อประชากรทั้งหมด 100 คน และหากมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด จะส่งผลให้ประเทศนั้นๆ เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดเป็นลำดับถัดไป แต่อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์สามารถแปรผันกับอัตราการเกิดของประชากรใหม่และอัตราการตายของประชากรทั่วไป


จากสถานการณ์ดังกล่าว ธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นธุรกิจที่จะตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุในประเทศไทยที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุ หมายถึง สถานบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาล มีการให้บริการที่พำนัก บริการยาแก่ผู้สูงอายุที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเป็นประจำ โดยทั่วไปจะครอบคลุมการให้บริการที่พักค้างคืน บริการอาหาร การดูแลความสะอาดเสื้อผ้าและที่พัก ตลอดจนความสะอาดของร่างกาย พร้อมทั้งติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วยจะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรับการรักษาพยาบาลต่อไป


กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้แบ่งประเภทธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุภาคเอกชนตามการให้บริการเป็น 2 มิติใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่


มิติที่1: แบ่งตามระยะเวลาที่ผู้สูงอายุเข้ารับบริการ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  • การบริการแบบเช้าไป - เย็นกลับ (Day Care) สำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองได้ และมีญาติรับส่ง
  • การบริการแบบสถานบริการดูแลระยะยาว (Long Stay) ที่ผู้สูงอายุอาศัยในสถานบริการนั้นเลย หรืออาศัยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยญาติที่ไม่มีเวลาดูแลจะนำผู้สูงอายุมาฝากดูแล และมาเยี่ยมเป็นครั้งคราว


มิติที่ 2: แบ่งตามความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  • ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้
  • ผู้สูงอายุที่อยูในภาวะพึ่งพา ทุพพลภาพ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีโรคเรื้อรัง หรือต้องการผู้บริบาลและการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด


โดยในปัจจุบันธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุมีการดูแลและการให้บริการที่ผสมผสานกันทั้ง 2 กลุ่ม


จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) พบว่า ผู้สูงอายุกว่า 90% ต้องการอาศัยอยู่ในบ้านของตนเองหลังจากที่เกษียณอายุ แต่ด้วยขนาดครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 3 คน เมื่อลูกหลานต้องออกไปทำงานจึงไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเพียงลำพัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลมากที่สุด ทั้งนี้การดูแลรักษาตัวที่บ้านมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเฉลี่ยราว 3 เท่า ทำให้ Home Care หรือ การบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านจึงเป็นทางเลือกที่ดีของผู้สูงอายุส่วนใหญ่

ธุรกิจ Home Care มีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุในสังคมไทยที่นิยมอยู่บ้าน โดยมีแนวโน้มพัฒนารูปแบบการให้บริการครอบคลุมมากขึ้น ไม่ใช่แค่การให้บริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ธุรกิจ Home Care ยังเป็นธุรกิจที่ให้บริการแบบครบวงจรทั้งในเรื่องของการดูแลบ้าน (Homemaking) เช่น การทำความสะอาด ทำงานบ้านต่างๆ การเตรียมอาหารให้ผู้สูงอายุ รวมทั้งยังดูแลในด้านจิตใจของผู้สูงอายุอีกด้วย ธุรกิจ Home Care ในประเทศไทยจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง มีการบริหารจัดการง่าย โดยสิ่งสำคัญที่ธุรกิจนี้ต้องการคือ ผู้ดูแลที่มีคุณภาพและมีทักษะพยาบาล


ข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้า (พ.ย. 60) พบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุราว 800 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 200 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,282.97 ล้านบาท และเป็นบุคคลธรรมดาราว 600 ราย มีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพบริหารจัดการจำนวน 75 ราย (นิติบุคคล 35 ราย และบุคคลธรรมดา 40 ราย) แต่หากนำจำนวนธุรกิจมาเปรียบเทียบกับสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว จะเห็นว่ายังมีช่องว่างถึงความต้องการของตลาดอยู่มากและนับว่ามีโอกาสอีกมากมายที่ผู้สนใจจะเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวได้


อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย คือ

  • การดูแลผู้สูงอายุเป็นงานบริการที่ต้องใช้ความอดทน ความเข้าใจ ต้องมีความรู้ด้านการพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาล ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งหลักสูตรระยะสั้น (70 ชั่วโมง) - ระยะยาว (420 ชั่วโมง) ที่จัดโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • งานดูแลผู้สูงอายุมีลักษณะงานที่ซ้ำเดิม ดังนั้นเมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งก็ต้องการเปลี่ยนงาน ทำให้บุคลากรด้านการดูแลผู้สูงอายุขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง ไม่ทันตามความต้องการของตลาด ที่จำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มสูงขึ้น
  • สถานบริการดูแลผู้สูงอายุบางแห่งยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร การดำเนินงานยังคงพบปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ


กล่าวโดยสรุป ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมีความน่าสนใจและยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในระยะยาว ผู้ที่สนใจจะเริ่มลงทุนทำธุรกิจจึงควรศึกษามาตรฐานของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุให้ดี เพื่อที่จะได้ตัดสินใจเลือกทำธุรกิจที่ตนเองมีความสนใจ และสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร