China’s Dual Circulation: ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน การเติบโตรูปแบบใหม่ของจีน

หลังการประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 (5th Plenum) ของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2020 พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการนำเสนอผลงานการบริหารประเทศในช่วงที่ผ่านมาต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้มีการพิจารณาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี (2021-2025) ครั้งที่ 14 และวางเป้าหมายไปจนถึงปี 2035

หนึ่งในคำที่น่าสนใจมากที่สุดจากการประชุม คือ การกล่าวถึง Dual Circulation หรือ ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน ซึ่งเป็นแผนการพัฒนา และหนทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้นของจีนในระยะข้างหน้า อันที่จริงแล้ว ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้เปิดแผนยุทธศาสตร์นี้ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2020 โดยให้ความสำคัญกับหลักการ ‘ การหมุนเวียนภายในประเทศ (Internal Circulation) ’ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ และลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศเป็นแกนหลัก


ในขณะเดียวกันจะต้องมี ‘ การหมุนเวียนภายนอกประเทศ (External Circulation) ’ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออก และการไหลเวียนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เปิดเสรีเป็นแกนเสริมและทำงานควบคู่กันไป แม้ว่าการปรับสมดุลในลักษณะนี้ไม่ใช่หลักการใหม่ในการวางแผนการเติบโตของจีน แต่สำหรับยุทธศาสตร์นี้ จีนตั้งเป้าหมายในระยะยาวที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ และลดความเสี่ยงจากการต้องพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศ

สถานการณ์ปัจจุบัน จีนกำลังเผชิญความท้าทายที่สำคัญทั้งในระยะสั้นและระยาว ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โดย ความท้าทายระยะสั้น มีอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่แย่ลง และแนวโน้มการกีดกันทางการค้าที่ยังเพิ่มขึ้นทั่วโลก
  2. โมเดลเศรษฐกิจจีนปัจจุบันยังไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังพึ่งพาการลงทุน และการก่อหนี้จำนวนมากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
  3. วิกฤตการระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคครัวเรือน และความไม่แน่นอนที่มากขึ้นของอุปสงค์จากต่างประเทศ

china_dual_circulation1

พร้อมกันนี้ ในระยะยาว ความท้าทาย สำคัญอีก 2 ประการที่มีแนวโน้มบั่นทอนความฝันของจีน ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ กำลังปรากฏชัดขึ้น ได้แก่

  1. ศักยภาพการเติบโตที่ลดลงจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และคนวัยแรงงานที่เริ่มลดลง
  2. ภาวะ De-Globalization และกระแสต่อต้านจีนในหลายประเทศ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจตะวันตก ดังนั้น การประกาศแผนยุทธศาสตร์ใหม่ที่มีความชัดเจน จึงเป็นวิธีการเตรียมรับมือกับความเสี่ยง และพัฒนาแนวทางการเติบโตในระยะยาวของจีน

Dual Circulation มีรายละเอียดและประเด็นใดที่น่าสนใจ และจะมีผลต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกอย่างไร?

ในการที่ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานจะประสบผลสำเร็จ ต้องอาศัยการประสานและการขับเคลื่อนพร้อมกัน ทั้งจากการหมุนเวียนภายในและการหมุนเวียนภายนอก ในรายละเอียด การหมุนเวียนภายใน หมายถึง เป้าหมายและการปฏิรูปทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานของเศรษฐกิจจีนอย่างตรงประเด็น

โดยด้านอุปสงค์ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ และให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย

ด้านอุปทาน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้บริษัทและอุตสาหกรรมของจีนพึ่งพาการผลิตและปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศน้อยลง โดยเฉพาะในยุคที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนยังคงมีแนวโน้มดำเนินต่อเนื่อง ทั้งด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์

ในอีกด้านคู่ขนาน การหมุนเวียนภายนอก มีเป้าหมายว่าจีนจะยังคงส่งเสริมการไหลเวียนของสินค้า บริการ และเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยการส่งออกจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตอยู่ในระยะสั้น แต่จะทยอยลดบทบาทในสัดส่วนของ GDP ลงตามระยะเวลา ในขณะที่การปฏิรูปเพื่อเปิดเสรีบัญชีเงินทุนจะดำเนินต่อไป เนื่องจากจีนมีเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างความหลากหลายให้กับตลาดทุน ให้เทียบเท่ากับตลาดของชาติมหาอำนาจอื่นๆ


ประเด็นสำคัญที่แตกต่าง เมื่อเทียบกับแผนการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 10 ปีทีผ่านมา คือ จีนตั้งเป้าหมายในระยะยาวที่จะใช้การผลิตในประเทศ เพื่อรองรับอุปสงค์ภายในที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการนำเข้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ แท้จริงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2015 เมื่อจีนได้เปิดแผน Made in China 2025 ซึ่งมีเป้าหมายการยกระดับฐานการผลิตของจีน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหลักการของยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานนี้ ยังสานต่อเจตนารมณ์เดิมของจีนในการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและการผลิตจากต่างชาติ

สำหรับนัยต่อเศรษฐกิจ ผลในระยะสั้น ของยุทธศาสตร์นี้ น่าจะช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายการเติบโตทาง GDP ได้ราว 5-5.5% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า และการเติบโตของอุปสงค์ภายในจีนจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย จากความเชื่อมโยงทางการค้าและบริการ อย่างไรก็ดี ผลในระยะยาว อาจมีข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเช่นกัน เมื่อจีนเริ่มลดการนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสามารถผลิตและบริโภคได้จากภายใน

สำหรับนัยต่อประเทศในเอเชีย ที่อาจได้อานิสงค์จากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในตอนนี้ ต้องจับตารูปแบบการค้าการลงทุนของจีนที่อาจจะเริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากแม้จีนจะยังมีแนวโน้มออกมาลงทุนภายนอก แต่จะมีแนวโน้มเริ่มเลือกเป้าหมายการลงทุน ที่จะสามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตและการบริโภคในจีนได้ ด้วยเหตุนี้ นวัตกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเป้าหมาย จะเป็นตัวแปรสำคัญในการรับการค้าและการลงทุนจากจีนในระยะต่อไป ซึ่งประเทศสำคัญที่จีนอาจมีแนวโน้มเพิ่มการลงทุน และอาจลดการลงทุนได้ในอนาคต ได้แก่ กลุ่มประเทศในเอเชียเหนือ และกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเทคโนโลยี ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องมือและเครื่องจักร ฯลฯ

Dual Circulation มีนัยต่อการลงทุนสำหรับตลาดการเงินโลกและนักลงทุนในตลาดโดยทั่วไปอย่างไร?

ผลสำเร็จจากยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานมีแนวโน้มที่จะทำให้จีนมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการเงินมากขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอก โดยผลจากการหมุนเวียนภายในที่สัมฤทธิ์ผล จะ สร้างตลาดผู้บริโภคคุณภาพขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นภายในจีน (Consumption Powerhouse) และจะเพิ่มสัดส่วนภาคบริการและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค รวมถึงจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอีกด้าน ผลจากการหมุนเวียนภายนอกที่สัมฤทธิ์ผล จะ สร้างแรงดึงดูดเงินทุนให้ไหลเข้ามาลงทุนในจีนได้อย่างมหาศาล (Capital Flow Magnet) จากการทยอยเปิดเสรีภาคการเงิน ทั้งในส่วนตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางการเงินในเชิงลึก พร้อมกับการเปิดรับเงินทุนจากต่างชาติ และการเพิ่มสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความผันผวนของตลาดหุ้น รวมถึงมาตรฐานการส่งเสริมการกำกับดูแลที่ดี จะช่วยทำให้ตลาดหลักทรัพย์จีนเป็นเป้าหมายการลงทุนหลักจากนักลงทุนทั่วโลกได้

นอกจากนี้ ผลจากการปรับสมดุลของเศรษฐกิจไปยังภาคการบริโภคของชาวจีน จากกลุ่มสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค ไปสู่กลุ่มสินค้าพรีเมียมที่เน้นคุณภาพ และการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงการที่จีนเน้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ในยุคดิจิทัล จะทำให้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของจีน ยังคงเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลก นอกจากนี้ การที่จีนได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม การมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ก่อนปี 2060 รวมถึงแนวคิด Climate Change และ ESG (แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย E = Environment, S = Social และ G = Governance) จะยิ่งช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อบริษัทจีนในระยะต่อไป ซึ่งในภาพรวมจะส่งผลดีต่อทั้งการระดมทุนในตลาดจีน และการลงทุนโดยตรงในตลาดจีน และจะเป็นแรงดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติ ที่เห็นถึงศักยภาพการพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจ และบริษัทจีนในอนาคต


บทความโดย  คุณธนพล ศรีธัญพงศ์
Manager, Investment Advisory Chief Investment Officer (CIO) บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด

ขอบคุณข้อมูลจาก The Standard Wealth