Warehouse & Logistics ถึงเวลาปรับตัวก่อนถูกดิสรัป

เทคโนโลยีได้เข้ามาดิสรัปธุรกิจน้อยใหญ่ตั้งแต่ก่อน Covid-19 โลจิสติกส์เองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากต้นทุนที่สูงขึ้น และคู่แข่งทางธุรกิจใหม่ๆ ที่มีทั้งเทคโนโลยีและเงินทุนเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด แม้ว่าช่วง Covid-19 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โลจิกติกส์ได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย แต่จะเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยหรือไม่ อยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวให้เท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การรอจนโอกาสมาถึง แล้วค่อยเริ่มคิด เริ่มทำ อาจสายเกินไป ซึ่ง คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวางแผนและพัฒนาระบบคลังสินค้าและโลจิสติกส์ ได้มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ไว้ในโครงการ หลักสูตร “MISSION X” The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation รุ่นที่ 4 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565

wha-k-jareeporn

อนาคตอันใกล้ กำลังเร่งให้โลจิสติกส์ต้องรีบปรับตัว

โลจิสติกส์มีส่วนสำคัญต่อ Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ ต้องพึ่งพาโลจิสติกส์มากกว่า 95% การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกระบวนการทำงาน ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่นอกจากจะช่วยในการบริหารจัดการต้นทุน และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันแล้ว ยังสามารถนำไปออกแบบเป็นธุรกิจโมเดลใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตได้ด้วย ซึ่งคุณจรีพรอยากให้มองว่า ทั่วโลกได้ปรับเปลี่ยนแล้ว ถ้าประเทศไทยไม่ปรับตัวให้เร็ว แม้จะลดต้นทุนด้านการผลิตและการตลาดลงได้ สุดท้ายอาจตกม้าตายจากต้นทุนด้านโลจิกติกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น


ในช่วงที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของ Covid-19 ทำให้เกิดความต้องการใช้คลังสินค้ามากขึ้น เพราะเรือไม่สามารถออกจากท่าได้ ส่วนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็จะส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยรวมถึงประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ประโยชน์จากความเป็นกลางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่มาพร้อมกับความท้าทาย หากธุรกิจไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดี ไม่สามารถส่งสินค้าออกได้ตามความต้องการของลูกค้า ก็จะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร และอาจกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การทำงานที่ซ้ำซ้อน พื้นที่คลังสินค้าไม่เพียงพอ ส่งของผิดที่ หรือ ส่งของไม่ทันกำหนดเวลา เป็นต้น


อีกเทรนด์ที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่การทำธุรกิจก็คือการมุ่งสู่สังคม Net Zero ซึ่งหลายๆ ประเทศได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างจริงจัง และจะยิ่งมีบทบาทในเชิงข้อบังคับต่อการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น โลจิสติกส์จึงต้องปรับเป็น Green Transportation อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยต้องมองให้ครบทั้ง Supply Chain เช่น การนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ การมีระบบจัดการของเสียที่สะอาดขึ้น ตลอดจนมองไปถึงการลงทุนในพลังงานสะอาด อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ทดแทน เป็นต้น

New Supply Chain การเปลี่ยนแปลงที่มาเร็วกว่าที่คิด

หลัง Covid-19 การจัดการต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว (resilient) เป็นสิ่งสำคัญมาก ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เกิด New Supply Chain เช่น ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค การกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากจีน การนำระบบ Automation มาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการเกิดโรคระบาด ต้องใช้หุ่นยนต์มาช่วยทำความสะอาด จัดการสต็อก และจัดส่งสินค้าแทนคน ทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผู้บริโภคสามารถติดตามสินค้าในแต่ละขั้นตอนได้แบบเรียลไทม์ การขายสินค้าอย่างเดียวจะไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องสร้างอีโคซิสเต็มเพื่อสร้างฐานลูกค้าด้วย และเป็น Supply Chain ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี และ AI จะเข้ามาช่วยตรวจสอบ และคาดการณ์กำลังการผลิต การจัดการสต็อกสินค้า ทำให้สามารถจัดการต้นทุน และบริหารจัดการงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


เทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ของ Supply Chain จาก Linear เป็น Network ที่ทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด การออกแบบจะเน้นไปที่ Customer Centric เป็นสำคัญ ใครสามารถออกแบบ และนำเสนอสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ รวมถึงหลายๆ อย่างจะถูกแทนที่ด้วย 3D Printing มากขึ้น เพราะต้นทุนถูกลง สามารถสร้างต้นแบบได้โดยไม่ต้องหยุดสายการผลิตหลัก


การทำแพลตฟอร์มไปถึงผู้บริโภคเป็นหนึ่งในการพัฒนาอีโคซิสเต็ม ที่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนที่ต้องผ่านตัวกลางได้แล้ว ยังเป็นโอกาสของผู้ผลิตในการเปลี่ยนจาก B2B ไปเป็น B2B2C ใครที่มีข้อมูล มีฐานลูกค้า ก็สามารถนำมาต่อยอดทำอีโคซิสเต็ม, Web 3.0 และ Metaverse ได้ ซึ่งหากภาคการผลิตสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ในอนาคตตัวกลางต่างๆ อย่าง E-commerce Fulfilment center, Omnichannel Fulfilment center อาจจะหายไป แม้ในปัจจุบันคนไทยยังชอบเดินห้าง แต่คนรุ่นใหม่อาจไม่ใช่ การช้อปปิ้งอาจจะเปลี่ยนรูปแบบเป็น One Stop Service ที่สามารถทำผ่าน Metaverse จ่ายด้วยเงินดิจิทัล แล้วรอของมาส่งที่บ้านได้เลย การทำคอนเทนต์ต้องคิดและทำ เพื่อทำให้ลูกค้ายังอยากที่จะอยู่ใน Community หรือ Metaverse แทน เป็นต้น โดยสิ่งที่คุณจรีพรแนะนำก็คือ ให้นำ Opportunity จากเทคโนโลยีมาเป็นโจทย์ในการคิด เพราะจะได้สิ่งที่ใหม่กว่าการนำ Pain Point มาคิด

ส่องโลกโลจิสติกส์ผ่านกรณีศึกษา

หนึ่งในปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศก็คือ ระบบโลจิสติกส์ ยิ่งใช้งบประมาณน้อย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้มากขึ้นเท่านั้น


การลงทุนด้านโลจิสติสก์ที่สูงที่สุดในตอนนี้ก็คือระบบราง ซึ่งเป็นระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำ สามารถขนส่งสินค้าได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก มีเส้นทางและเวลาในการขนส่งที่ควบคุมได้ แต่ประเทศไทยจะเน้นไปที่การใช้รถยนต์มากกว่า โดยค่าใช้จ่ายทางโลจิสติกส์ต่อ GDP ของไทยในปี 2019 อยู่ที่ 13.4% หากระบบรถไฟฟ้าของภาครัฐทำสำเร็จขึ้นมา ค่าใช้จ่ายต่อ GDP จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 11% ซึ่งหากเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกแล้ว คุณจรีพรมองว่า ไม่ควรเกิน 9% ถึงจะแข่งขันได้ดีขึ้น


ตัวอย่างของนำเทคโนโลยีมาใช้ในโลจิสติกส์ ซึ่งครอบคลุมทั้งระบบขนส่ง ระบบคลังสินค้า การจัดการสต็อก และการกระจายสินค้า

  • Cainiao: เป็น Smart Warehouse ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบตรวจวัดปริมาณแสงในคลังสินค้าด้วยเซนเซอร์แบบเรียลไทม์ สายพานทำงานแบบอัตโนมัติโดยอิงตามปริมาณพัสดุ มีหุ่นยนต์กว่า 700 ตัว ที่สามารถแพ็กสินค้าและจัดส่งไปยังส่วนงานอื่นๆ เพื่อเตรียมจัดส่งได้อย่างรวดเร็ว มี Smart Locker ให้ลูกค้าสามารถรับพัสดุของตัวเองได้ผ่านกล้องสแกนใบหน้า รวมถึง Self-Pickup Locker ที่ใช้ AI ในการบริหารจัดการ
  • JD.com: ใช้หุ่นยนต์ในการจัดการคลังสินค้าตั้งแต่การจัดเรียงขึ้นชั้น การแพ็กของ และจัดส่งไปยังปลายทาง ใช้โดรนเข้ามาช่วยขนส่งสินค้าในพื้นที่ห่างไกลและเดินทางลำบากได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังนำรถยนต์ไฟฟ้า และรถพลังไฮโดรเจนมาใช้ด้วย
  • Amazon: ใช้ AI เข้ามาทำงานแทบจะทุกหน้าที่ในคลังสินค้า มีหุ่นยนต์ขนสินค้าที่สามารถนำสินค้าจากชั้นวางออกมาสู่พื้นที่ตรวจสอบได้ทันทีเมื่อมีคนสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์
  • Yusen Singapore: เป็นคลังสินค้าอัตโนมัติระบบ Swisslog AutoStore ที่ช่วยจัดเก็บสินค้าและ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการคำสั่งซื้อในโกดังสินค้าได้สูงถึง 200%
  • DHL: ใช้ Augmented reality มาช่วยให้พนักงานสามารถหยิบจับสินค้าต่างๆ ในคลังได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วผ่าน Smart Glass
  • Hitachi Transport: ใช้ Automated Guided Vehicle ขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนขับ มี Smart Glass และ Glove Scanner เข้ามาช่วยให้การทำงานในคลังสินค้ารวดเร็ว และคล่องตัวขึ้น


ในประเทศไทยเอง ก็มีหลายบริษัทที่คุณจรีพรเข้าไปทำ Smart Warehouse ให้ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ เพิ่มความสามารถในการผลิต ใช้คนน้อยลง แต่สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการทำงานในห้องเย็นที่อุณหภูมิติดลบ คนไม่สามารถทนต่อความเย็นได้ ก็สามารถใช้หุ่นยนต์ปฏิบัติหน้าที่แทนได้ รวมถึงยังมี On-demand Warehouse ที่ช่วยจัดการคลังสินค้าในช่วงสั้นๆ ให้มีความยืดหยุ่น บริหารจัดการง่าย ค่าใช้จ่ายถูกลง


สิ่งที่คุณจรีพรเน้นย้ำในการรออกแบบคือ ต้องรู้กระบวนการทำงานภายในก่อน แล้วค่อยนำมาออกแบบอาคารให้ตรงตามความต้องการ นอกจากนี้ ยังต้องดูให้เหมาะกับสภาพอากาศในแต่ละประเทศ รองรับการใช้งานแบบ Multiuse ได้ และคิดไปถึงการออกแบบที่ต้องสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าก็ต้องสามารถนำมาคิดทำเป็นสถานีชาร์จไฟต่อได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การเป็นคลังสินค้า แต่เป็นทั้ง Smart Warehouse และ Smart Transportation ที่ช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ และแข่งขันได้ ซึ่งการทำดิจิทัลทรานฟอร์มเมชัน สามารถขอสิทธิพิเศษทางภาษีกับ BOI ได้ด้วย


การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเกิดโรคระบาด การขาดแคลนทักษะแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่สูง จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบ Automation และดิจิทัลทรานฟอร์มเมชันเร็วขึ้น ซึ่งการเริ่มต้นอาจดูเหมือนมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ถ้าทำแล้วเกิดประสิทธิภาพ จะสามารถคืนทุนได้เร็ว ทำให้ต้นทุนถูกลง การทำงานมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำขึ้น ที่สำคัญคือ ได้ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดและออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ได้ด้วย


ที่มา MissionX The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation วันที่ 5 กรกฎาคม 2565