ติดโควิดแต่หายแล้ว ใช้ชีวิตปกติได้เลยมั้ย?

ในระหว่างที่คนจำนวนมากพยายามป้องกันอย่างเต็มกำลังไม่ให้ตัวเองติดเชื้อโควิด 19 แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่โชคร้ายติดเชื้อไปแล้วแต่สุดท้ายโชคดีรักษาตัวจนอาการป่วยต่างๆ หายไป แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับเชื้อที่หลายคนยังสงสัย ทั้งตัวผู้ที่เคยป่วยเองและคนรอบตัวที่อาจยังกังวลและหวาดกลัวว่าผู้ที่เคยป่วยแล้วบอกว่าหายแล้วจะปลอดภัยกับคนรอบตัวจริงหรือไม่ หรือยังสามารถแพร่เชื้อต่อได้อีก ผู้ที่เคยป่วยเองก็มีคำถามว่าตนเองจะมีโอกาสกลับไปป่วยซ้ำได้อีกหรือไม่ พวกเขาควรปฏิบัติตัวอย่างไร จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เมื่อไหร่


ณ วันนี้ผลการวิจัยทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่นอนแต่ก็มีผลการศึกษาบางส่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังนี้

 

ถ้าเราหายไข้หรือไม่มีอาการแล้วเรายังติดเชื้ออยู่หรือเปล่า

recover-covid

มีความเป็นไปได้สูงมากว่าผู้ที่หายไข้หรือไม่มีอาการแล้วจะยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกาย ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันไปอีกระยะหนึ่ง แต่ข้อมูลวิจัยเพียงเล็กน้อยจากเยอรมันพบว่าการติดเชื้อ COVID-19 10 วันแรก ผู้ป่วยที่ฟื้นตัวอาการจะไม่รุนแรง จะพบว่ามีเชื้อในร่างกายต่ำกว่าตอนพบเชื้อในครั้งแรก ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายเหมือนมีอาการดีขึ้น แต่หลังจากนั้นกลับไปมีอาการป่วยอีก มีผลกการศึกษา จากแพทย์ชาวอังกฤษ ชื่อ  Dr.Chris Gough  ได้เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ผู้ป่วย รู้สึกอาการดีขึ้นหลังวันที่ 6 แต่ต่อมากลับอ่อนเพลียและหลับ และไม่อยากออกไปไหน” ซึ่งก็แปลว่าอาการสามารถมีการสวิงเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาได้ ในขณะที่แพทย์จาก โรงพยาบาลอู่ฮั่น กล่าวว่าเชื้อไวรัสนี้จะยังคงอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยที่หายแล้วไปได้อีกประมาณ 14 วัน เพราะหลังจากนั้นถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการไอหรือจามที่ถือเป็นลักษณะของการส่งเชื้อก็อาจแปลว่าไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีก แต่ก็เพิ่งมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet ว่ามีผู้ป่วยชาวจีนรายหนึ่งที่ติดเชื้อในร่างกายนานถึงเกือบ 40 วัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรคนี้ที่อยู่ที่เกือบสามสัปดาห์ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าผู้ที่ดูเหมือนมีอาการเป็นปกติแล้วจะยังมีเชื้ออยู่ในร่างกายหรือไม่

 

ถ้าเคยเป็น COVID-19 แล้วเป็นซ้ำอีกได้หรือไม่

เมื่อติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วและหายโดยสมบูรณ์หมายความว่าร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้ได้ชั่วขณะ หรือสร้างขึ้นมาต้านทานได้ต่อเนื่อง แต่ทว่ากลับพบมีการติดเชื้อซ้ำในหญิงชาวญี่ปุ่นวัย 40 ปี ที่ได้รับอนุญาตจากโรงพยาบาลโอซาก้าให้กลับบ้าน และพบในเคสของผู้โดยสารเรือ Diamond Princess และชาวเกาหลีใต้อีกคนหนึ่ง แต่ที่น่ากังวลก็คือ พบผู้ป่วยที่กลับมาตรวจพบเชื้อโควิด-19 รอบสองถึง 14% ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าหากติดเชื้อแล้วจะติดซ้ำอีก เพราะไม่ได้ตรวจแบบยืนยัน แม้กระทั่งอาจเกิดข้อผิดพลาดในการตรวจ หรืออาจเป็นเพราะไวรัสหยุดออกฤทธิ์ไปชั่วขณะยังไม่ได้หายไปจริงๆ  ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) เองก็ยังไม่สามารถระบุข้อมูลในส่วนนี้ได้  ส่วนเมื่อป่วยแล้วร่างกายจะมีความบกพร่องใดๆ หรือไม่ มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ป่วย ปอดของผู้ป่วยจะมีความจุลดลง และโรงพยาบาลในฮ่องกงพบว่า ผู้ป่วยสองในสามจะมีการทำงานของปอดลดลง 20-30%  แต่การทำกายภาพบำบัดอาจจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้

 

หายแล้วภูมิคุ้มกัน COVID-19 อยู่ได้นานแค่ไหน

โดยปกติถ้ามีการติดเชื้อแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันโรคนั้น โดย Dr. Keiji Fukuda ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาฮ่องกงได้เขียนไว้ใน The LA Times ว่า “การติดเชื้อซ้ำนั้นถือว่าผิดปกติ เว้นเสียแต่ว่าระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยคนนั้น ไม่สามารถทำงานอย่างปกติได้”


การใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่หายแล้วในการรักษาโควิด

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงความสำคัญของพลาสมา มีเนื้อหาดังนี้  การใช้พลาสมาหรือน้ำเหลืองของผู้ที่หายจากโรคมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อเดียวกัน ได้มีการทำกันมานานแล้ว ในการระบาดของโรคเกิดใหม่ เช่น สมัย SARS, MERS, Ebola และก็เช่นเดียวกัน มีการนำมาใช้ในการรักษาโรค โควิด-19 ที่อยู่ในภาวะวิกฤตในประเทศจีน มีรายงานในวารสารที่มีชื่อเสียงว่าได้ผลดีในการรักษา  เช่น ในวารสาร Chest, JAMA เป็นต้น ดังนั้น ในกระบวนการเก็บ Plasma จะมีการตรวจอาสาสมัครที่เคยติดเชื้อ โควิด-19 ว่า ขณะที่บริจาคไม่พบเชื้อทั้งในเลือด และจากการป้ายที่คอ รวมทั้ง จะมีการวัดภูมิต้านทาน ต่อเชื้อโควิด-19 ว่าหายจากโรคดังกล่าวแล้วโดยสมบูรณ์ โดยถือตามมาตรฐานของ US CDC ที่มีระดับภุฒิต้านทานมากกว่าหรือเท่ากับ 1:320 โดยโครงการนี้จะมีศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เป็นแกนนำ ร่วมกับ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล พลาสมาที่ได้จะเป็นพลาสมาที่มีคุณภาพที่จะใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ได้ จึงมีการเชิญชวนผู้ที่ติดเชื้อหรือป่วยจากโรคโควิด-19 และหายแล้ว มาลงทะเบียนเพื่อรับการตรวจกรอง ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เพื่อบริจาคพลาสมา โดยพลาสมาจะถูกเก็บ ไว้ใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ผู้ที่จะมาบริจาคได้ จะต้องเป็นผู้ที่ได้ออกจากโรงพยาบาลและได้รับการรับรองว่าหายแล้ว มีร่างกายแข็งแรงอย่างน้อย 14 วัน หลังจากออกจากโรงพยาบาล ตรวจไม่พบเชื้อ โควิด-19 ที่ป้ายจากคอและในเลือด มีอายุระหว่าง 17 ถึง 60 ปี และมีน้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัม


ถ้าอาการปกติแล้วจะกลับมาทำงานใช้ชีวิตปกติได้เมื่อไหร่

ณ การระบาดในประเทศไทยเป็นครั้งที่่ 3 มีหลายคนมีคำถามว่า หากเราติดเชื้อโควิด-19 และร่างกายกลับมาเป็นปกติแล้วจะสามารถกลับมาทำงาน และใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อีกเมื่อไหร่ ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่าผู้ที่เคยป่วยและหายแล้วจะสามารถกลับมาทำงานและใช้ชีวิตตามปกติได้โดยต้องผ่านเกณฑ์ดังนี้

  • ไม่มีไข้  3 วันติดต่อกัน

  • ระบบทางเดินหายใจเป็นปกติ ในระยะเวลา 7 วัน ไม่มี การไอ หรือจาม

  • ผล Swab Test  เป็นลบ 2 ทั้งครั้ง


ดังนั้นก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติต้องผ่านการทดสอบทั้งหมดนี้ถึงจะถือว่าหายและพร้อมกลับไปทำงานโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ในทางปฏิบัติรัฐบาลและบริษัทหลายแห่งก็ยังคงให้ทำงานที่บ้านหรือกักตัวต่ออีกเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติอย่างสมบูรณ์ได้ อย่างไรก็ตามผู้ที่หายป่วยแล้วต้องระมัดระวังตัวเองเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1802168

https://www.weforum.org/agenda/2020/03/coronavirus-recovery-what-happens-after-covid19/

https://www.theverge.com/2020/4/1/21201045/coronavirus-covid-19-recovery-isolation-contagious-cdc-data

https://www.bangkokbiznews.com