5 วิธี ระวังภัยโลกออนไลน์ให้ลูกหลาน

ในโลกยุคปัจจุบันที่เด็กเกิดและเติบโตมาโดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นของธรรมดาในชีวิตประจำวัน  โอกาสที่จะถูกภัยจากโลกไซเบอร์จู่โจมเข้าถึงตัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลาที่พวกเขาใช้เครื่องมือสื่อสารเข้าสู่โลกออนไลน์ การทำให้เด็กๆ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์จึงเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม


จากข้อมูลการศึกษาโดย Kaspersky ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ IT Security พบว่า 73% ของวัยรุ่นไม่สามารถจินตนาการชีวิตที่ปราศจากสมาร์ทโฟนได้ 44% ของเด็กอายุ 8 ถึง 16 ปีออนไลน์เป็นประจำ ใช้งานแอปความบันเทิงและโซเชียลมีเดีย มีเด็กจำนวน 40% เปิดเผยข้อมูลที่ความอ่อนไหวในโลกออนไลน์ ซึ่งรวมถึงที่อยู่ของพวกเขาด้วย และที่น่ากังวลคือ เด็ก 37% เคยเจออันตรายในโลกออนไลน์ เช่น ถูกกลั่นแกล้ง (bullying) ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเงิน (financial threats) คอนเทนท์ไม่เหมาะสม เป็นต้น


ภัยจากโลกออนไลน์มาจากอะไรบ้าง?


· คนแปลกหน้า : มิจฉาชีพเชี่ยวชาญการแฝงตัวเข้าถึงตัวเด็กๆ ผ่านเว็บไซต์อย่างเกมออนไลน์ และโซเชี่ยลมีเดีย โดยทำทีว่าเป็นเด็กๆ เหมือนกัน พวกมิจฉาชีพที่เป็นแฮ๊คเกอร์จะพุ่งเป้าไปที่คนที่มีระบบความปลอดภัยออนไลน์อ่อนแอ อาจเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้ บางที พวกเขาจะหลอกให้เด็กๆ แชร์ข้อมูลผู้ใช้ รหัสผ่าน หรือรายละเอียดการจ่ายเงินออนไลน์ เป็นต้น


· เด็กๆ ด้วยกัน : เด็กหลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งหรือล่วงละเมิดจากเด็กๆ ที่พวกเขารู้จัก ส่วนใหญ่จะเกิดการแช็ทผ่านแอปส่งข้อความหรือโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ บางทีเด็กคนอื่นก็นำเอาข้อมูลส่วนตัวของเด็กอีกคนไปแชร์โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม ซึ่งสร้างความเครียดให้เด็กที่ถูกนำข้อมูลไปแชร์ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่นภาพส่วนตัวในที่ลับ ฯลฯ อาจนำไปสู่ความผิดทางอาญาได้


· ตัวเอง :  ความเสี่ยงนี้เกิดกับเด็กที่ใช้เครื่องมือสื่อสารโดยปราศการดูแล เพราะพวกเขาอาจไปกดติดตั้งซอฟต์แวร์อันตรายต่างๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไปโพสต์ข้อมูลส่วนตัว อย่างวันเดือนปีเกิด หรือที่อยู่ ฯลฯ แบบสาธารณะที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ 

จะดูแลพวกเขาให้ปลอดภัยจากภัยออนไลน์อย่างไร 


แม้พ่อแม่จะอยากติดตามดูทุกความเคลื่อนไหวของลูกบนโลกออนไลน์ แต่ในความเป็นจริงอาจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เขาต้องการความเป็นส่วนตัวและอยากให้พ่อแม่เคารพในจุดนี้ ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่ที่ห่วงความปลอดภัยของลูก การให้ความรู้และสร้างทักษะการท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำตั้งแต่พวกเขายังเป็นเด็กเล็ก


1) ใช้สื่อการเรียนรู้ที่เหมาะกับวัยของเด็ก 

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจเรื่องความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต  รวมถึงการจะอธิบายอย่างไรไม่ให้พวกเขาหวาดกลัวจนเกินไป การหาสื่อที่เหมาะกับวัยของเขามาช่วยอธิบายเป็นตัวช่วยที่ได้ผลดี เช่น ebook และซีรีส์อนิเมชั่น เรื่อง Kasper, Sky and the Green Bear ที่เป็นเรื่องราวของเด็กชายกับเพื่อนของเขาและหมีชื่อ Kuma โดยเนื้อเรื่องแต่ละตอนจะให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การรักษาความเป็นส่วนตัว การตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัย และจะทำอย่างไรเมื่อถูกกลั่นแกล้ง เมื่อเด็กๆ มีความเข้าใจพื้นฐานแล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะสอนให้เขาดูแลความปลอดภัยตัวเองเมื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต


2) วางกฎการใช้อินเทอร์เน็ต 

ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก ควรเป็นเป็นกฎที่ไม่ซับซ้อนและทำตามได้ง่าย ตัวอย่างกฎพื้นฐาน เช่น ฉันจะขออนญาตผู้ใหญ่ก่อนจะออนไลน์ทุกครั้ง ,จะใช้เวลากับหน้าจอ วันละ 30 นาที ขออนุญาตผู้ใหญ่กอนจะติดตั้งเกมใหม่ จะใช้แอปที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น (เช่น Youtube หรือเว็บบราวเซอร์ที่มีตั้งค่าการค้นหาปลอดภัย) และอื่นๆ

เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น พวกเขาก็ต้องการอิสระมากขึ้น ควรคุยกับลูกถึงการตั้งกฎการใช้อินเทอร์เน็ต เป็นการทำความเข้าใจและทำข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งรายละเอียดรวมถึง การไม่เปิดเผยชื่อจริงและที่อยู่บนโลกออนไลน์ ไม่กดจ่ายเงินในแอปที่มี in-app payment โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่แชร์ข้อมูลส่วนตัวและรูปภาพของตัวเองโดยเฉพาะภาพล่อแหลม ถ้ามีใครในโลกออนไลน์พยายามเข้าถึงตัวเราหรือต้องการให้เราทำอะไรที่เราไม่ต้องการ ต้องบอกผู้ใหญ่ทันที เป็นต้น


3) ให้ความสำคัญกับการใช้งานอย่างถูกต้อง 

แม้โลกดิจิทัลไม่ใช่ที่ปลอดภัย 100% แต่ในเมื่อสิ่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก จึงต้องสอนเด็กๆ ให้มีทักษะป้องกันตัวจากภัยที่อาจเกิดขึ้น แนะนำเช็กลิสต์ให้มั่นใจว่าเด็กๆ มีทักษะการใช้งานออนไลน์อย่างถูกต้องแล้ว

  • รู้ว่าต้องทำอย่างไร ถ้ามีใครมาทำให้รู้สึกไม่ดี
  • รู้ว่าควรบอกหรือไม่บอกข้อมูลอะไรบนโลกออนไลน์
  • รู้ว่าควรพูดคุยกับเพื่อนเท่านั้น ไม่คุยกับคนแปลกหน้า
  • รู้วิธีเช็กเว็บไซต์ว่าจริงหรือปลอม และรู้ว่าไม่ควรเข้าเว็บไซต์ที่อันตรายและไม่เหมาะสม
  • รู้วิธีการตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัยและการใช้มือถือตั้งค่ายืนยันตนสองขั้นตอน  (two-factor authentication)
  • รู้ว่าต้องขออนุญาตผู้ปกครองก่อนจะจ่ายเงินออนไลน์
  • รู้ว่าต้องระวังการโพสต์ความลับหรือรูปถ่ายส่วนตัวในโลกออนไลน์
  • ถ้าไม่รู้หรือไม่แน่ใจอะไร ให้ถามหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ก่อนเสมอ

 

4) สร้างความเชื่อใจ เคารพในกันและกัน

ในโลกความเป็นจริงแล้ว เด็กๆ ไม่ได้บอกเราให้รู้เมื่อมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นเสมอไป บางครั้งการผิดกฎการใช้อินเทอร์เน็ตเล็กน้อย อาจนำไปสู่เรื่องเลวร้าย อย่างการถูก Phishing หรือถูกสแกมเมอร์หลอก แต่เด็กๆ ก็กลัวที่จะบอกให้พ่อแม่รู้ว่าพวกเขาทำผิด เพราะกลัวจะถูกลงโทษ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความไว้วางใจกันในครอบครัว ให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่พร้อมเข้าใจและอยู่เคียงข้างเขาเสมอ และความปลอดภัยของเขามาก่อนสิ่งอื่น เมื่อเกิดปัญหาก็หาทางแก้ไขโดยไม่กล่าวโทษกัน อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือพ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกๆ เราต้องมั่นใจว่าเราใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ และพยายามลดการดูหน้าจอเมื่อเราอยู่กับเด็กๆ


5) ใช้เทคโนโลยีช่วยเสริมความปลอดภัย

ปัจจุบันมีการพัฒนาโปรแกรมมาช่วยให้การใช้งานออนไลน์มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น เช่น โปรแกรม Anti-virus, Anti-phishing, Webcam Protection, Content Blocker, VPN, Password Protector รวมถึงโปรแกรมที่ใช้ดูแลการใช้งานคอมพิวเตอร์ของเด็กโดยเฉพาะ เช่น GPS Tracking ที่ช่วยมอนิเตอร์โลเคชั่นเครื่องมือสื่อสารที่ติดตัวเด็ก , Screen time control จัดการการใช้งานคอมพิวเตอร์ของเด็กๆ โดยผู้ปกครองสามารถกำหนดเวลาการเล่นเกม โซเชี่ยลมีเดียในแต่ละวันได้, Content filter คัดกรองคอนเทนท์ที่ไม่เหมาะสมจากการค้นหาในเว็บ Search Engineหรือ YouTube สามารถปรับระดับให้เหมาะสมกับวัยได้

ภัยจากโลกออนไลน์สามารถเกิดกับคนได้ทุกวัย ยิ่งในวัยผู้ใหญ่ที่ไม่รู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ อาจประสบเหตุให้เสียทรัพย์อย่างไม่ทันตั้งตัวได้ จึงต้องรู้จักป้องกันตนเองและคนรอบข้าง ให้รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ต่างๆ