เวียดนาม…ความหวังของภูมิภาค

วันนี้…แม้ว่าเวียดนามยังเป็นตลาดชายขอบ (Frontier Market) แต่ในอนาคตมีโอกาสที่ประเทศจะก้าวขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) และเงินลงทุนอื่นๆ ให้ไหลเข้าเวียดนามอีกจำนวนมาก ด้วยศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ ทำให้เวียดนามพร้อมที่จะเป็นประเทศแห่งความหวังของภูมิภาคเอเชียได้ไม่ยาก


ประเทศเวียดนามสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมาอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมาจากศักยภาพการเติบโตของประเทศ และความได้เปรียบด้านค่าแรงที่ค่อนข้างถูก รวมถึงการกีดกันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้เวียดนามก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะส่วนหนึ่งของ Supply Chain โลกที่สำคัญของภูมิภาค ไม่เพียงแค่ภาพในอดีตที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเวียดนาม แต่ภาพในอนาตของเวียดนามเองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน


โดยทั้งนี้ในช่วงปี 2021-2025 รัฐบาลเวียดนามยังได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ค่อนข้างสูงที่ระดับ 6.5-7.0% ต่อปี โดยจะมาจากการขยายตัวภาคผลิตและอุตสาหกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้รัฐบาลมีการตั้งเป้าการขาดดุลการคลังไว้ที่ 4% ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย


หรือหากเราพิจารณาจากคาดการณ์ของ IMF ก็จะเห็นว่า IMF เองก็คาดการณ์ว่าขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามจะมีการขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศอาเซียนในปี 2022 และ 2023 เช่นกัน โดยในปี 2022 GDP เวียดนามคาดว่าจะขยายตัวที่ 5.5% เทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนที่ขยายตัวประมาณ 5.2% และในปี 2023 GDP เวียดนามจะขยายตัวที่ 6.5% ในขณะที่ IMF คาดการณ์ตัวเลขของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ 4.9% 


แรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกด้านที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามคือ โครงสร้างและจำนวนประชากร เวียดนามมีประชากรประมาณ 100 ล้านคน โดยเป็นประชากรในวัยแรงงานและที่กำลังจะเข้าวัยแรงงานในสัดส่วนที่สูง ทำให้ปริมาณแรงงานในประเทศมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องไปจนถึงประมาณปี 2040 ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัวในระยะต่อไป อีกทั้งยังจะสร้างแรงกระเพื่อมส่งผลให้รายได้ต่อคนของเวียดนามมีแนวโน้มสูงขึ้น ขนาดเมืองขยายตัวมากขึ้น (Urbanization) อีกด้วย

vietnam-regional-hope-01

นอกจากนี้ประเทศเวียดนามยังมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะสามารถหนุนกำลังซื้อให้โตต่อเนื่องได้ ปัจจัยด้านการส่งออกของประเทศเองก็มีแนวโน้มที่ดี โดยสัดส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นจาก 40% ในปี 2000 เป็น 86% ในปี 2020 และมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น จากการมีสัดส่วนการส่งออกที่ค่อนข้างสูง สถานะบัญชีเดินสะพัดของประเทศที่แข็งแรง พึ่งพาการกู้เงินจากนักลงทุนต่างชาติต่ำ ทำให้สถานะทางการคลังแข็งแรงและมีเสถียรภาพ


เวียดนามก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเหมือนกับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดเมืองโฮจิมินห์และเมืองอื่นๆ จากดัชนี Apple Mobility ที่ชี้วัดปริมาณการทำกิจกรรมนอกบ้านของประชาชน ก็ปรับตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปลายปี 2021 แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มเข้าใกล้ภาวะปกติ  


ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนของชาวเวียดนามที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม และครบ 2 เข็มแล้วสูงถึง 80% และ 70% ตามลำดับ คาดว่าการดำเนินมาตรการของรัฐบาลจะไม่ได้กลับไปปิดเมืองเหมือนช่วงก่อน ซึ่งจะผลักดันทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อไป


แม้ว่าการลงทุนในตลาดเวียดนามยังมีข้อจำกัดการเรื่อง Foreign Ownership ของนักลงทุนต่างชาติอยู่บ้าง แต่การลงทุนในตลาดหุ้นของเวียดนามก็เปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน ตลาดหุ้นมีสภาพคล่องที่สูงขึ้นกว่าในอดีต โดย บลจ.ไทยพาณิชย์ มีกองทุนที่ลงทุนในประเทศเวียดนามในรูปแบบกองทุนรวมทั่วไปและกองทุนรวมประหยัดภาษี RMF โดยการบริหารกองทุนมีจุดเด่นที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Active ไม่ได้อิงกับดัชนีตลาดหรือตัวเทียบวัดใดๆ การจัดสรรเงินลงทุนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ลงทุนในหุ้นรายตัว, ETF และ Master Fund ต่างประเทศ


ทั้งนี้ เพื่อกองทุนสามารถสร้างโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวและมีสภาพคล่อง (Liquidity) ที่เพียงพอ อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุน เพื่อรองรับความผันผวนของตลาด


กล่าวโดยสรุป ประเทศเวียดนามมีศักยภาพในการเติบโตในหลายมิติ มีปัจจัยการสนับสนุนจากหลายด้าน ทั้งจากการบริโภคภายในประเทศ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนตรงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต และจะส่งผลให้หลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่กองทุนลงทุนมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว


ข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565


บทความโดย คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส Chief Investment Officer บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด


ที่มา : The Standard Wealth