เรื่องน่ารู้ก่อนลงทุนกองทุนตราสารหนี้

หากใครที่ต้องการหาช่องทางเพื่อการลงทุน แต่ติดขัดเงื่อนไขหลายๆ อย่าง เช่น เงินลงทุนน้อย ประสบการณ์ยังไม่มาก ไม่มีเวลาในการติดตามข้อมูลข่าวสาร ทางออกที่น่าสนใจ คือ ลงทุนผ่านกองทุนรวม


โดยเงินที่กองทุนรวมระดมทุนได้จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามนโยบายของกองทุนรวม หมายความว่า เงินลงทุนของผู้ลงทุนจะมีมืออาชีพ นั่นคือ ผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารและต่อยอดเงินลงทุนให้งอกเงย และสำหรับผู้ที่เริ่มต้นลงทุนและรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ “กองทุนรวมตราสารหนี้” สามารถตอบโจทย์ได้อย่างลงตัว


ตราสารหนี้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่  1.ตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ, พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย, ตั๋วเงินคลัง  2.ตราสารหนี้ภาคเอกชน เช่น หุ้นกู้, หุ้นกู้มีประกัน, หุ้นกู้ไม่มีประกัน, ตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงิน


ซึ่งนโยบายหลักของกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็คือ นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้ภาคเอกชน รวมถึงสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น เงินฝาก ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุนจึงต้องดูข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของแต่ละกองทุนว่ามีนโยบายลงทุนอย่างไรบ้าง และสามารถแบ่งกองทุนรวมตราสารหนี้ตามนโยบายลงทุน ได้ดังนี้


1.กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Fixed Income Fund) กองทุน 2 ประเภทนี้มีนโยบายลงทุนคล้ายคลึงกัน นั่นคือ ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี รวมถึงเงินฝาก ดังนั้นจึงเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะสั้นและต้องการความเสี่ยงต่ำ


2.กองทุนรวมตราสารหนี้ (General Fixed Income Fund) มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาคเอกชน เหมาะกับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย เพราะตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่มีความสม่ำเสมอ และถึงแม้ราคาตราสารหนี้อาจมีความผันผวนตามสภาวะตลาด แต่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของกองทุนประเภทนี้ที่ได้รับจากการไปลงทุนในตราสารหนี้จะมีความผันผวนน้อย

3.กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว (Long Term Fixed Income Fund) มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุในการถือครอง (Portfolio Duration) มากกว่า 1 ปีขึ้นไป จึงเหมาะกับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงต่ำและสามารถลงทุนในระยะยาวได้


4.กองทุนรวมผสม (Balanced Fund) เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์อื่นๆ เช่น เงินฝาก อย่างไรก็ตาม ตามกฎเกณฑ์แล้วต้องลงทุนในตราสารทุนในขณะใดขณะหนึ่งไม่น้อยกว่า 35% แต่ไม่เกิน 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมนั้น จึงเหมาะกับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง และต้องการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์


5.กองทุนรวมผสมยืดหยุ่น (Flexible Portfolio Fund) เป็นกองทุนรวมที่สามารถลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์อื่นๆ แต่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสัดส่วนการลงทุนเหมือนกองทุนรวมผสม ดังนั้น การจัดสรรเงินลงทุนจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน ซึ่งหลักๆ จะดูความเหมาะตามสภาวะตลาดในขณะนั้น จึงเหมาะกับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง และต้องการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์


6.กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds) มีนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่นๆ ได้ทุกประเภท เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น หรือกองทุนรวมผสม เป็นต้น โดยเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ จึงเหมาะกับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง และต้องการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์

7.กองทุนรวมที่ลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ มีนโยบายไปลงทุนตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ในต่างประเทศ โดยกองทุนประเภทนี้จะมีความเสี่ยงสูงถึงสูงมาก เพราะเป็นการลงทุนในต่างประเทศที่อาจได้รับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่ไปลงทุนและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน จึงเหมาะกับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้มาก


กำไรหรือขาดทุน ดูอย่างไร

สำหรับวิธีการดูว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนนั้น “กำไร” หรือ “ขาดทุน” ดูได้จากผลการดำเนินงานของกองทุนรวม นั่นคือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value : NAV) ก็คือ มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวมหักค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวมนั้น โดยจะทำการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาด (Mark to Market) ในแต่ละวัน เพื่อให้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงตามสภาวะตลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป


NAV สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของกองทุนว่าเติบโตหรือไม่ มี “กำไร” หรือ “ขาดทุน” มากน้อยเพียงใด รวมถึงเป็นการแสดงราคาซื้อหรือราคาขายคืนของกองทุนรวม  เช่น

 

กองทุน ABC ราคาซื้อ  10 บาทต่อหน่วย ผ่านไป 1 ปี NAV อยู่ที่ 12 บาทต่อหน่วย แสดงว่ามี “กำไร” ขณะที่กองทุน XYZ ราคาซื้อ 10 บาทต่อหน่วย ผ่านไป 1 ปี NAV อยู่ที่ 7 บาทต่อหน่วย แสดงว่า “ขาดทุน”


สำหรับเทคนิคเบื้องต้นในการเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ โดยหลังจากเข้าใจประเภทกองทุนรวมตราสารหนี้แล้ว ก็ต้องศึกษานโยบายการลงทุนแต่ละกองทุนว่าเป็นอย่างไร เช่น สัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เป็นอย่างไร


จากนั้นให้พิจารณาค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วดูผลการดำเนินงานในอดีต เช่น 3 ปี, 5 ปี, 7 ปี เป็นต้น และพยายามเลือกกองทุนรวมที่สร้างผลตอบแทนเติบโตอย่างสม่ำเสมอ


ถัดมาให้ดูความสามารถในการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุน ซึ่งมักจะสะท้อนออกมาจากการสร้างผลตอบแทนให้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ และควรเลือกกองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุน


ถึงแม้ว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ส่วนมากจะมีความเสี่ยงในระดับต่ำ แต่ก่อนตัดสินใจลงทุนก็ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยง เพราะถ้าผู้จัดการกองทุนเลือกตราสารหนี้เข้ามาในพอร์ตกองทุนได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากราคาที่เกิดจากความผันผวนของตลาด หรืออันดับความน่าเชื่อของหุ้นกู้ ย่อมทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมนั้นเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีตามไปด้วย