ค่าเงิน เกี่ยวอะไรกับตลาดหุ้น

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้น ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน โดยถ้าค่าเงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่าขึ้น การวางกลยุทธ์ การลงทุน จะมีความแตกต่างกัน เพราะหากค่าเงินมีเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อตลาดโดยรวม เช่น ดัชนีหุ้น การเข้าออกของนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น


จากการศึกษาผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อดัชนีหุ้นไทยในอดีตที่ผ่านมา โดย Tsai, I-C. (2012). The relationship between stock price index and exchange rate in Asian markets: Aquantile regression approach. Journal of International Financial Markets, Institutions & Money, 22, pp. 609-621. ในช่วงเดือนมกราคมปี 2546 – สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2556 พบว่าอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐเทียบกับเงินบาท และยูโรเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มีผลต่อดัชนีหุ้นไทย ดังนี้


หากเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า จะทำให้เม็ดเงินของนักลงทุนต่างต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทย มีผลทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง ขณะเดียวกันการถือเงินบาทไว้ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน


หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทำให้ดัชนีหุ้นปรับขึ้น ขณะที่นักลงทุนต่างชาติได้รับกำไร 2 ต่อ คือ กำไรจากการแข็งค่าของเงินบาท และกำไรจากการปรับขึ้นของราคาหุ้น


กรณีตัวอย่าง ช่วงต้นปี 2543 ดัชนีหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับประมาณ 470 จุด ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับประมาณ 37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่นับตั้งแต่กลางปีดังกล่าวเป็นต้นมา ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงที่ระดับ 44 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวนับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงก่อนเกิดวิกฤติซับไพรม์ ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องและปิดที่ 858 จุดในเดือนธันวาคมปี 2550 ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อ 1ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงเกิดวิกฤติซับไพรม์ ตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบ โดยสิ้นเดือนธันวาคมปี 2551 ดัชนีหุ้นไทยซื้อขายที่ 449 จุด เงินบาทอ่อนค่าลงสู่ระดับ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อผ่านพ้นช่วงภาวะวิกฤติ ดัชนีหุ้นไทยก็ขยับขึ้นอีกครั้ง ขณะที่เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน


อย่างที่ได้อธิบายไปข้างต้น เงินบาทแข็งค่าขึ้นจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย เพราะจะได้รับกำไร 2 ต่อ เช่น วันที่ 1 มกราคมปี 2560 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,300.98 จุด ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.83 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ สมมติว่านักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามา 2,000,000 ดอลล่าร์สหรัฐ แลกเงินบาทได้ 71,660,000 บาท จากนั้นซื้อหุ้นไทย


จนกระทั่งวันที่ 30 กันยายนปี 2561 นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจขายหุ้นไทย ขณะนั้นดัชนีหุ้นปิด 1,756.41 จุด ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.39 บาท จะได้รับผลตอบแทนจากการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้น 455.43 จุด (1,756.41 – 1,300.98) หรือ 35.01% และเมื่อแลกเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐ จะได้เท่ากับ 2,212,411.24 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 10.62% ดังนั้น รอบนี้นักลงทุนต่างชาติได้กำไรจากการลงทุนทั้งสิ้น 45.63%


ดังนั้น หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มมากขึ้น ผลก็คือ ดัชนีหุ้นและราคาหุ้นปรับขึ้น ปริมาณการซื้อในแต่ละวันอยู่ในระดับสูง บรรยากาศการลงทุนมีความคึกคัก ทำให้เกิดนักลงทุนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้ามหากเงินบาทมีค่าอ่อนตัวลง กดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นปรับลดลง


อย่างที่เกริ่นเอาไว้ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งสำหรับการพิจารณาเพื่อตัดสินใจลงทุน ดังนั้น ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ที่สำคัญขณะที่เงินบาทอ่อนค่าก็มีหุ้นที่ได้รับประโยชน์โดยตรง เช่น หุ้นกลุ่มส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศ


เช่นกัน มีหุ้นบางตัวที่น่าลงทุนในช่วงเงินบาทแข็งค่า เช่น ธุรกิจที่ขายสินค้าในประเทศ ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขาย หรือธุรกิจที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาผลิตแล้วขายสินค้าในประเทศ


ดังนั้น หากประเมินแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนได้จะทำให้เข้าใจทิศทางตลาดหุ้น และสามารถวางกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ ผลที่ตามมาก็คือ ความสำเร็จจากการลงทุน