ตรวจสอบได้ ปลอดภัยสูง ตอบรับอนาคตด้วย Blockchain

ท่ามกลางคำศัพท์เกี่ยวกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่เราได้ยินกันหนาหูในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เริ่มทำให้หลายคนหันมาสนใจและเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็น FinTech, Bitcoin ไปจนถึง Blockchain

Blockchain คือเทคโนโลยีระบบการจัดการฐานข้อมูล (Data structure) เพื่อยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรม การแลกเปลี่ยน หรือ การโอนเงิน โดยมาพร้อมความปลอดภัยระดับสูง เพราะไม่ต้องพึ่งพาคนกลางมาคอยทำหน้าที่ประสานงาน แต่เป็นการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ (machine-to-machine) ด้วยกัน เพื่อยืนยันการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ การทำงานของ Blockchain เป็นในลักษณะการแชร์ข้อมูลร่วมกัน (ลองนึกถึงเอกสาร google drive ที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่จากบัญชีของบุคคล เป็นบัญชีของคอมพิวเตอร์แทน) ดังนั้นเมื่อมีการแก้ไขเอกสารหนึ่งครั้ง ทุกเครื่องที่มีสำเนาจะบันทึกการแก้ไขทั้งหมด ซึ่งถูกลงเวลาไว้เป็นตราประทับ และถ้าหากเกิดธุรกรรมหรือการแลกเปลี่ยนใดๆ จะต้องได้รับการยืนยันจากเครือข่ายส่วนมาก หรือตามจำนวนที่กำหนดไว้เสียก่อน เมื่อยืนยันแล้ว ธุรกรรมหรือการแลกเปลี่ยนนั้นจึงเกิดขึ้นจริง กลไกเช่นนี้ทำให้ Blockchain เป็นระบบที่สามารถตรวจสอบได้โดยละเอียดและมีความปลอดภัยสูง

หลายคนคุ้นเคยการใช้ Blockchain กับ Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลที่ใครๆ ว่าเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกสู่อนาคตใหม่ที่ใกล้จะมาถึง แต่ในบทความนี้เราจะขอยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้งาน Blockchain กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เพื่อหาคำตอบว่าทำไม Blockchain ถึงเป็นเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามากถึง 210 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021 ที่จะมาถึงนี้

Music Streaming: ฟังเพลงมากเท่าไหร่ รายได้เพิ่มมากเท่าน้ัน

การเกิดขึ้นของ Music Streaming นั้นเป็นเรื่องดีต่อเหล่าผู้บริโภคนักฟังเพลงอย่างแน่นอน เพราะเข้าถึงง่ายและฟังเพลงหลากหลายในทุกที่ทุกเวลา แต่อาจไม่ใช่สำหรับนักดนตรี ศิลปิน หรือผู้ผลิตเพลงที่สูญเสียรายได้ไปถึง 86% จากการดาวน์โหลดเพลงอย่างผิดกฎหมาย การเกิดขึ้นของ Blockchain จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการให้ศิลปินเข้าถึงคนฟังได้โดยไม่ผ่านคนกลางอย่างค่ายเพลง โดยเริ่มมีความเคลื่อนไหวจากคนในอุตสาหกรรม อย่างเช่น MYCELIA แพลตฟอร์ม Music Streaming ที่ก่อตั้งโดย อิโมเจน ฮีป (Imogen Heap) นักร้องดีกรีแกรมมี่ อวอร์ด เปิดตัวแพลตฟอร์มที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมและความยั่งยืนในระบบการผลิตเพลง และสร้างความแน่ใจได้ว่าผู้มีส่วนร่วมในหนึ่งเพลงจะได้รับค่าตอบแทนอย่างถูกต้อง โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาเป็นตัวกลาง


หรือการเกิดขึ้นของ Musicoin แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ การเผยแพร่ และการบริโภคเพลงอย่างครบวงจร แพลตฟอร์มนี้ใช้ Blockchain เข้ามาสร้างสกุลเงินที่เรียกว่า ‘Musicoin (MC)’ ที่มาพร้อมชุดคำสั่งที่ทำให้ผู้ฟังได้เข้าถึง ‘สัญญาอัจฉริยะ (smart contracts)’ เพื่อให้ศิลปินและผู้ฟังได้แลกเปลี่ยนมูลค่ากันอย่างถูกต้อง โดยตรง และทันที ภายในสัญญาจะมีส่วนสำคัญที่เรียกว่า Pay-Per-Play (PPP) ระบุอย่างชัดเจนว่าถ้าผู้ฟังกดเล่น (play) 1 ครั้ง การแลกเปลี่ยนมูลค่าก็จะเกิดขึ้นและถูกบันทึกไว้ในระบบทันที

อาหาร: ดูแลจากแหล่งผลิตถึงชั้นวาง

IBM ร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายอาหารอย่างวอลมาร์ต, โดล, เนสท์เล่, ยูนิลีเวอร์ และครูเกอร์ ในการใช้เทคโนโลยี Blockchain ติดตามกระบวนการผลิตสินค้าจากฟาร์มจนถึงชั้นวาง Blockchain จะประเมินให้ว่าเมื่อไหร่และที่ไหนที่สินค้าและอาหารจะถูกเจือปน ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ผลิตเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการเกิดโรคติดต่อ เนื่องจากการส่งออกสินค้าจากแหล่งผลิตถึงชั้นวางในรูปแบบเดิมนั้น จำเป็นต้องอาศัยคนกลางเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งใช้ทั้งเวลา เงินทุน และมักจะสร้างความผิดพลาดซ้ำซ้อน คำตอบจึงเป็นเรื่องของสัญญาอัจฉริยะใน Blockchain ที่เข้ามามีบทบาทเป็นตัวเชื่อมระหว่างสองฝ่ายแทน สัญญาอัจฉริยะนี้โดยพื้นฐานคือระบบการติดตาม คอยทำหน้าที่บันทึก จัดการ และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยและตรวจสอบได้


ปกติแล้วผู้จัดจำหน่ายต้องใช้เวลานานนับเดือนในการระบุว่าที่ไหนและเมื่อไหร่ที่อาหารชนิดหนึ่งเกิดการปนเปื้อน กว่าจะสืบสาวราวเรื่องได้อาหารก็หมดอายุหรือคนกินก็ป่วยไข้จากโรคที่มาจากการปนเปื้อนโดยไม่สามารถแก้ไขได้ทัน ดังนั้น การปรับใช้ Blockchain ในระบบการผลิตอาหารจะช่วยให้ติดตามผลผลิตตั้งแต่รายชิ้นจนถึงรายกลุ่ม และทำให้ค้นหาจากสถานที่ขนส่งได้อย่างเจาะจง ว่าส่วนไหนที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปนเปื้อน เพื่อป้องกันก่อนส่งต่อและอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค


แฟชั่น: บอกลาสินค้าปลอมแปลง ยืนยันของแท้ได้

หนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของโลกที่นำ Blockchain ไปปรับใช้คือ อุตสาหกรรมแฟชั่น เมื่อแบรนด์ต่างๆ สามารถประทับตราเพื่อแสดงความเป็นของแท้ได้ด้วยระบบของ Blockchain ที่เป็นฐานข้อมูลเปิดและแชร์ร่วมกัน ข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งผ่านเครือข่ายขนาดใหญ่โดยไม่ผ่านคนกลาง ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ Blockchain จึงเป็นเครื่องมือในการยืนยันความเป็นของแท้ของผลิตภัณฑ์ทั้งสำหรับใช้งานจริงและสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าแบรนด์เนมไปเพื่อลงทุนสำหรับขายต่อในอนาคต หรือการใช้ Blockchain เพื่อแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับที่มาของวัสดุหรือกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มอย่าง VeChain บริษัทเทคโนโลยีแพลตฟอร์มการจัดการผลิตภัณฑ์ที่ได้ปฏิวัติการแสดงข้อมูลการเดินทางของสินค้าตลอดวงจรด้วยเทคโนโลยี Blockchain ใช้งานง่ายและปลอดภัยสำหรับโรงงานผลิตที่คัดเลือก จัดการ และแบ่งปันข้อมูลสินค้ากับผู้จัดจำหน่ายและผู้ซื้อ


VeChain มีเป้าหมายในการสร้างระบบตรวจสอบสินค้า และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้เพื่อศึกษารายละเอียด เพื่อให้แน่ใจได้ในคุณภาพและความเป็นของแท้ว่าไม่ใช่สินค้าปลอมแปลง Blockchain ในอุตสาหกรรมแฟชั่นจึงทำหน้าที่เป็นระบบบันทึกแหล่งที่มาของวัสดุ ประวัติการบริการ อะไหล่ทดแทนชิ้นส่วน เพื่อที่ผู้เป็นเจ้าของจะได้ทราบที่มาตลอดกระบวนการ ไปจนถึงในกรณีที่ต้องการขายก็จะสามารถรู้ได้ว่าใครคือผู้ซื้อต่อไป

ธุรกรรมการเงิน: โอนเงินเข้าบัญชีไหนก็สะดวกสบายได้ทุกที่

นอกเหนือจากสกุลเงินดิจิทัล Blockchain ยังสามารถใช้งานได้กับสกุลเงินปกติได้เช่นกัน ปัจจุบัน IBM กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มบนระบบ Blockchain ที่จะใช้กับธนาคารใหญ่ในยุโรปถึง 7 แห่ง ได้แก่ Deutsche Bank, HSBC, KBC, Natixis, Rabobank, Société Générale และ UniCredit ทางฝั่งประเทศไทยก็มีบริการรับโอนเงินข้ามประเทศด้วย Blockchain ครั้งแรก เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ Ripple และ SBI Remit ผู้ให้บริการด้านการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ SBI Group ร่วมกันนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามายกระดับการให้บริการรับโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์สำหรับลูกค้ารายย่อยเป็นครั้งแรกของประเทศไทย


เลือกตั้ง: นับโหวตตามจริง ไม่มีตุกติกให้คะแนนเสียงหล่นหาย

ในอนาคต จำนวนการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะถูกนับผ่าน Blockchain นั่นหมายความว่าพรรคการเมืองและผู้ลงคะแนนเสียงจะติดตามผลการเลือกตั้งได้ตั้งแต่ก่อนเข้าคูหาจนถึงชั่วโมงประกาศผล ตรวจสอบให้แน่ใจได้ว่าไม่มีเสียงไหนได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม เพราะจากเดิมการรักษาความปลอดภัยในห้องนับคะแนนเสียงนั้นอาจมีช่องว่างที่พิสูจน์ถึงความโปร่งใสไม่ได้ แต่เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยตรวจสอบทุกเสียงลงคะแนนได้อย่างครบถ้วน


แม้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยระบบออนไลน์นั้นยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญ อย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2013 ทีมเฝ้าระวังการเลือกตั้งในประเทศเอสโตเนีย ประเทศที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง เปิดเผยว่า มีการเห็นพนักงานดาวน์โหลดซอฟต์แวร์นับคะแนนผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่ปลอดภัย หรือพิมพ์พาสเวิร์ดในมุมที่กล้องวงจรปิดจับภาพเพื่อแกะรหัสได้ ทั้งยังติดตั้งซอฟต์แวร์นับคะแนนเลือกตั้งลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่ปลอดภัยอีกด้วย ช่องว่างเหล่านี้จะถูกแก้ไขได้ด้วย Blockchain ที่จะเข้ามาเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับทุกประเทศในเวลาอันใกล้ การใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามา จะช่วยให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนแน่ใจได้ว่าคะแนนที่ลงไปนั้นเป็น ‘นิรนาม’ อย่างแน่นอน ทำให้ Blockchain เป็นเทคโนโลยีปฏิวัติการเลือกตั้งในระดับชาติ และยืนยันถึงการได้มาของรัฐบาลที่โปร่งใสอย่างแท้จริง