พลังงานสะอาด… ตัวแปรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

พลังงานสะอาด คือพลังงานที่ได้มาจากธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายเหมือนกับพลังงานชนิดอื่นๆ ซึ่งอาจจะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต แปรรูป การนำไปใช้ประโยชน์ และจัดการของเสียจากการแปรรูปพลังงานนั้น อันเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน โดยทุกขั้นตอนจะต้องทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการภาวะโลกร้อน

การเลือกใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนนั้น ทั่วโลกต่างจับตามองและให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติไม่ไห้ถูกทำลายจากก๊าซพิษต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อย่างฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบกับระบบนิเวศ และยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คนให้ดีขึ้นในระยะยาว

สำหรับสภาวะโลกร้อนอันเกิดจากการใช้แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมอย่างพลังงานน้ำมัน พลังงานถ่านหิน และพลังงานก๊าซธรรมชาตินั้น เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก และนำไปสู่การเผชิญหน้ากับปัญหาด้านสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากหลากหลายประเทศเริ่มมองหาทางออกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมมาเป็นการใช้พลังงานรูปแบบใหม่จากแหล่งพลังงานที่แตกต่างออกไป เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงและมีการกระจายตัวของการใช้งานอย่างทั่วถึง ซึ่งนับว่าเป็นเทรนด์ที่ได้รับการตอบรับและการสนับสนุนในระดับสากล

reduce-energy-for-hotel-business-banner

โดยในสหรัฐฯ นั้น ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ได้มีการกลับเข้ามาร่วมข้อตกลง Paris Agreement ภายใต้ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีการลงนามจาก 196 ประเทศ มาตั้งแต่ปี 2016 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งก่อนหน้านี้ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศถอนตัวสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนี้ และนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวอเมริกันรวมถึงกลุ่มเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี สำหรับในปัจจุบัน แผนคำสั่งตามนโยบายของไบเดนมีความมุ่งมั่นชัดเจนที่จะสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม และมีเป้าหมายที่จะบรรลุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 รวมถึงมีการผลักดันแผนเศรษฐกิจมูลค่าที่ราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการปฏิวัติสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด เพราะสหรัฐฯ เองถือเป็นอีกหนึ่งในผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ และมีการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ในยุโรปได้มีแผนนโยบายที่เรียกว่า European Green Deal โดยสนับสนุนให้สหภาพยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ผ่านแคมเปญและข้อบังคับต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักที่จะขับเคลื่อนให้ยุโรปเป็นสังคมไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใน 30 ปีข้างหน้า สำหรับในส่วนของเอเชียเองนั้น นำโดยประเทศจีนที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้แสดงจุดยืนและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนกว่า 65% ภายในปี 2030 และผลักดันเป้าหมายใหม่ในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ภายในประเทศให้ได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้มีการประเมินมูลค่าสำหรับเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ธุรกิจอันเกี่ยวข้องกับ Energy Transition ไว้สูงถึง 29 ล้านล้านดอลลาร์ ในกว่า 30 ปีข้างหน้า ซึ่งมาจากการสนับสนุนโดยแรงผลักดันจากผู้นำรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ที่ต่างหันมาให้ความสนใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สำหรับในส่วนของตลาดการลงทุนเองก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าธุรกิจกลุ่มนี้น่าจะได้รับประโยชน์ในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโอกาสต่อยอดการลงทุนไม่ได้จำกัดวงแคบอยู่ที่กลุ่มบริษัทผู้ผลิตพลังงานทางเลือกเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทที่มีการออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อช่วยวิเคราะห์และพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูงสุด จึงเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งเมกาเทรนด์ที่จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงโลกด้วยนวัตกรรมและพลังงานเพื่ออนาคตได้เป็นอย่างดี

จากนี้ไปแนวคิดการเลือกใช้พลังงานสะอาดคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวของทุกคนอีกต่อไป ซึ่งในปัจจุบันการเติบโตของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้น (Early Stage) ดังนั้น จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนที่กำลังจับตาเทรนด์การเติบโตของธุรกิจกลุ่มนี้

บทความโดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ขอบคุณข้อมูลจาก The Standard Wealth