รู้จัก Infrastructure Provider และ 3 เทรนด์ระบบพื้นฐานในโลก Digital Asset

ในการรับรู้เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ของคนส่วนใหญ่ มักนึกถึงการเทรดเหรียญคริปโต หรือการลงทุนใน Defi บน Blockchain แต่นอกเหนือกจากผู้ที่เข้ามาซื้อขายลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยังมีผู้เล่นอีกด้านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญใน Ecosystem ของสินทรัพย์ดิจิทัล นั่นก็คือ Infrastructure Provider หมายความถึงผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของทุกๆ กิจกรรมในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล คุณเดชพล แหลมวิไล Head of Strategic Partnership SCB10X มาแบ่งปันเรื่องราวความเป็นไปในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลและบทบาทของ Infrastructure Provider ที่จะพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคตอันใกล้


พัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัล


โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เริ่มต้นจากเหรียญสกุลเงิน Cryptocurrency เมื่อทศวรรษก่อน พัฒนาก้าวหน้าเกิด Digital Token เพิ่มเข้ามา ภายใต้การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของก.ล.ต.* Digital Token แบ่งเป็นโทเคนสำหรับการลงทุน (Investment Token) ที่มีความใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ หน่วยลงทุนต่างๆ เป็นการเปลี่ยนหลักทรัพย์แบบเดิมให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และ Token ที่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการได้ (Utility Token) ซึ่งแบ่งย่อยลงไปอีก 2 แบบ ได้แก่
 

·  Utility Token พร้อมใช้ : Token ที่รู้ว่าจะนำไปใช้ทำอะไรได้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที
 

·  Utility Token ไม่พร้อมใช้ : Token ที่ปัจจุบันยังไม่พร้อมให้นำไปใช้แลกสินค้าหรือบริการ ต้องรอการใช้สิทธิในอนาคต หลังจากที่เงินที่ได้จากการขาย Token ได้ถูกนำไปจัดหาสินค้าบริการเสร็จเรียบร้อยแล้ว การออก Token ประเภทนี้จัดเป็นการระดมทุนวิธีหนึ่ง
 

*ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561​​​​

บทบาทของ Infrastructure Provider คืออะไร


“ความหมายของ Infrastructure แปลตรงตัวคือระบบพื้นฐานในโลก Digital Asset ซึ่งระบบพื้นฐานในโลกการเงินแบบเดิมถูกดำเนินการโดยมนุษย์ เช่นธนาคารที่รับฝากเงิน ให้กู้เงิน ฯลฯ แต่เมื่อมาเป็นโลกดิจิทัล กลายเป็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ดำเนินการแทนมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้นในสเต็ปของ Blockchain หรือ Defi ในอนาคตคือเครื่องเหล่านี้สามารถนำ Process ใส่ลงไปได้ และ Operate ได้เองโดยไม่ต้องมีตัวกลาง” คุณเดชพลกล่าว


การทำธุรกรรมในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลมีส่วนสำคัญที่เป็น Touchpoint เชื่อมต่อระหว่างโลกการเงินดั้งเดิมกับโลกดิจิทัล ได้แก่ 1) จุดที่บริษัทนำเอาหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่มีอยู่จริงเข้ามาเปลี่ยนเป็น Digital Token ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล 2) จุดที่นักลงทุนนำเอาเงิน Fiat ที่เป็นเงินแบบเดิมใช้กันอยู่ปัจจุบันเข้ามาลงทุนซื้อขายเหรียญคริปโตในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล 3) จุดเชื่อมโยงระหว่างโลก Cefi (Centralized Finance) ที่ยังมีตัวกลางในการธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ กับโลก Defi (Decentralized Finance) ที่จัดการธุรกรรมด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ ไม่มีตัวกลาง

ทั้ง 3 Touchpoint นี้ รวมถึง Exchange Infrastructure ที่เป็นระบบพื้นฐานแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโตต่างๆ จึงเป็นประตูแห่งโอกาสของ Infrastructure Provider จะสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เป็นระบบพื้นฐานรองรับการเติบโตของโลกสินทรัพย์ดิจิทัล ส่งผลให้บทบาทของ Infrastructure Provider กลายเป็นพื้นที่ให้ผู้เล่นจากแวดวงการเงินทั่วโลกหมายมั่นเข้าจับจอง แล้วอะไรคือเทรนด์ที่ Infrastructure Provider กำลังจะมุ่งไปเพื่อสร้างโลกสินทรัพย์ดิจิทัลให้เฟื่องฟูมากขึ้นกว่าเดิม


1) สร้างความปลอดภัยในการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล


ระบบพื้นฐานที่จะขาดไปไม่ได้คือ Custody Infrastructure ทำหน้าที่ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล “เวลาที่เหรียญคริปโต หรือ Digital Token เมื่อเข้าไปอยู่ในบล็อกเชน คนทั่วไปไม่สามารถจะเก็บรักษาเหรียญเหล่านี้ให้ปลอดภัยได้ เพราะ Infrastructure นี้ต้องอาศัย Know-How, Technology ความรู้ความเข้าใจว่าการเก็บรักษาสินทรัพย์เหล่านี้ให้ปลอดภัยต้องทำอย่างไร เป็นการจัดการเทคโนโลยีบล็อกเชน มีเรื่องของ Cryptography, Private/Public Key ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญขั้นสูง ดังนั้นความสำคัญของการเป็น Infrastructure Provider ด้านนี้ มาจากที่เวลาคนมีสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเงินคริปโต หรือโทเคน เขาก็จะมองหาใครที่จะสามารถเก็บรักษาทรัพย์สินพวกนี้ให้เขาได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะกับทรัพย์สินดิจิทัลที่ยังเป็นเรื่องใหม่ขณะนี้” คุณเดชพลกล่าว “ความต้องการ Custody เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น คนประเทศอื่นที่ลงทุนในโลกดิจิทัลล้วนต้องการที่เก็บรักษาสินทรัพย์ให้ปลอดภัย Custody Infrastructure จึงเป็นโอกาสในระดับภูมิภาค”


2) เพิ่มโอกาสลงทุนเกี่ยวกับโลกสินทรัพย์ดิจิทัล


จากคาดการณ์มูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกจาก 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 6 พันล้าน เหรีญสหรัฐภายในปี 2025 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี ส่งผลให้สินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็น “Asset Class” ดึงดูดนักลงทุนจำนวนมาก ด้วยศักยภาพการสร้างผลตอบแทนโดดเด่นในระยะยาว เนื่องจากบทบาทที่มีต่อเศรษฐกิจในอนาคต


กองทุนที่ลงทุนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น กองทุนรวมดัชนี ETF เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์โลกดิจิทัล แต่ยังไม่มีความเข้าใจเพียงพอที่จะไปลงทุนเองโดยตรง ตามหลักการแล้วการลงทุนในกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนช่วยมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหว บริหารจัดการกองทุนก็ช่วยลดความเสี่ยงได้ ในมุมมองของคุณเดชพล “กองทุน ETF ของ Cryptocurrency เกิดขึ้นได้ เพราะมีเทรนด์มา ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก คนที่อยากเข้าไปลงทุนอาจยังไม่มีความเข้าใจมากนัก ตรงนี้จึงเป็นพื้นที่ให้เริ่มมีการออกกองทุนที่ลงทุนใน Bitcoin ล่าสุด ที่สหรัฐได้ประกาศกองทุนดัชนี Futures ETF ของ Cryptocurrency สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าสถาบันการเงินมองว่าทรัพย์สินดิจิทัลจะอยู่ต่อไปในอนาคต ไม่ใช่สินทรัพย์แบบฉาบฉวยที่มาแล้วก็ไป แต่เป็นสินทรัพย์ที่มีอนาคต” ซึ่งการที่สถาบันเข้ามาออกกองทุนลักษณะนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนหมู่มากเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และมีการออกเครื่องมือทางการเงินใหม่เหมือนที่มีในตลาดหลักทรัพย์เดิม เช่น ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯ อย่างแพร่หลาย เพื่อใช้บริหารจัดการความเสี่ยง นำไปสู่การพัฒนาตลาดเข้าสู่ภาวะการเติบโตเต็มที่ (Mature Market)

3) การทำให้เงินดิจิทัลใช้งานจริงได้ในวงกว้าง


การคาดหมายว่าทรัพย์สินดิจิทัลจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ ส่วนหนึ่งมาจากที่มีธุรกิจต่างๆ ยอมรับการใช้จ่ายด้วยเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin มากขึ้น เช่น Microsoft, AT&T ในสหรัฐอเมริกา ร้าน KFC ในแคนาดา สาขาBurger King ในเวเนซูเอล่า ตู้ขายเครื่องดื่มโคคาโคล่า 2,000 กว่าตู้ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น ระบบพื้นฐานที่เป็นเครื่องมือดูแลการแลกเปลี่ยนไปมาระหว่างเงิน Fiat กับเงินดิจิทัล (on-and off-ramps) และการรับ-จ่ายเงินคริปโตในการซื้อสินค้าบริการได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบแอปพลิเคชั่นวอลเล็ท ที่ใช้ในปัจจุบันหรือบัตรเดบิตคริปโต (Crypto Debit Card) ที่เริ่มมีการใช้ในต่างประเทศ ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าเงินดิจิทัลสามารถนำไปใช้ได้จริง และเมื่อถึงตอนนั้นเงินดิจิทัลก็ไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวเราอีกต่อไป


จากแนวโน้มการทำลงทุน แลกเปลี่ยน หมุนเวียน เงินตราสินทรัพย์ดิจิทัลที่เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การเป็น Infrastructure Provider ลงทุนพัฒนาระบบพื้นฐานไว้ใช้จัดการสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ใช่การวางเดิมพันแบบเสี่ยงโชค แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อคว้าโอกาสก่อนใคร เพื่อรองรับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างแพร่หลายที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานเกินรอ สำหรับบทบาทของ SCB X คุณเดชพลมองว่าควรจะมีผู้เล่นที่มีความรู้ ความเข้าใจและขีดความสามารถทางเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา Infrastructure ให้คนไม่ต้องเป็นกังวลกับเทรนด์ใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นตัวตนเดิมของ SCB อยู่แล้ว ทั้งการเป็นผู้ช่วยดูแลทรัพย์สินของลูกค้า จากที่เคยเป็นทรัพย์สินแบบจับต้องได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นแบบดิจิทัล และการทำให้ทรัพย์สินดิจิทัลสามารถใช้แลกเปลี่ยนกันได้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การแลกเปลี่ยนเป็นเงินที่ใช้กัน หรือเป็นการใช้จ่ายต่างๆ ในอนาคต ทั้งในรูปแบบ Utility Token , Stable Coin, CBDC ฯลฯ ดังนั้น จึงควรมี Exchange Infrastructure สำหรับนำทรัพย์สินดิจิทัลที่เก็บไว้ไปใช้แลกเปลี่ยนกับ Ecosystem ต่างๆ ซึ่งเป็นระบบที่ผู้คนเชื่อมั่นและสามารถใช้งานได้ทั่วไป

“โดยหลักการคือทำอย่างไรให้สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับการเก็บรักษาอย่างปลอดภัย และนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย สิ่งเหล่านี้เป็นระบบพื้นฐานที่พึงสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุน Ecosystem ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลต่อไปในอนาคต ซึ่งเรามองว่าขอบเขตเทคโนโลยีทำให้โลกดิจิทัลไม่มีเส้นกั้นพรมแดนประเทศ โดยในเรื่องของหน่วยงานกำกับดูแลกฎเกณฑ์ในประเทศต่างๆ เราก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว ดังนั้น Infrastructure เหล่านี้ไม่ได้ใช้เฉพาะในเมืองไทย แต่จะเป็นสิ่งที่ใช้ในระดับภูมิภาคสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ SCBX ที่จะก้าวไปสู่การเป็น Regional Player” คุณเดชพลกล่าวสรุป


อ้างอิง
https://www.marketsandmarkets.com/Market-Reports/digital-asset-management-market-96538567.html
https://www.businessinsider.com/more-companies-accepting-bitcoin-cryptocurrency-paypal-starbucks-2021-4