เปิดโผกองทุนเด็ด สูตรสำเร็จกระจายลงทุนหุ้นทั่วโลก

การควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน จากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่ลดลง ประกอบกับการกระจายตัวของการฉีดวัคซีนที่เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขประชากรทั่วโลก ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ของผู้ได้รับวัคซีนอยู่ที่ 20.79% นำโดยจีน 62.82% สหรัฐฯ 52.1% ยุโรป 44.43% และญี่ปุ่น 14.58% ของจำนวนประชากร


ล่าสุดในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ก็ได้ประกาศให้ประชาชนไม่ต้องเว้นระยะห่าง สามารถออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติโดยไม่ต้องสวมหน้ากากหลังจากกระจายวัคซีนครอบคลุมประชากรได้ถึง 70% ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง และจากการที่เศรษฐกิจกำลังจะกลับเข้าสู่สภาวะปกตินี้คาดว่าจะเป็นผลดีกับตลาดหุ้นโดยเฉพาะการลงทุนในประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนสูง สำหรับตลาดหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากที่กล่าวข้างต้นมีหลายตลาดหุ้นที่น่าสนใจ เช่น


ตลาดหุ้นจีน นับว่าเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ก็สามารถควบคุมและจัดการสถานการณ์ภายในประเทศได้เป็นประเทศแรกเช่นเดียวกัน ด้วยกำลังการบริโภคภายในประเทศเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนได้รับแรงกดดันจากนโยบายลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจากธนาคารกลางจีนก่อนประเทศอื่น รวมถึงแรงกดดันจากรัฐบาลจีนต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม จีนยังคงมีแนวโน้มเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการประมาณการเติบโตของ GDP ในปี 2564 อยู่ที่ 8.4% ร่วมกับการเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางเทคโนโลยีโลก ประกอบกับมูลค่าตลาดหุ้นจีนยังคงต่ำกว่าตลาดหุ้นพัฒนาแล้วอย่างมาก จึงคาดว่าตลาดหุ้นจีนยังคงมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุนได้ในอนาคต

successful-diversification-of-stock-investments-01

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดและการกระจายวัคซีน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดี โดยตัวเลขดัชนีรวมผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคการผลิต (Manufacturing PMI) และภาคการบริการ (Service PMI) มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในแดนขยายตัวที่ 64.2 และ 64 จุดในเดือนพฤษภาคม 2564 ตามลำดับ ประกอบกับการฟื้นตัวในตลาดแรงงานทั้งตัวเลขผู้ยื่นขอรับสวัสดิการครั้งแรก และผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องมีแนวโน้มลดลง ถึงแม้จะมีความเสี่ยงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบและการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ยังคงคาดการณ์ว่าประมาณการผลตอบแทนบริษัทจดทะเบียนในอนาคตจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นโดยรวม ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีสัดส่วนสูงถึง 26.45% โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตที่สูงในอนาคต


ตลาดหุ้นยุโรป จากการที่มีจุดเด่นในการมีสัดส่วนหุ้นกลุ่มมูลค่า (Value Stock) และหุ้นกลุ่ม Real Economy เป็นสัดส่วนหลักในตลาด ซึ่งได้รับประโยชน์อย่างมากจากการกลับมาเปิดกิจกรรมเศรรษฐกิจ และการอนุญาตประชาชนเดินทางระหว่างประเทศได้ อีกทั้งยุโรปยังถือเป็นประเทศที่มีความล่าช้าในการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ จึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ยังคงมีศักยภาพในการเติบโตของตลาด ในขณะที่มูลค่าตลาดหุ้นยุโรปเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากตลาดยุโรปได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน


ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในขณะนี้ญี่ปุ่นเองก็กำลังเร่งกระจายวัคซีนถึงแม้จะเริ่มช้ากว่าประเทศอื่น แต่อัตราการเร่งกระจายการฉีดก็สามารถทำได้ค่อนข้างเร็ว เห็นได้จากสัญญาณบวกจากการชะลอลงของจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการกลับมาฟื้นตัวได้ ถึงแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันในเรื่องของการแพร่ระบาดในระลอกที่สี่ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องประกาศมาตรการฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ถึงวันที่ 20 เมษายน 2564


ปัจจุบันนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในตลาดหุ้นเหล่านี้ได้ง่ายๆ โดยการลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนีหรือ Index Fund ซึ่งมีการเคลื่อนไหวของดัชนีเทียบเคียงกับดัชนีอ้างอิงตามกองทุน เช่น

  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) – SCBCHA เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ ChinaAMC CSI 300 Index ETF (กองทุนหลัก) มีนโยบายลงทุนในหุ้นบริษัทในจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี CSI 300 เพื่อให้ผลการดำเนินงานใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี 
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นจีน (ชนิดสะสมมูลค่า) – SCBCEH เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Hang Seng China Enterprises Index ETF (กองทุนหลัก) มีนโยบายลงทุนในหุ้นบริษัทจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในฮ่องกง เพื่อให้ผลการดำเนินงานใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (ชนิดจ่ายเงินปันผล) – SCBS&P500 เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน SPDR S&P 500 ETF Trust ซึ่งมีการบริหารจัดการแบบ passive มีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี S&P500  
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส ดีเจไอ – SCBDJI(A) เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี Dow Jones Industrial Average ซึ่งประกอบไปด้วย Blue Chip หรือหุ้นบริษัทขนาดใหญ่และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมจำนวน 30 ตัว ที่มีการซื้อขายใน New York Stock Exchange และ Nasdaq
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (ชนิดจ่ายเงินปันผล) – SCBEUEQ เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ iShares STOXX Europe 600 (DE) (กองทุนหลัก) มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี STOXX Europe 600 เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดไม่จ่ายเงินปันผล) – SCBNK225 เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Nikkei 225 Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นทั้งหมด และหุ้นที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิคเคอิ 225


การกระจายการลงทุนในต่างประเทศนับว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นการสร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเข้าลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากตลาดหุ้นในประเทศ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี เป็นต้น


นอกจากนี้ยังช่วยลดการกระจุกตัวในการลงทุนแต่เพียงในประเทศที่ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ ดังนั้นการกระจายการลงทุนไปยังประเทศที่มีความชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาดและการกระจายวัคซีน รวมไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรประเมินความเสี่ยงที่รับได้ของตนเองก่อนลงทุน เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนในกองทุนดัชนีต่างประเทศมีความเหมาะสมกับเราก่อนที่จะเริ่มลงทุน


บทความโดย คุณยุทธพล วิทยพาณิชกร Executive Director, กลุ่มจัดสรรสินทรัพย์ และกองทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด


*
ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2564


ที่มา : The Standard Wealth