เมื่อเงินเฟ้อยังไม่น่าวางใจ ลงทุนอย่างไรดี

HIGHLIGHTS
 

· เงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แต่ยังสูงกว่าเป้าหมาย ทำให้ธนาคารกลางหลักอย่าง Fed และ ECB ยังไม่สามารถวางใจได้ จึงมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ

· ความเสี่ยงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน

· ในภาวะนี้ แนะนำทยอยสะสมพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะกลาง-ยาว (5 ปีขึ้นไป) และลงทุนหุ้นกู้สหรัฐฯ ที่เป็น Investment Grade ส่วนตลาดหุ้น SCB CIO มีมุมมองบวกกับตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นไทย


เงินเฟ้อสูง เป็นปัญหาสำคัญของประเทศเศรษฐกิจหลักหลายประเทศในโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2565 และเป็นผลทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ต้องปรับทิศทางนโยบายการเงินจากผ่อนคลายมาเป็นการใช้นโยบายแบบเข้มงวด โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาถึงเวลานี้ ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังตามหลอกหลอนให้ธนาคารกลางหลักๆ ของโลกต้องปวดหัวอยู่ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป


เงินเฟ้อทั้งสหรัฐฯ และยุโรปยังสูงกว่าเป้าหมาย 2%


ในส่วนของสหรัฐฯ นั้น นักลงทุนเริ่มเห็นตัวเลขเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวแล้ว โดยล่าสุดเดือนมกราคม 2566 เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 6.2% และ 5.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ ชะลอลงจากเดือนธันวาคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น 6.5% และ 5.7% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ สะท้อนว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและชะลอตัวลง แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย


ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็มองเห็นสัญญาณนี้ พิจารณาได้จากรายงานการประชุมประจำวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา ที่ระบุว่า กรรมการ Fed ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่าเป้าหมาย 2% และตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะตึงตัว ดังนั้น Fed ควรจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางขาลงแตะระดับเป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

 

เมื่อหันไปดูที่กลุ่มเศรษฐกิจยุโรป ก็พบว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เช่นกัน และยังไม่เห็นสัญญาณการปรับลดลงอย่างมีนัย เพราะตลาดแรงงานยังคงร้อนแรง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อภาคบริการยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ ECB ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป

 

Fed และ ECB มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ


ในส่วนของ SCB CIO มีมุมมองว่า Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) 0.25% ทั้งในการประชุมเดือนมีนาคมและพฤษภาคมนี้ จนไปสู่อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับสูงสุด (Peak Rate) ที่ 5.00-5.25% และคาดว่า Fed จะไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากเรายังมองว่าโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ค่อนข้างต่ำในปีนี้


สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ ECB นั้น SCB CIO มีมุมมองว่า ECB จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงต่อตามที่ตลาดคาดไว้ โดยมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมีนาคม และปรับขึ้น 0.25% ในเดือนพฤษภาคมนี้ รวมทั้งเริ่มดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QT) ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งในการประชุมล่าสุดของ ECB ก็ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% และส่งสัญญาณว่าน่าจะปรับขึ้นอีก 0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคม ส่วนหลังจากนั้นจะประเมินการปรับดอกเบี้ยตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมา เพื่อคุมให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ได้


โดยรวมแล้ว ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปก็ยังไม่สามารถวางใจกับปัญหาเงินเฟ้อได้ ขณะที่ ในอนาคต SCB CIO มองว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 โดยล่าสุด ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เพิ่งแถลงนโยบายประจำปีต่อสมัชชาแห่งชาติ ประกาศระงับความร่วมมือของรัสเซียในข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ‘New START’ กับสหรัฐฯ แต่ยังไม่ได้ถอนตัวโดยสิ้นเชิงจากข้อตกลง ขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เตรียมเดินทางมาเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เพิ่งจะไปเยือนยูเครน พร้อมปราศรัยระดมการสนับสนุนให้ยูเครน สำหรับสงครามที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 2


หากหลังจากนี้มีการยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้น ผลักดันให้วิกฤตพลังงานในยุโรปน่ากังวล สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางหลักๆ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องและยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้


นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. คาบสมุทรเกาหลี หลังเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธตกบนเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น และมีการซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ 2. ช่องแคบไต้หวัน หลังประธานาธิบดีไต้หวันเข้าพบหารือกับสมาชิกคณะกรรมาธิการจีนของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ และ 3. การยิงบอลลูนของจีนที่รุกล้ำเข้าน่านฟ้าสหรัฐฯ และสหรัฐฯ เชื่อว่าเป็นบอลลูนสอดแนมของกองทัพจีน จนทำให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกรอบใหม่ โดยพุ่งเป้าไปยังบริษัทการบินและอวกาศจีน 6 แห่ง ที่สหรัฐฯ เชื่อว่า สนับสนุนโครงการบอลลูนสอดแนม


หากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนลุกลามบานปลาย จะกระทบเศรษฐกิจโลก ผ่านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับจีน ที่มีแนวโน้มถูกกีดกันมากขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีความเสี่ยงขาลง (Downside) ต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งจีนเพิ่มขึ้น


พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะกลางถึงยาว (5 ปีขึ้นไป) และหุ้นกู้ Investment Grade น่าสนใจ


ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังไม่น่าไว้วางใจ และปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น หากนักลงทุนกำลังพิจารณาอยู่ว่า ควรลงทุนสินทรัพย์ประเภทต่างๆ อย่างไรดี SCB CIO มองว่า Bond Yield สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่คาดว่าจะทยอยปรับลดลง หลัง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย สำหรับส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้เอกชนและพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spread) อยู่ในระดับที่น่าสนใจ และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ค่อนข้างต่ำแล้ว ตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะชะลอตัวแต่ไม่ถดถอย และความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed ที่ลดลงจากปีที่ผ่านมา


ดังนั้น เราจึงยังคงมีมุมมอง Slightly Positive บนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีอายุเฉลี่ยระยะยาว (Long Duration) จึงแนะนำให้ทยอยสะสมได้สำหรับพันธบัตรระยะกลางถึงยาว หรือ 5 ปีขึ้นไป และมีมุมมอง Positive บนหุ้นกู้สหรัฐฯ ที่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) จึงแนะนำให้เพิ่มการลงทุนได้

2206233673

SCB CIO มีมุมมองบวกต่อตลาดหุ้นจีนและไทย


สำหรับตลาดหุ้น เรามองว่ามูลค่าหุ้นทั่วโลกปรับลดลง เพราะได้รับแรงกดดันจากการที่ผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป จนกว่า Bond Yield จะเริ่มนิ่ง จนถึงชะลอลง และด้วยประเด็นนี้เอง เราจึงยังมีมุมมอง Neutral บนการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น


ทั้งนี้ นอกจากประเด็นเรื่อง Bond Yield ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีประเด็นเรื่องมูลค่าหุ้น S&P 500 ที่เริ่มกลับมาค่อนข้างแพง โดยราคาต่อกำไรต่อหุ้นในระยะข้างหน้า (Forward P/E) ของ S&P 500 เพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือค่าเฉลี่ย 10 ปีแล้ว ขณะที่ความเสี่ยงที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนใน S& P500 ทั้งปี 2566 จะถูกปรับประมาณการลงตามแนวโน้มภาระภาษีของภาคธุรกิจสหรัฐฯ ก็มีมากขึ้น รวมทั้งยังมีเรื่องความไม่แน่นอนบนเพดานหนี้ ที่กดดันแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย


ส่วนในตลาดหุ้นยุโรป SCB CIO ปรับมุมมองจาก Slightly Negative เป็น Neutral เพราะมองว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจยุโรปดีกว่าที่คาด ขณะที่มูลค่าหุ้นของตลาดหุ้นยุโรปถูกกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้มูลค่าหุ้นของตลาดหุ้นยุโรปมีการสะท้อนประเด็นปรับลดประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไปแล้วพอสมควร อย่างไรก็ดี โอกาสที่ดัชนีจะปรับเพิ่มขึ้น (Upside) ยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากค่าเงินยูโรมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และความกังวลผลกระทบที่เกิดจากความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังต้องจับตาอยู่


สำหรับ ตลาดหุ้นที่ SCB CIO มีมุมมองบวกคือ ตลาดหุ้นจีน A-Share ที่เรามีมุมมอง Positive จากการที่จีนเปิดประเทศ เป็นแรงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับทางการจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงิน การคลัง และภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อไป โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ประมาณการกำไรต่อหุ้นในอนาคต (Forward EPS) ของดัชนีหุ้นจีน มีแนวโน้มถูกปรับให้ดีขึ้น โดดเด่นกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค จากการที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัว นำโดยภาคบริการและการบริโภค อีกทั้งตลาดหุ้นจีนยังมีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง ทั้งจากการออกกองทุนรวมหุ้นจีนมากขึ้น หลังตลาดหุ้นจีนปรับขึ้น กองทุนรวมทั่วโลกที่ยังถือหุ้นจีนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง


ในส่วนของตลาดหุ้นจีน H-Share และหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ADRs) เรามีมุมมอง Slightly Positive เนื่องจากดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน ความเสี่ยงการเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนจีนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีเพิ่มขึ้นมามากแล้ว มูลค่าเริ่มตึงตัว และเริ่มมีความกังวลในประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เข้ามากดดัน


สำหรับ ตลาดหุ้นไทย ก็เป็นอีกตลาดที่เรามีมุมมอง Slightly Positive เนื่องจาก การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่สนับสนุนเศรษฐกิจไทย การบริโภคที่ได้แรงหนุนจากโครงการช้อปดีมีคืน ต้นไตรมาสแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ดี แม้มูลค่าหุ้นบนดัชนี SET Index ของไทยแพงกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ MSCI Asia Pacific ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นเอเชีย-แปซิฟิกที่ไม่นับรวมญี่ปุ่น แต่อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ในปี 2566 ก็มีโอกาสขยายตัวได้โดดเด่นกว่า


Asian REITs ทางเลือกที่เริ่มน่าสนใจ


สำหรับกลุ่มสินทรัพย์ทางเลือก SCB CIO มองว่า ในช่วงที่ Bond Yield เร่งตัวในระยะสั้นนั้น เป็นโอกาสจับจังหวะเข้าสะสมทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ในเอเชีย หรือ Asian REITs ที่ได้อานิสงส์จากการเปิดเมืองเปิดประเทศของจีนได้ เนื่องจากพิจารณามูลค่าแล้วยังน่าลงทุน ประกอบกับส่วนต่างระหว่างอัตราการจ่ายเงินปันผลของ REITs เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มี Downside ที่เริ่มจำกัด


ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา REITs เผชิญสถานการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเร่งตัวเป็นปัจจัยฉุดรั้ง แต่ในปีนี้ปัจจัยลบนี้เริ่มจำกัด ฉะนั้นในระยะสั้นที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเร่งตัว ก่อนการคงดอกเบี้ยของ Fed เป็นจังหวะเข้าสะสม REITs โดยเฉพาะ Asian REITs


จากข้อมูลในอดีตพบว่า ช่วงที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ยไว้ ปี 2549-2550 และปี 2561-2562 พบว่า REITs ของสิงคโปร์ปรับเพิ่มขึ้น 48% และ 16% ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่ปรับขึ้น 45% และ 8% ตามลำดับ ในส่วนของไทยนั้น REITs จะได้รับอานิสงส์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ยังต่ำ ขณะที่การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวสร้างแรงหนุนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาในไทย ยังมีแนวโน้มเติบโต ช่วยหนุนรายได้ REITs ให้ฟื้นตัวและเติบโต ดังนั้นการเข้าถือ REITs ที่มีรายได้สม่ำเสมอ (Recurring Income) และมีอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) ค่อนข้างนิ่ง ในอัตรา 5-6% จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ


สุดท้ายนี้ SCB CIO ก็อยากเน้นย้ำกับนักลงทุนว่า ไม่มีสินทรัพย์ประเภทใดที่ให้ผลตอบแทนดีได้ตลอดกาล ฉะนั้น การกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ยังคงเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ โดยในแต่ละช่วงเวลา อาจจะปรับเพิ่มหรือลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์บางประเภท ให้สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมในช่วงนั้นอย่างรอบคอบ และไม่ลืมวัตถุประสงค์ในการลงทุนว่าเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว หากทำได้เช่นนี้ พอร์ตลงทุนก็จะมีความแข็งแกร่ง มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ไม่ผันผวนจนเกินไป


บทความโดย คุณเกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2566


ที่มา : The Standard Wealth