ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ความกล้า มองไกล หัวใจสู่ทางรอดในยุค Disruption ตอนที่ 1
ความเปลี่ยนแปลงแห่งศตวรรษที่ 21 ไม่มีอะไรจะสั่นสะเทือนโลกได้เท่ากับ “การ Disruption จากเทคโนโลยีดิจิทัล” ที่ทำให้ธุรกิจเดิม ๆ ที่เคยประสบความสำเร็จมาตลอดก่อนหน้านี้ ต้องหยุดชะงักและล้มหายตายจากไป เช่นการเข้ามาของ E-Commerce กระทบธุรกิจค้าปลีกแบบเดิม, Fin-Tech กระเทือนถึงธุรกิจธนาคารการเงิน, Digital Content แบบใหม่อย่าง Netflix แซงหน้าบล็อกบัสเตอร์ และกำลังเขย่าฮอลลีวู้ด ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กำลังเกิดขึ้นในทุกที่อย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ
แม้ว่า Disruption ดูเป็นคำพูดสมัยใหม่ แต่แก่นใจความกลับไม่ใช่สิ่งใหม่ มันคือความจริงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาแล้ว คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้เขียนหนังสือ Future - ปัญญาอนาคต มองการ Disruption ธุรกิจเปรียบกับประวัติศาสตร์การเสียกรุงครั้งที่ 2 ซึ่งกรุงศรีอยุธยาถูก disrupt จากการติดยึดในความเชื่อเดิม ๆ พึ่งพาฟ้าฝนในฤดูน้ำหลากให้รอดพ้นจากภัยข้าศึก ซึ่งเป็นกลยุทธ์เคยที่ได้ผลมาในการศึกครั้งก่อน ๆ แต่เมื่อเจอแผนการศึกพม่าครั้งสุดท้ายที่เหนือกว่ามา disrupt โจมตีตัดกำลังสนับสนุนจากหัวเมืองเหนือใต้ ล้อมกรุงไว้อย่างไม่หวั่นฟ้าฝน แนวคิดพึ่งพาน้ำหลากแบบเดิม ก็ไม่อาจช่วยกรุงศรีอยุธยาที่รุ่งเรืองมา 417 ปีพ้นจากความหายนะจากการถูก disrupt ได้
บทเรียนการเสียกรุง คือการที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังถูก disrupt จึงไม่อาจประเมินสถานการณ์ภัยคุกคามได้ ขณะนั้นคนที่มองออกว่าอยุธยากำลังถูก Disrupt คือ “พระยาตาก” หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ผู้กอบกู้เอกราชสยาม พระยาตากในขณะนั้นตระหนักถึงภัยของการ disrupt และตระหนักว่าไม่สามารถใช้ Model การศึกเดิม กอบกู้กรุงศรีอยุธยาได้ จึงนำทัพตีฝ่าวงล้อมพม่า มาตั้งหลักที่เมืองจันทบุรี จนเป็นที่มาของคำกล่าว “ทุบหม้อข้าวตีเมือง” และกอบกู้เอกราช สถาปนากรุงธนบุรี สิ่งนี้แสดงถึงความกล้าหาญ จิตวิญญาณของสตาร์ทอัพ (Start up Spirit) และการคิดแบบใหม่ พร้อมทั้ง Reinvention สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ไม่หวนกลับมาที่อยุธยาแม้ว่าอดีตจะรุ่งเรืองแค่ไหน
คุณภิญโญ กล่าวสรุปสิ่งสำคัญของจิตวิญญาณยุค Disruption คือความเป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงรวดเร็วตลอดเวลา การยึดมั่นถือมั่นกับความสำเร็จเดิม เป็นอุปสรรคขัดขวางการรอดจากภัย Disruption ความกล้าที่จะทิ้งความสำเร็จเดิม เชื่อมั่นพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง สร้างสรรค์ตัวเองขึ้นมาใหม่ คิดวางแผน มองการณ์ไกล เป็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยเพื่อก้าวไปสู่อนาคต
ความกล้า...ก้าวแรกสู่ทางรอด
หากเปรียบชีวิตเป็นการเดินทางในท้องทะเล ความกล้าหาญเป็นหัวใจสำคัญในการฝ่าฟันโต้คลื่นลมฝนที่ซัดสาดเข้ามาในชีวิต เหมือนกับเรื่องราวของคุณจิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท BNK48 จำกัด ผู้ปลุกปั้นวงเกิร์ลไอดอล BNK48 ที่นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก คุณจิรัฐ พาณิชย์นาวีผู้ผันตัวจากกัปตันเรือเดินทะเล ผ่านวงการอีคอมเมิร์ซ มาสู่ธุรกิจจัดจำหน่าย DVD/VCD บริษัทโรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัดที่เป็นธุรกิจครอบครัวภรรยา มองเห็นภัยที่จะ disrupt ธุรกิจ DVD/VCD มาตลอดและคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้รอดจากภัยคุกคามนี้ และความกล้าในการเริ่มต้นกับ “BNK 48” ก็คือทางรอดนั้น
“ด้วยความที่ทำธุรกิจกับญี่ปุ่นมาตลอด ผมมองเห็นโอกาสของโมเดลธุรกิจแบบ ABK48 ที่ดังในญี่ปุ่นมาตลอด 13 ปี” คุณจิรัฐเล่าถึงจุดเริ่มต้นไอเดียการนำโมเดล ABK48 ของญี่ปุ่น มาทำเป็นวงน้องสาว BNK48 ในไทย “โมเดลศิลปินแบบนี้จะคล้ายสไตล์การบริหารงานสโมสรฟุตบอล ที่ไม่ยึดโยงตัวบุคคลเป็นหลัก แต่อยู่ได้ด้วยฐานแฟนคลับ พัฒนา Talent พร้อมกันหลายๆ คนและนำเสนอ talent ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา”
BNK48 ที่เป็นสินค้าของคุณจิรัฐ ไม่ใช่ศิลปินที่ดูดีสมบูรณ์แบบแล้ว แต่เป็น “เรื่องราว” (Story) ของเด็กสาวธรรมดากลุ่มหนึ่งที่มีความฝันมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองจนเป็นศิลปินไอดอล ด้วยความเชื่อว่า “การได้เห็นพัฒนาการ” สนุกกว่าภาพที่สมบูรณ์แบบเรียบร้อย “เหมือนสมัยก่อนเราดูหนังจีนที่พระเอกตอนแรกไม่เก่ง แล้วต้องฝึกวิทยายุทธ์ ลำบากต่างมากมายกว่าจะสำเร็จเป็นจอมยุทธ์ ตอนที่ฝึกฝนวิชานั่นแหละที่สนุกที่สุด” โดยคุณจิรัฐก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความพยายามของน้องๆ นี้ผ่าน Social Media เช่น Youtube IG เสริมด้วย Content อย่างหนัง ละคร รายการทีวี Digital Live Studio ฯลฯ ไปสู่กลุ่มแฟนคลับ ซึ่งก็ได้สร้างความผูกพัน (Bonding) ความมีส่วนร่วม (Engagement) จากกลุ่มแฟนคลับที่เอาใจช่วยน้องๆ ให้ประสบความสำเร็จอย่างต้องการ
แน่นอนว่าโมเดลการบริหารศิลปินแบบนี้ไม่มีมาก่อนในเมืองไทย Business Model เก่าๆ จึงใช้ไม่ได้กับ BNK48 หัวใจสำคัญคือการบริหารจัดการศิลปินให้เชื่อมโยงกับแฟนคลับมากที่สุด ผ่านการสื่อสารให้มากที่สุด และนำมาสร้างรายได้ “แฟนคลับมีค่ามาก เป็นการเปลี่ยน engagement มาเป็นยอด Sales ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้คือ Key Success Factor” คุณจิรัฐกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจเลยจะมีปรากฎการณ์ “งานจับมือ BNK 48” ที่แฟนคลับหลายหมื่นคนซื้อ “บัตรจับมือ” ต่อคิวข้ามวันเพื่อจะได้จับมือสัมผัสน้องๆ ไอดอลอย่างใกล้ชิด และสินค้าอะไรที่ BNK 48 เป็นพรีเซนเตอร์ก็ขายหมดอย่างรวดเร็ว
สำหรับก้าวต่อไปของ BNK48 คือการมุ่งสู่ตลาดจีน คุณจิรัฐมองว่าการจะก้าวเข้าไปแข่งในตลาดใหญ่อย่างจีน ต้องมีคอนเท้นต์ที่ดีมาก “ในการรบ ถ้า Talent เหมือนขุนศึก Content ก็เหมือนม้าศึก” สำหรับ BNK48 คอนเทนต์ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงอย่างเดียว จะเป็นหนัง ละคร เกม สารคดี Digital Content อะไรก็ได้ การมีผสมผสานคอนเทนต์หลายๆ อย่างจะทำให้ talent ดู real เป็นคน มีมิติ เป็นไอดอลมากขึ้น ทำให้การติดตามสนุกมากขึ้น
เรื่องราวความมหัศจรรย์ของไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป BNK48 คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าความกล้าไม่เกิดในใจของคุณจิรัฐ “ความกล้า (เริ่มต้นทำ BNK) มาจากความกลัว (การ disrupt ธุรกิจ DVD/VCD) ความกลัวทำให้กล้าตัดสินใจทำสิ่งใหญ่ๆ หัวใจสำคัญ คือ ต้องรอด” คุณจิรัฐกล่าวปิดท้าย
ความเชื่อจุดเริ่มต้นของความกล้า
“การสร้างหนังมีความเสี่ยงมาก หาเงินกู้มาทำยากมาก เพราะมันคาดเดาความสำเร็จไม่ได้เลย” คุณเก้ง จิระ มะลิกุล ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างมือทองแห่งค่าย GDH กล่าวด้วยใบหน้าแฝงรอยยิ้มตลอดเวลา แม้ชื่อจิระ มะลิกุลจะอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากมายอย่าง แฟนฉัน รถไฟฟ้ามาหานะเธอ กวนมึนโฮ ลัดดาแลนด์ พี่มากพระโขนง “แต่ก็มี (หนัง) เรื่องที่ไม่อยากพูดถึงก็เยอะนะ” คุณเก้งเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
ในเมื่อมีความเสี่ยงเยอะขนาดนี้ แล้วอะไรผลักดันคุณเก้งกล้าเสี่ยง “สำหรับคนทำหนัง ความกล้าเกิดจาก passion ที่อยากให้เกิดหนังเรื่องนี้” “มันก็เหมือนธุรกิจอื่นๆ เราต้องชอบก่อน อินกับมัน มันก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ” แล้วความกล้ามาจากไหน? “ความกล้าที่เชื่อมั่นในบางอย่าง” คุณเก้งกล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น “อย่างตอนทำเรื่องแฟนฉัน ใครๆ ก็บอกว่าเจ๊งแน่ หนังเด็กเป็นหนึ่งในข้อต้องห้ามของการสร้างหนังไทย ชื่อก็ไม่ติดหู ดาราก็ไม่มี แล้วตอนเข้าโรงก็ไปดันไปชนกับนีโม่ แต่ปรากฏว่าฉายวันแรกนีโม่ทำรายได้สูงสุดทุกประเทศทั่วโลก ยกเว้นประเทศไทย” คุณเก้งกล่าวอย่างภูมิใจถึงความสำเร็จของแฟนฉันที่กวาดรายได้ถล่มทลายเป็น Talk of the Town ในช่วงเวลานั้น “ที่แฟนฉันประสบความสำเร็จเพราะเรา “เชื่อ” ในความรักวัยเด็กท่ามกลางบรรยากาศ 80 มันโดน เราเชื่อว่ามีคนชอบอะไรแบบนี้เหมือนๆ กัน” และสำคัญที่สุดความเชื่อจะเป็นแรงผลักดันไปสู่ความสำเร็จ “ความกล้ามันอยู่เบื้องหลังความเชื่อ ทำให้มีแรงในการโต้คลื่น อะไรที่ยังไม่เคยทำ จะมีคำพูดด้านลบ มีอุปสรรคตลอดเวลา ถ้าโต้คลื่นไม่ดี สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าโต้คลื่นดี สิ่งนั้นจะเกิดขึ้น” คุณเก้งกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : งานสัมมนา “พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต THE REINVENTION” 29 สิงหาคม 2561