ลงทุนช่วงนี้ต้องใช้ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ ปั้นพอร์ตเน้นกระแสเงินสด

“ช่วงนี้ลงทุนอะไรดี” เป็นคำถามยอดฮิตที่ผู้ลงทุนถามมาบ่อยครั้ง ซึ่งถ้าพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมที่มีต่อการลงทุนแล้ว ผมมองว่าถ้าท่านรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ การลงทุนในต่างประเทศด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และตุนกระแสเงินสดในพอร์ตไว้ระดับสูง ก็ยังเป็นคำตอบสำหรับช่วงที่เหลือของปี 2566


ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอัตราเงินเฟ้อกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่จะยังไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา คาดหวัง ซึ่งเป็นผลจากเงินเฟ้อพื้นฐานยังปรับลดลงช้ามาก เนื่องจากภาคบริการเผชิญภาวะค่าแรงสูง การว่างงานต่ำ แรงงานยังตึงตัว โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงชัดเจนในไตรมาส 2/67


ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีความกังวลกับเสถียรภาพสถาบันการเงินในสหรัฐฯ มากขึ้น จากการที่กลุ่มนี้ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือ มีงบดุลอ่อนแอลง มีการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดขึ้น และสัดส่วนบริษัทที่ล้มละลายในสหรัฐฯ สูงขึ้น ดังนั้นมองไปข้างหน้า ดอกเบี้ยอาจใกล้จบรอบของการปรับขึ้นแล้ว โดยอาจเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในอัตราที่น้อยมาก สอดคล้องกับที่ Bloomberg Consensus คาดว่า Fed มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยระดับ 5.25-5.50% ช่วงที่เหลือของปีนี้   


ในส่วนของ SCB CIO มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงไประยะหนึ่ง เนื่องจากเงินเฟ้อยังไม่กลับสู่เป้าหมาย และเริ่มปรับลดลงในไตรมาส 2/67 ดังนั้น 9 เดือนจากนี้จึงเป็นโอกาสการลงทุนเพื่อรับประโยชน์จากดอกเบี้ยระดับสูง และมีแนวโน้มปรับลดลงในระยะข้างหน้า


นอกจากนี้ แนวโน้มดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันที่สูงกว่าดอกเบี้ยสกุลเงินบาท และมองไประยะข้างหน้าก็จะเป็นเช่นนี้ต่อไป ต่างจากสถานการณ์ในอดีตที่ดอกเบี้ยสกุลเงินบาทสูงกว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐน่าสนใจกว่าการลงทุนในไทย และผลิตภัณฑ์การลงทุนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐก็มีความหลากหลายมากกว่า ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง


ผมมีตัวอย่างของผลิตภัณฑ์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนน่าสนใจกว่าผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันที่เป็นสกุลเงินบาท สำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงินบนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 5.0% ต่อปี ในขณะที่สกุลเงินบาท ผลตอบแทนประมาณ 1.68% ต่อปี


ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงปานกลางและมุ่งรักษาเงินลงทุน เช่น Double Shark-Fin Note หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงแบบรักษาเงินลงทุน อายุการลงทุน 1 ปี ที่เหมาะกับตลาดที่ยังมีความผันผวน สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐให้ผลตอบแทนประมาณ 0-15% ต่อปี สกุลเงินบาทให้ผลตอบแทนประมาณ 0-10% ต่อปี และผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูง เช่น KIKO ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงที่อ้างอิงการเคลื่อนไหวของหุ้นที่มีมุมมองเคลื่อนไหวในกรอบแคบ (Sideway) เมื่อสิ้นสุดสัญญาได้รับคืนเงินต้นในรูปแบบเงินสดหรือหุ้นอ้างอิง โดยมีเงื่อนไขเรื่องราคาปรับลดลงไปถึงระดับราคาต่ำสุดที่ตกลงกันไว้ (Knock-in) เป็นตัวช่วยลดโอกาสการรับหุ้น ซึ่ง KIKO สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐให้ผลตอบแทนประมาณ 15-25% ต่อปี ขณะที่สกุลเงินบาทให้ผลตอบแทนประมาณ 6-10% ต่อปี

2198005589

อย่างไรก็ตาม ทุกท่านก็ต้องไม่ลืมด้วยนะครับว่า โอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่ามาพร้อมกับความเสี่ยงจากการลงทุนที่สูงกว่าเสมอ ฉะนั้นก่อนลงทุนเวลาประเมินความพร้อมรับความเสี่ยงในการลงทุนของตัวเอง ท่านต้องพิจารณาในมุมของโอกาสการขาดทุนควบคู่ไปกับโอกาสของผลตอบแทนด้วยนะครับ


คราวนี้เมื่อท่านตัดสินใจได้แล้วว่ารับความเสี่ยงได้ พร้อมไปลงทุนในต่างประเทศ ประเด็นต่อไปที่อาจทำให้ท่านลังเล เลือกไม่ถูกว่าจะเริ่มต้นลงทุนเลยดีหรือไม่ก็คือแนวโน้มค่าเงินบาท โดยเดิมเราเคยคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าเร็ว ถึงเวลานี้เรามองว่าอาจไม่แข็งค่าเร็วและไม่อ่อนค่าจนเกินไป เนื่องจากมีปัจจัยที่หักล้างกัน


เช่น ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า มีทั้งภาคส่งออกได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจไม่ฟื้นตัวเร็วเท่าที่คาด ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับเงินหยวนมากขึ้น เพราะไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนสูงขึ้น ซึ่งเงินหยวนมีทิศทางอ่อนค่าลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงทางการเมืองเป็นแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า ส่วนปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าคือทองคำมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มขายทองคำและซื้อเงินบาท โดยจากปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.0-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นสิ่งสำคัญ


ด้วยทิศทางค่าเงินบาทเช่นนี้ ผมมองว่านักลงทุนอาจใช้กลยุทธ์การลงทุนได้ 2 รูปแบบ แบบแรกคือ อาศัยจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าระดับหนึ่งแลกเงินดอลลาร์สหรัฐสะสมไว้ในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือแบบที่สองคือ อาจเลือกรับผลตอบแทนระหว่างรอแลกอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการ ด้วยผลิตภัณฑ์ Dual Currency Note Pricing (DCI) ที่จะให้ผลตอบแทนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้าต้องการแลก


ในส่วนของนักลงทุนที่กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะลงทุนอย่างไรดี เพื่อแก้พอร์ตลงทุนที่อาจกำลังติดดอยอยู่ในเวลานี้ ผมขอให้คำแนะนำว่า หากท่านเป็นกลุ่มที่มีเงินลงทุนสูง ท่านสามารถใช้กลยุทธ์ปรับเปลี่ยนไปลงทุนในผลิตภัณฑ์อื่นที่ช่วยลดความผันผวนหรือสร้างกระแสเงินสดได้ เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่เหมาะกับมุมมองการลงทุนที่ตลาดปรับตัวในกรอบแคบ (Sideway) หรือปรับตัวสูงขึ้น (Bonus Enhanced Note) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 20-50% ต่อปี และ KIKO สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น หรือรับหุ้น ตามการเคลื่อนไหวของหุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนประมาณ 15-25% ต่อปี


สุดท้ายนี้ผมขอเน้นย้ำกับนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูงทุกท่านว่า ในช่วงที่ตลาดยังมีทิศทางไม่ชัดเจน ท่านควรสร้างพอร์ตลงทุนที่มีกระแสเงินสดอยู่ในระดับสูง เช่น ในพอร์ตควรมีการลงทุนในตราสารหนี้ ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ (Structured Note) ทั้งที่มีความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง อาทิ Structured Note ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้น โดยต้องไม่ลืมพิจารณาลงทุนขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วยครับ


คำเตือน:

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน
  • การลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นตราสารที่มีความซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป เนื่องจากเป็นตราสารที่ประกอบด้วยตราสารหนี้และอนุพันธ์แฝง (Embedded Derivatives) โดยการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงของปัจจัยอ้างอิง ความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสาร เป็นต้น
  • ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วน หากหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงชุดใดไม่ได้มีการคุ้มครองเงินต้นในจำนวนร้อยละ 100 ของมูลค่าที่ตราไว้ นอกจากนั้นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงยังเป็นตราสารที่มีสภาพคล่องต่ำและมีตลาดรองที่มีขอบเขตจำกัด ดังนั้นผู้ลงทุนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
  • การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงนี้เป็นธุรกรรมที่ไม่ใช่ ‘เงินฝาก’ และธุรกรรมการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงดังกล่าวจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากแต่อย่างใด
  • การลงทุนในผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนซึ่งมีปัจจัยอ้างอิง มีความแตกต่างจากการลงทุนในปัจจัยอ้างอิงโดยตรง จึงอาจทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนดังกล่าวมีความผันผวนแตกต่างจากราคาของปัจจัยอ้างอิงได้ ผู้ลงทุนความทำความเข้าใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนลงทุน
  • สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777

 

ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2566

 

บทความโดย คุณศรชัย สุเนต์ตา  ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)



ที่มา : The Standard Wealth