กู้ยืมเงินกันทาง LINE ได้หรือไม่ แล้วต้องระวังอะไรบ้าง

ในช่วงวิกฤตการณ์ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกได้รับผลกระทบกันอย่างมาก ทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มสูงขึ้นอยู่ทุกวัน สำหรับในประเทศไทย สถานการณ์การแพร่ระบาด ยังคงเป็นที่จับตาอย่างต่อเนื่อง จากวิกฤตครั้งนี้ ทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบกันไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผลกระทบต่ออาชีพการงาน การจับจ่ายใช้สอย บางครอบครัวต้องลดภาระค่าใช้จ่ายลง บางครอบครัวจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาหมุนเวียนเพื่อใช้จ่ายในครอบครัวให้เกิดสภาพคล่องกัน วันต่อวัน

ถ้ากรณีการขอกู้ยืมเงินจากทางสถาบันการเงินโดยตรง ก็คงไม่เกิดปัญหาอะไร เพราะด้วยรูปแบบและวิธีการของสถาบันการเงินที่รอบคอบและชัดเจน มีการทำเป็นลายลักษณ์อักษร การสำรวจเครดิตบูโร และรวมถึงมีการให้ทำสัญญา เป็นต้น

แต่ด้วยความเดือดร้อนทางด้านการเงิน จำเป็นต้องหยิบยืม จะไปขอกู้จากสถาบันการเงิน ก็ต้องใช้เวลาและมีการตรวจสอบพอสมควร เงินก็ต้องรีบใช้ กรณีที่ ถ้าเราจะขอยืมเงินจากคนสนิทหรือบุคคลทั่วไป ในปัจจุบัน โดยส่วนมากเราใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ในการสื่อสารต่อกันเป็นประจำ

ดังนี้ ถ้าหากบุคคลจะตกลงยินยอมแล้วขอหยิบขอยืม หรือที่เรียกว่าขอกู้ยืมเงินกันทางแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) หรือทางเฟซบุ๊ก (Facebook) กัน สามารถทำได้หรือไม่ และมีข้อที่ต้องระมัดระวังทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

borrow_some_money

มีกฎหมายหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่สองฉบับด้วยกัน คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 9 ว่าด้วยเรื่องยืม และลักษณะ 6 ว่าด้วยอายุความ และกฎหมายอีกฉบับ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ที่นำมาพิจารณาประกอบในเรื่องนี้ เพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังจะได้ไม่ต้องพบปะกันหรือสัมผัสเอกสาร กระดาษ ปากกากันให้เกิดความเสี่ยง อันไม่เป็นตามมาตรการเว้นระยะห่างของภาครัฐ แถมยังได้ความรอบคอบรัดกุมทั้งสองฝ่ายด้วย

โดยปกติแล้ว การกู้ยืมเงินกัน กฎหมายมิได้กำหนดแบบของการทำสัญญากู้ยืมไว้แต่อย่างใด ไม่เหมือนกับการซื้อขายที่ดินหรือคอนโดมีเนียม ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหากจะกระทำการซื้อขายเปลี่ยนกรรมสิทธิ์กัน จะต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเท่านั้น หากไม่ทำตาม การซื้อขายบ้านที่ดินหรือคอนโดมีเนียมนั้นจะตกเป็นโมฆะ คือ ไม่มีผลใช้บังคับกันใด ๆ ทั้งสิ้น

ส่วนการกู้ยืมเงิน กฎหมายกำหนดเพียงแค่ว่า หากมีการกู้ยืมเงินกัน ซึ่งจำนวนเงินที่ขอกู้ยืมกันนั้นเป็นเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไป เพียงแค่ขอให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดพร้อมกับการลงลายมือชื่อผู้ขอยืมเงินนั้นเป็นสำคัญก็เพียงพอ หากไม่กระทำการดังกล่าวนั้น ก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้   โดยนัยของความหมายของการต้องทำเป็นหนังสือกับมีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีความแตกต่างกันออกไปพอสมควร

สำหรับกรณีที่มีบุคคลติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) หรือติดต่อทางเฟซบุ๊ก (Facebook)  มานั้น จะใช้เป็นหลักฐานการรับรองการกู้ยืมเงินกันได้หรือไม่นั้น ในพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มีรับรองการกระทำที่แสดงเจตนาในเรื่องดังกล่าวไว้

ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ทำขึ้น เช่น โดยใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวหรือข้อเท็จจริง และไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบตัวอักษร ตัวเลข เสียง ภาพ หรือรูปแบบอื่นใด ที่สื่อความหมายได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเอง และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ คือ ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ รักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรศัพท์ เป็นต้น

เมื่อมีการขอกู้ยืมเงินกันทางแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) หรือทางเฟซบุ๊ก (Facebook) กฎหมายเปิดทางให้ทำได้ แต่ก็อยู่ภายในเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทั้งผู้ให้ยืมเงินและผู้กู้ยืมเงินจะต้องระมัดระวัง ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. ข้อความที่ทั้งสองฝ่ายได้พิมพ์ส่งต่อกันหรือโต้ตอบกันไปมานั้น จะต้องเป็นข้อความที่บอกถึงความต้องการหรือข้อความที่แสดงถึงการขอยืมเงินที่ชัดเจน เช่น นางสาวลิ้นจี่ทักแชทไลน์ไปหานางสาวลำใย ว่าตนเองมีความเดือดร้อน เงินไม่พอใช้จ่ายภายในครอบครัว จะขอยืมเงินจำนวนห้าพันบาท เป็นต้น และได้มีการตกลงให้ยืมกัน แสดงเป็นข้อความในแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE)

2. เมื่อมีข้อความที่แสดงหรือบ่งบอกถึงการขอยืมเงินที่ชัดเจนของทั้งสองฝ่ายแล้ว และมีการโอนเงินตามจำนวนที่หยิบยืมกัน ผู้ให้ยืมจำเป็นต้องเก็บหลักฐาน เช่น ใบสลิปโอน เอาไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะโอนกันเป็นสลิปพร้อมเพย์ หรือสลิปที่แสดงถึงการโอนถึงบัญชีผู้กู้ยืมเงินทางไลน์

3. ต้องมีการแสดงถึงตัวตนของผู้กู้ยืมที่ชัดเจนอีกด้วย มีการยืนยันตัวเองที่ชัดเจน ที่เรียกว่า User Account เพื่อให้รู้ว่าฝ่ายผู้กู้ยืมนั้นคือใคร ให้ถูกต้องชัดเจน

4. จำนวนเงินที่ขอหยิบยืม การขอกู้ยืมกันนั้นจะเป็นเงินจำนวนเท่าไรก็ได้ แต่หากเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ บนแอปหรือต้องมีเอกสารเป็นกระดาษ

วิธีการกู้ยืมเงินกันผ่านอุปกรณ์เล็กทรอนิกส์หรือทางแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) หรือแอพพลิเคชั่นอื่น ก็เป็นหนทางหนึ่งที่สะดวกและรวดเร็ว ทั้งยังปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บที่แพร่ระบาดอยู่ ณ ตอนนี้ แต่ผู้ให้กู้ยืมเงินก็จำเป็นต้องทำด้วยวิธีการที่รอบคอบเมื่อเกิดปัญหาจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายได้ต่อไป

บทความโดย นคร วัลลิภากร