ส่องธุรกิจลองสเตย์ โอกาสฉลุยได้ ชูจุดขายดูแลสุขภาพ

สมัยนี้เหลียวซ้ายแลขวาไปทางไหน คำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวขวัญ สำหรับคนสูงวัยอาจรู้สึกสะดุ้งสะเทือนใจอยู่บ้าง แต่โปรดจงอย่าเหงาใจไป เพราะในประเทศไทยเองคาดว่าภายในปี 2564 จะมีคนอายุเกิน 60 ปีสูงถึง 20% ซึ่งเป็นกลุ่มคนเนื้อหอมที่ธุรกิจไหนๆ ก็อยากเอาอกเอาใจจีบมาเป็นลูกค้าทั้งสิ้น


หากลองแง้มประตูโอกาสทางธุรกิจที่เกาะกระแสท่องเที่ยวอย่าง “ที่พักลองสเตย์” หรือการให้บริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวระยะยาวดู จะพบว่าไทยนั้นได้แต้มต่ออยู่มหาศาล จากการเป็นจุดหมายที่รักของชาวสูงวัยจากญี่ปุ่น นำโดย “เชียงใหม่” ครองตำแหน่งจังหวัดดาวเด่น เฉพาะปีที่ผ่านมามีสถิติการยื่นขออยู่ต่อของชาวต่างชาติ 42,422 คน

ไม่ใช่เฉพาะชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จากการวิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติของศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังพบด้วยว่ามีกลุ่มที่น่าสนใจอย่าง เยอรมนี, ชาติอื่นๆ จากยุโรป และอเมริกัน ให้ความสนใจมาใช้ชีวิตสบายๆ ในช่วงหลังเกษียณที่บ้านเรา ส่งผลให้จังหวัดภาคเหนือตอนบนเริ่มได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า


จำนวนตลาดนี้มีมากแค่ไหน ลองวัดได้จากผลการวิเคราะห์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บอกไว้ว่า ในทั่วทุกมุมโลกจะมีผู้ฉลองวันเกิดครบ 60 ปีกันถึง 2 คนต่อวินาที หรือคิดรวมๆ แล้วมีประชากรที่ก้าวเข้าสู่วัยแซยิดถึง 58 ล้านคนต่อปี


กลุ่มธุรกิจลองสเตย์ที่วางจุดขายเรื่องการให้บริการสุขภาพองค์รวมได้แจ่มแจ้ง จึงรับรองว่ามีโอกาสคว้าใจผู้สูงวัยไปได้กว่าครึ่งแล้ว เพราะโดยพฤติกรรมคนกลุ่มนี้ นอกจากบางส่วนจะมีงบประมาณพร้อมจากสวัสดิการของรัฐที่สะสมมา กลุ่มผู้สูงอายุในเอเชียอย่างญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพในมาตรฐานที่ดีแต่อยู่ในค่าครองชีพที่คุ้มราคาด้วย

ไม่ใช่เพียงแต่ธุรกิจลองสเตย์เท่านั้นที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องการดูแลผู้สูงอายุก็จะเฟื่องฟูไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ลองส่องสถานการณ์ตัวอย่างในญี่ปุ่นเอง จะพบว่ามีธุรกิจที่เกิดขึ้นและขยายสาขาอย่างแข็งแกร่ง อาทิ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ, ธุรกิจบ้านพักผู้สูงอายุ, ร้านจำหน่ายและให้เช่าอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ และบริการด้านอาหารสำหรับบ้านพักผู้สูงอายุ และเริ่มขยายกิจการมายังไทยแล้ว เพื่อตอบรับกับกระแสความสนใจของลูกค้ากลุ่มนี้


โอกาสอันงดงามยังมาจากการที่ภาครัฐเริ่มออกนโยบายไฟเขียวสนับสนุนเต็มที่ ให้ภาคเอกชนเดินหน้าดึงกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้เข้ามาเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการให้วีซ่าสำหรับชาวต่างชาติผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมาเพื่อพักผ่อน โดยมีระยะพำนักได้ 1 ปี (Non-Immigrant Visa  “O-A” Long Stay) และหน่วยงานต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เริ่มเปิดช่องทางให้ธุรกิจไทยจับคู่กับธุรกิจต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เราได้นำองค์ความรู้มาต่อยอด สร้างฐานการบริการของตัวเองให้แข็งแกร่งในอนาคตด้วย

ขณะเดียวกัน ด้วยตัวเลขผู้สูงอายุในประเทศไทยที่แสดงให้เห็นแล้วตอนต้น ในตลาดเมืองไทยเอง ผู้สูงอายุจึงเป็นลูกค้ารายสำคัญที่โครงการอสังหาริมทรัพย์ชูจุดขาย ระดมสร้างสังคมสูงวัยที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในจังหวัดภูเขาและชายทะเล เพื่อดึงดูดให้คนกลุ่มนี้แสวงหา “บ้านหลังที่สอง” ที่จะพึ่งพิงตัวเองได้ และมีเพื่อนฝูงในวัยเดียวกัน พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมแอคทีฟที่เหมาะกับช่วงวัย


เพื่อไม่ให้คำว่า “อายุ” เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต

 

อ้างอิงข้อมูล

https://www.prachachat.net/local-economy/news-225999

https://mgronline.com/business/detail/9620000001987

https://www.matichon.co.th/foreign/indepth/news_789840