การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เช็กก่อน แล้วค่อยแชร์ เรื่องจริงแท้ค่อยส่งต่อ
ท่ามกลางความวิตกกังวลใจจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโคโรน่า โรคอุบัติใหม่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือการเมืองที่ร้อนแรง เชื่อว่าใน 1 วัน พวกเราคงได้รับข้อความที่ส่งต่อกัน หรือแชร์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นจำนวนมาก บ้างก็เป็นข้อมูลเก่า เอามาแชร์ใหม่ให้เกิดความเข้าใจผิด บ้างก็ขายของที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จนหลายคนที่ได้รับข้อความอาจจะเกิดอาการหวาดระแวง ตระหนกตกใจ หรือคล้อยตามจนสั่งซื้อของโดยไม่ทันได้ศึกษาข้อมูลก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่บ้านของพวกเรา
แล้วเราจะทราบได้อย่างไร ว่าข้อมูลนั้นเชื่อถือได้หรือไม่
1. แหล่งที่มา
ข้อความที่ส่งต่อกัน มักมีการกล่าวอ้างถึง คนดัง, ผู้บริหาร หรือบุคคลากรทางการแพทย์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
2. ตราสัญลักษณ์องค์กร
การใช้ตราสัญลักษณ์ขององค์กร หรือหน่วยงานก็มักถูกนำมาใช้สร้างความน่าเชื่อถือ แต่เมื่อมีการใช้ตราดังกล่าวแล้ว เราสามารถตรวจสอบข้อมูลนั้นได้ง่ายขึ้นโดยเข้าไปยังเว็บไซต์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย แล้วค้นหาว่ามีเนื้อหา หรือข่าวสารตามที่ได้รับมาหรือไม่
3. การใช้ภาษา การสะกดคำ
ข้อความที่ส่งต่อกันมานั้นมักมีการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง ในแง่ของการสะกดคำ หรือเป็นภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาทางการแม้จะอ้างอิงว่ามาจากสถาบันต่างๆ ที่เชื่อถือได้
4. กระตุ้นให้เกิดการส่งต่อ
สังเกตว่าข้อความที่เป็นข่าวปลอม ข้อมูลลวงมักจะบอกเราว่า “อย่าลืมส่ง” “โปรดแชร์เพื่อคนที่คุณรัก” หรือ “รีบส่งให้เพื่อนทุกคน” เพื่อให้ข้อความสามารถกระจายไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ดังนั้น เมื่อเราได้รับข้อความ รูปภาพใดๆ ก็ตาม จากการส่งต่อ หรือแชร์มาจากโซเชียลมีเดีย ควรตั้งสติก่อนกดปุ่มแชร์ อาจจะลองหาข่าว ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น กรณีโควิด-19 เราอาจจะติดตามได้จากกระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักข่าวที่มีตัวตนจริง และหากมีคนส่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้มาให้เรา ก็อย่าเพิ่งโกรธ หรือต่อว่ากัน แต่ควรชี้แจงด้วยถ้อยคำที่เป็นห่วงเป็นใย ให้อีกฝ่ายเกิดความระมัดระวังมากขึ้น