สรุป ‘ภาษีขายหุ้น’ เก็บอย่างไร เสียเท่าไหร่ และใครได้รับผลกระทบบ้าง?


สำหรับสายลงทุนหุ้นที่มีการติดตามข่าวสารในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเห็นข่าวการเตรียมเก็บภาษีขายหุ้นตั้งแต่ปี 2565 จากกระทรวงการคลังและตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่ได้รับการยกเว้นมาเป็นระยะเวลานับ 30 ปี ซึ่งแม้ว่าในรัฐบาลชุดปัจจุบันจะยังไม่มีการหยิบยกนโยบายนี้มาใช้ แต่สายหุ้นก็ยังต้องทำความเข้าใจในภาษีประเภทนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในวันข้างหน้า แล้วภาษีประเภทนี้คืออะไร ต้องทำความเข้าใจเรื่องไหนบ้าง เราจะมาสรุปจบในบทความนี้กัน


ทำความเข้าใจกับ “ภาษีขายหุ้น”

ภาษีขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดขึ้นจากการขายหลักทรัพย์หรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งประเทศไทยเคยมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนี้ก่อนที่จะงดเว้นการเก็บไป แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะรู้เงื่อนไขและนโยบายต่างๆ ของการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ก็ควรที่จะรู้ที่มาและข้อมูลของการจัดเก็บในอดีตกันไว้ก่อน


ที่มาของภาษีขายหุ้น 

ภาษีขายหุ้นนั้นมีที่มาจากการที่กระทรวงการคลังพยายามลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และเพิ่มความเป็นธรรมในด้านการจัดเก็บภาษี ที่เพิ่มเติมมาจากการเก็บภาษีเงินได้ที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งการจัดเก็บภาษีขายหุ้นจะเป็นการใช้โอกาสในการพัฒนาประเทศจากความเข้มแข็ง ของตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย

  • เดิมทีประเทศไทยเคยมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้นมาก่อน หรือที่เรียกว่าเซลส์แท็กซ์ (sales taxes) หรือภาษีการค้าสำหรับรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • ในปี 2525 มีการยกเว้นภาษีการค้าให้แก่การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • ในปี 2535 มีการเปลี่ยนระบบภาษีใหม่จากเซลส์แท็กซ์เป็นสเปเชียลบิสซิเนสแท็กซ์ (Special Business Tax) หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยจะต้องเสียภาษีนี้ในอัตรา 0.1% และรวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 10% ของภาษีธุรกิจเฉพาะ ทำให้ต้องเสียภาษีรวม 0.11% สำหรับภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้
  • อย่างไรก็ดีมีการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่เริ่มจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในปี 2535 ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 32  ปี

ปัจจุบันนี้ตลาดหลักทรัพย์ได้เติบโตขึ้นค่อนข้างมากจนทำให้มีการนำเรื่องของการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง จากรัฐบาลชุดเก่าที่เล็งเก็บภาษีขายหุ้นในเดือนเมษายน 2566 แต่ก็ยังไม่มีการบังคับจัดเก็บภาษีหุ้นอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามในบทความล่าสุดของ SET (The Stock Exchange of Thailand) หรือตลาดหลักทรัพย์ไทยจากเลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ก็ได้มีการพูดถึงภาษีนี้และยืนยันว่ารัฐบาลสมัยนี้ยังไม่มีการเก็บภาษีขายหุ้นแต่อย่างใด


ถ้ามีการเก็บภาษีขายหุ้น จะมีวิธีคิดอย่างไร

สำหรับภาษีขายหุ้นในอดีตที่ได้มีการจัดเก็บจริงๆ นั้น ก็ใช้วิธีการคำนวณโดยคิดจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงจากการขายหุ้นตั้งแต่หน่วยแรก ประกอบด้วยภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1% และรวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 10% ของภาษีธุรกิจเฉพาะ ทำให้ต้องเสียภาษีรวม ในอัตรา 0.11%

เช่น หากเราขายหุ้นมูลค่า 100,000 บาท ก็จะต้องเสียภาษีขายหุ้นทั้งหมด 100,000 x 0.11% = 110 บาท แต่ปีแรกที่กฎหมายมีผลบังคับ ผู้ขายหุ้นจะได้รับส่วนลดภาษี 50% หรือสามารถจำได้แบบง่ายๆ ว่า หากเราขายหุ้น 1,000,000 บาท ปีแรกก็จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.055% คิดเป็นจำนวนเงิน 550 บาท หรือ “ล้านละ 500 บาท” ส่วนปีต่อๆ ไปก็จะถูกจัดเก็บภาษีที่อัตรา 0.11% คิดเป็นจำนวนเงิน 1,100 บาท หรือ “ล้านละ 1,100 บาท” นั่นเอง

ซึ่งก็จะมีค่าธรรมเนียมในการขายหุ้นอื่นๆ ที่ผู้ขายหุ้นต้องเสียเมื่อขายหุ้นในแต่ละครั้งอยู่แล้วเช่น ค่าธรรมเนียมของแต่ละโบรกเกอร์ ค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ 0.005% ค่าธรรมเนียมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ 0.001% ค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล 0.001% และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ของค่าธรรมเนียมข้างต้นรวมกันทั้งหมด ดังนั้น ผู้ขายหุ้นจะต้องเสียภาษีขายหุ้นประมาณ 0.195% ในปีแรก (เพราะมีส่วนลดภาษี) และ 0.22% ในปีต่อไป ซึ่งนับว่าต้นทุนของการขายหุ้นต่อธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นมากเลยทีเดียว


เสียภาษีขายหุ้นอย่างไร 

แล้วเราจะต้องเสียภาษีขายหุ้นอย่างไร? ต้องเก็บรวบรวมเอกสารการซื้อขายเองและต้องยื่นเสียภาษีในส่วนนี้ด้วยตัวเองหรือไม่? สำหรับส่วนนี้เราก็สามารถลดความกังวลได้เพราะตามนโยบายมีการกำหนดให้โบรกเกอร์ (Broker) แต่ละที่เป็นผู้ที่ทำการหักภาษีขายหุ้นจากนักลงทุนได้ทันที และสามารถยื่นเสียภาษีแทนผู้ขายหุ้นได้ โดยที่ผู้ขายหุ้นไม่จำเป็นต้องทำการยื่นแบบภาษีในระบบด้วยตัวเอง


ต้นทุน 0.22% ต่อธุรกรรมแพงไปหรือไม่? ต่างประเทศจัดเก็บภาษีขายหุ้นกันอย่างไร

หากลองเปรียบเทียบต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงและเป็นคู่แข่งของประเทศไทยนั้น เราจะพบว่าแต่ละประเทศมีการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกัน อย่างเช่น

  • ประเทศสิงคโปร์ จะใช้การจัดเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.20% เฉพาะกับธุรกรรมที่มีการโอนหรือขายหลักทรัพย์บนกระดาษโดยแมนนวล (Manual) แต่ถ้าขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่มีการจัดเก็บภาษี
  • ประเทศมาเลเซีย ใช้การจัดเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 1.29% ทั้งธุรกรรมซื้อและขาย
  • ประเทศฮ่องกง ใช้การจัดเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.38% ทั้งธุรกรรมซื้อและขาย

โดยจะเห็นได้ว่าอัตราการจัดเก็บภาษีขายหุ้นของไทยก็ยังต่ำกว่าทั้งมาเลเซียกับฮ่องกงและยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรมองตัวอย่างของประเทศที่ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 3 ของโลก รองจากนิวยอร์ก และลอนดอน อย่างประเทศสิงคโปร์ที่มีการจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าไทย และจัดเก็บเพียงธุรกรรมที่มีการโอนหรือขายหลักทรัพย์บนกระดาษโดยแมนนวล (Manual) เท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนได้รับประโยชน์และจูงใจนักลงทุนมากมาย

ใครบ้างที่ต้องเสีย และไม่ต้องเสียภาษีขายหุ้น

สำหรับผู้ที่ต้องเสียภาษีขายหุ้นนั้นก็คือ “ทุกๆ คนที่ทำการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์” แต่ก็มีการยกเว้นในคนบางกลุ่มที่ไม่ต้องเสียภาษีขายหุ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มผู้ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานอีกหลายส่วน ได้แก่

  1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะไม่เสียภาษีขายหุ้นเมื่อมีการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นเป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่ทำให้เกิด “สภาพคล่องในตลาด” ทำให้ตลาดมีการเคลื่อนไหว เกิดการซื้อขายกัน
  2. สำนักงานประกันสังคม
  3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)
  4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
  5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
  6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund)
  7. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
  8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
    เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคม หรือกองทุนตามข้อ 3 – 7 เท่านั้น

ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มผู้ที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีขายหุ้น จะเป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งในระดับบุคคลและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่จัดตั้งกองทุนรวมต่างๆ รวมถึงกองทุนต่างที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสวัสดิการของคนไทย

เพราะอะไร ไทยจึงเลือกจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขาย ไม่ใช่กำไรจากการขาย

อีกหนึ่งประเด็นร้อนของบรรดานักลงทุนที่ตั้งข้อสงสัยต่อการเก็บภาษีหุ้นก็คือ “เพราะอะไร ถึงเลือกที่จะเก็บภาษีจากธุรกรรมการขาย ไม่จัดเก็บจากกำไรในการขาย” เพราะถ้ากระทรวงการคลังต้องการที่จะลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ก็ไม่ควรจะเก็บภาษีจากธุรกรรมการขาย (Financial Transaction Tax) แล้วมาเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้นแทน (Capital Gain Tax) เพราะไม่ใช่นักลงทุนทุกคนที่จะได้รับกำไรจากการขาย หากมีการขาดทุนเกิดขึ้น ก็ส่งผลให้นักลงทุนยิ่งแบกรับภาระจากค่าธรรมเนียมและภาษีที่สูงขึ้นไปอีก

ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังได้มีการวิเคราะห์การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ เพื่อดูผลกระทบต่อการลงทุนและมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ สรุปได้ว่าการสร้างระบบเพื่อรวบรวม คำนวณและวิเคราะห์กำไรจากการขายหุ้นนั้น มีต้นทุนสูงมาก จึงเลือกที่จะจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายเพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์


สรุป

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ยังคงไม่ได้บังคับใช้อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ายังคงมีหลากหลายประเด็นและข้อกังวลใจที่เกี่ยวข้อง ทั้งอัตราในการจัดเก็บภาษี วิธีการในการจัดเก็บภาษี ระบบจัดเก็บภาษี


รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์หลักจากเกิดการจัดเก็บภาษีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการคลังและตลาดหลักทรัพย์ต้องมีการศึกษากันต่อไป เพื่อให้ได้ระบบในการจัดเก็บภาษีที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง


สำหรับใครที่มองหาการลงทุนทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ทางธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ก็มี แอปพลิเคชัน SCB EASY ให้เลือกลงทุน ทั้งในกองทุนรวมของ SCBAM และกองทุนรวมชั้นนำจากบลจ.อื่นๆ รวมถึง พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ / หน่วยทรัสต์ / หน่วยลงทุน เหมาะสำหรับทั้งมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มลงทุนหรือนักลงทุนที่มีประสบการณ์ก็สามารถสนุกกับการลงทุนได้เช่นกัน โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/investment