ระวังถูกชักชวนลงทุน ตกเป็นเหยื่อขบวนการแชร์ออนไลน์

ในยุคดิจิทัลที่ถนนทุกสายมุ่งสู่ออนไลน์ มีหรือที่ขบวนการมิจฉาชีพจะไม่ปรับตัวเพื่อหากลวิธีแบบใหม่หลอกล่อเหยื่อให้ติดเป็ด แน่นอนว่าการล่อหลอกจะทำให้เกิดความโลภ เกิดกิเลส  เพื่อให้ลงทุนในธุรกิจหรือสินทรัพย์จากความไม่รู้ในธุรกิจอย่างดีพอ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะหลอกให้ลงทุนในการลงทุนแบบใหม่ ธุรกิจใหม่ โดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนทั่วไป เช่น  ได้รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือนหรือลงทุน 3 ปีได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 100% เป็นต้น


พอมิจฉาชีพได้เงินไปก็จะนำเงินที่ได้ไปจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้กับคนแรกที่ลงทุน จากนั้นก็จะหาเหยื่อรายใหม่มาเป็นลูกข่ายลงทุนอีกเป็นทอดๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อนำเงินมาจ่ายให้เท้าแชร์หรือแม่ข่าย หากเกิดเหตุไม่สามารถหาคนใหม่มาลงทุนเพิ่มได้แชร์ก็จะล้ม เพราะไม่มีเงินมาจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลได้อีก และเมื่อแชร์ลูกโซ่ล้ม คดีส่วนใหญ่ผู้เสียหายหรือเหยื่อมักจะทวงเงินคืนจากมิจฉาชีพไม่ได้เพราะเงินมักจะถูกโยกย้ายออกไปก่อนจะมีคดีความ จนไม่สามารถตามหาเส้นทางการเงินได้ ในที่สุด คนที่โดนหลอกลวงมักสิ้นเนื้อประดาตัวหรืออาจสูญสิ้นเงินเก็บที่หามาทั้งชีวิตก็เป็นได้


หากลองคิดตามความเป็นจริง ไม่มีการลงทุนใดในโลกที่สามารถการันตีผลตอบแทนที่แน่นอนได้ แต่ด้วยเทคนิคและกลวิธีที่แยบยล การหลอกลวงโดยใช้ความร่ำรวยโอ้อวด ยิ่งถ้าหากเป็นเพื่อนฝูงมาชวนความเชื่อใจก็ยิ่งมีสูง ทำให้โดนหลอกลวงต่อได้ง่าย ในปัจจุบันแชร์ออนไลน์มีหลากหลายประเภทแล้วแต่มิจฉาชีพจะจัดตั้งขึ้นมาทั้งการขายสินค้า, ขายตรง, ลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ เช่น  Forex หรือสกุลเงินดิจิทัล, ระดมเงินเข้าตลาดหุ้นจนเลยไปถึงแชร์เลี้ยงวัวก็ยังมีข่าวให้เห็นตามสื่อออนไลน์ แต่ไม่ว่าจะเป็นแชร์ออนไลน์หรือแชร์ลูกโซ่ประเภทไหน มักจะมีลักษณะร่วมที่มิจฉาชีพใช้เป็นเหยื่อล่อเพื่อหลอกลวงหรือเชิญชวนให้คนลงทุนดังนี้

รู้ไว้ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ออนไลน์

  • มักโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อออนไลน์  เช่น Facebook  ว่าเป็นการลงทุนที่ง่ายมาก ได้ผลกำไรงาม ใครๆ ก็ทำได้ แถมการันตีผลตอบแทน  หรือลงทุนระยะสั้นให้ผลตอบแทนสูง ไม่มีขาดทุน แต่ในความเป็นจริง การลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งผลตอบแทนสูง ยิ่งเสี่ยงมาก 

  • บอกให้ชวนเพื่อนสนิทหรือคนรู้จักมาลงทุน เช่น ยิ่งชวนคนมาลงทุนเยอะๆ ยิ่งได้ผลตอบแทนมาก หรือจะได้คอมมิชชั่นจากการหาคนมาลงทุน เป็นต้น  เมื่อเหยื่อรายแรกหลงกลเชื่อลงทุนและได้รับผลตอบแทนจากมิจฉาชีพทำให้เกิดความน่าเชื่อถือเพื่อหลอกให้ลงเงินมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อเหยื่อเชื่อใจก็จะบอกให้ชักชวนเพื่อนฝูงญาติสนิทมิตรสหายให้มาร่วมลงทุน ซึ่งมักจะได้ผลดีเพราะคนเป็นญาติหรือเพื่อนสนิทใกล้ชิดจะจูงใจได้ง่ายกว่า

  • ใช้เทคนิคโน้มน้าวเร่งรัดให้รีบตัดสินใจลงทุน เช่น ลงทุนก่อนเพราะสิทธิพิเศษมีจำกัด, รีบลงทุนจะได้ผลตอบแทนดีกว่าคนหลังๆ , รีบโอนเงินลงทุนเป็นค่าธรรมเนียมเพื่อรับรางวัลพิเศษมากกว่าใคร เป็นต้น

  • เมื่อแชร์ออนไลน์หรือแชร์ลูกโซ่ เริ่มไม่มีคนหลงเข้าลงทุนหรือหมุนเงินไม่ทัน มิจฉาชีพมักจะอ้างว่าธุรกิจขาดทุน ธุรกิจติดปัญหา ขอผลัดผ่อนการส่งดอกเบี้ยหรือเงินปันผลไปก่อน หรือรอรอบหน้าจะให้เงินเป็นสองเท่าเพื่อประวิงเวลา แล้วทำการโยกย้ายเงินหรือแปลงสภาพเงิน ก่อนที่เหยื่อหรือผู้เสียหายจะรู้สึกถึงความผิดปกติจนเข้าแจ้งความกับตำรวจ ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่สามารถแกะรอยเส้นทางการเงินได้ เพราะได้ถอนเงินออกไปหมดหรือแปลงสภาพเงิน รวมทั้งมิจฉาชีพยังได้หลบหนีไปแล้ว

  • มิจฉาชีพหรือท้าวแชร์มักจะสร้าง Account ออนไลน์แล้วซื้อโฆษณายิงไปหากลุ่มเป้าหมาย ด้วยการสร้างภาพให้ดูดีว่าอยู่บ้านหลังใหญ่ ขับรถสปอร์ต ใช้ชีวิตหรูหรา ไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ หรืออาจมีการโชว์ภาพถ่ายคู่กับคนดังทำตัวเหมือนรู้จักกัน หรือเอารูปดารามาแอบอ้างว่าเป็นผู้ร่วมทุน เพื่อให้คนเชื่อถือและสงสัยว่าทำอาชีพอะไรทำไมชีวิตดูรวย เมื่อเหยื่อเริ่มตายใจก็จะบอกว่าที่รวยเพราะลงทุนแบบนี้ใครสนใจทักมาได้

  • บริษัทที่มิจฉาชีพอุปโหลกตั้งขึ้นมา มักจะสืบหาต้นต่อหรือตรวจสอบไม่ได้ทางออนไลน์หรือไม่มีตัวตนอยู่จริง หรือหากมีเว็บไซต์ปลอมหรือสื่อเซียลมีเดียปลอม ก็จะไม่มีความเคลื่อนไหวหรือหาที่ตั้งของบริษัทไม่ได้หรือไม่สามารถโทรติดต่อได้

  • ในบางครั้งเมื่อเหยื่อสงสัยว่าการลงทุนแบบนี้ผิดกฎหมาย  มิจฉาชีพมักโต้แย้งว่าเป็นการลงทุนในต่างประเทศที่ชอบด้วยกฎหมายในประเทศนั้นๆ ซึ่งใช้ไม่ได้เพราะหากมีการระดมทุนเกิดขึ้นในประเทศไทยจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย การแอบอ้างว่าถูกกฎหมายในต่างประเทศนั้นใช้ไม่ได้ 

เช็กให้ชัวร์ก่อนลงทุน

ก่อนลงทุนให้ตรวจสอบชื่อบริษัทว่าเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ดังนี้

  • ตรวจสอบ BOT License Check ผ่านเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.bot.or.th) เพื่อตรวจสอบข้อมูลใบอนุญาตหรือใบขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น P-Loan, Nano Finance, e-Money

  • ตรวจสอบ SEC Check First ที่เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (https://www.sec.or.th) เพื่อค้นหารายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. รวมถึงค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุน (หลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล) และค้นหารายชื่อผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต/จดทะเบียน/ความเห็นชอบที่อยู่ใน Investor Alert หรือสอบถามสายด่วน โทร.1207   

  • เช็กรายชื่อบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (https://www.set.or.th)

  • หากเกิดข้อสงสัยว่าถูกหลอกจากมิจฉาชีพแชร์ออนไลน์หรือแชร์ลูกโซ่  ให้ติดต่อส่วนป้องปรามการเงินนอกระบบ กองนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-216- 7128 ถึง 36 ต่อ 153 – 160 หรือ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ โทร. 1359 กด 1


ฉะนั้นก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ขอให้ฉุกใจคิดก่อนสักนิดว่าไม่มีการลงทุนใดๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงได้ในระยะสั้นแล้วสามารถการันตีผลตอบแทนได้ และยิ่งลงทุนแล้วให้ผลกำไรมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพก่อนลงทุนหรือร่วมทำธุรกิจที่มีการชักชวนผ่านสื่อออนไลน์ ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนการลงทุน หรือเลือกลงทุนในสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือที่ได้รับการรับรองจากองค์กรภาครัฐ