นักลงทุนจะเอาตัวรอดอย่างไร? ในวันที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น

'9 นาที’ คือเวลาที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ใช้กล่าวสุนทรพจน์ ณ การประชุมนโยบายประจำปี ในเมืองแจ็กสันโฮล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ประโยคที่กล่าวว่า “We will keep at it until we are confident the job is done.” เป็นการยืนยันว่า Fed จะสยบภาวะเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ผ่านการใช้นโยบายการเงินแบบรัดเข็มขัด ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และการลดสภาพคล่องในระบบ (Quantitative Tightening) ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกับที่หลายประเทศกำลังเผชิญ รวมถึงประเทศไทยด้วย


ภาพการลงทุนที่เกิดขึ้นและแผนดำเนินการต่อจากนี้ เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากภาวะ ‘Lower for longer’ สู่ ‘Higher for longer’ กล่าวคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับต่ำมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะกลับมาเป็นการทยอยปรับขึ้นและยืนค้างในระดับที่สูงอย่างน้อยในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า โดยจะกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าระดับเดิมก่อนการระบาดของโควิด


สำหรับการลงทุนในบริบทดอกเบี้ยขาขึ้น มุมมองต่อสินทรัพย์ต่างๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปในเชิงเปรียบเทียบสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งตราสารหนี้และทุน ซึ่งจะมีราคาหรือมูลค่าที่ลดลง เพื่อชดเชยส่วนต่างผลตอบแทนที่แคบลง (Yield Gap) กดดันทิศทางการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนที่เคยมีแนวโน้มและผลตอบแทนที่ดีในช่วงปี 2563-2564 นักลงทุนจะต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นในการจัดพอร์ตและการลงทุน


เช่นเดียวกับในภาคธุรกิจจริงที่ต่างก็ได้รับแรงกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงคือ ต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นการเพิ่มรายจ่าย ในขณะที่บริษัทหลายแห่งมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) สูง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะอัตรากำไรที่หดตัวลง ด้านผลกระทบทางอ้อมคือ การปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำลังซื้อ ความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อ-เงินกู้ และความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลพวงจากผู้กำหนดนโยบายที่คาดหวังจะใช้เพื่อลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อ

investor-interest-rise-01

หากมองภาพที่ลึกลงไปในระดับอุตสาหกรรม ธุรกิจที่อ่อนไหวมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘ธุรกิจการเงิน’ ซึ่งแต่ละผู้ประกอบการมีความแตกต่างกันในแง่ผลกระทบ รวมถึงความสามารถในการปรับตัว หากแต่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะได้รับอานิสงส์เชิงบวกของดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้น เนื่องจากแนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ซึ่งเป็นตัววัดสำคัญที่บ่งบอกความสามารถในการทำกำไร มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นตามรายได้ดอกเบี้ยบนสินเชื่อส่วนใหญ่มีลักษณะลอยตัว เช่น สินเชื่อธุรกิจ หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ระดับกลางที่สินเชื่อส่วนใหญ่มีลักษณะคงที่ จะได้ประโยชน์ไม่เท่า-ได้รับผลกระทบเชิงลบ เนื่องจากไม่สามารถปรับชดเชยต้นทุนทางการเงิน (Cost of fund) เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย


กลุ่มที่ได้รับผลเชิงลบมากที่สุดหนีไม่พ้นกลุ่มผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ยกตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์-รถจักรยานยนต์, จำนำทะเบียนรถ ฯลฯ ที่ไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งยังมีแนวโน้มการลดเพดานดอกเบี้ยสูงสุดจากภาครัฐลง เพื่อช่วยบรรเทาภาระลูกหนี้ที่เป็นความเสี่ยงเข้ามาเพิ่มเป็นระยะ โดยยังไม่ลืมว่าภาวะเงินเฟ้อที่ข้าวของแพงขึ้น ทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ลดลงไปในตัว และเป็นปัจจัยลบต่อคุณภาพสินทรัพย์ที่ฟื้นช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในธุรกิจกลุ่มนี้ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กที่เสียเปรียบในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้อัตรากำไรบีบแคบลงและไม่สามารถเติบโตเช่นในอดีตได้


แล้วนักลงทุนจะเอาตัวรอดอย่างไร?


สิ่งแรกที่นักลงทุนทำได้คือ ทำใจยอมรับว่าช่วงเวลานาทีทองที่สร้างผลตอบแทนแบบมหัศจรรย์ในช่วงตลาดกระทิงจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ผ่านไปแล้ว แม้สถานการณ์มิได้น่ากลัวถึงขั้นที่จะเกิดภาวะ ‘ฟองสบู่แตก’ แต่เป็นเพียงแค่การชะลอการขยายตัว โลกการลงทุนนับจากนี้จึงต้องใช้เหตุผลในการตัดสินใจให้ถี่ถ้วนมากขึ้น สิ่งที่สองคือ ทำการบ้าน โดย จัดสรรเงินทุนไปหาสินทรัพย์ที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อ ได้ หรือสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจำกัด เช่น อุตสาหกรรมบริการที่สามารถส่งผ่านต้นทุนได้โดยไม่กระทบกำลังซื้อ ที่ยังเป็นขาขึ้น เช่น ธุรกิจการแพทย์ ธุรกิจท่องเที่ยว บนสมมติฐานเชื่อว่าประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก และกำลังฟื้นตัวกลับไปยังจุดสูงสุดที่เคยทำได้ในปี 2562


‘สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไป คือการเปลี่ยนแปลง’ ในฐานะนักลงทุนจึงต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เพื่อจะสามารถอยู่รอดและปรับตัวจนถึงวันที่ผลตอบแทนในพอร์ตการลงทุนกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดี


ข้อมูล ณ วันที่ 13 กันยายน 2565


บทความโดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด


ที่มา : The Standard Wealth