แนวโน้มการหย่าร้างของคนไทยสูงขึ้นทุกปี สาเหตุการหย่าร้างมาจากทั้ง 2 ฝ่าย ที่ทั้งอาจถูกกดดันด้วยความเครียดจากครอบครัวของคู่สมรส ความไม่เข้าใจกัน และค่านิยมใหม่ที่นิยมการพึ่งพาตัวเองมากกว่า เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ความอดทนจึงน้อยลง ทำให้คิดว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคู่สมรส นอกจากนี้เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการหย่าร้าง
จากปัญหาการหย่าร้างของคนไทยที่สูงขึ้นทุกปี ทำให้เกิดครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น หากครอบครัวอ่อนแอ ขาดความพร้อม อาจส่งผลให้เด็กเกิดปัญหาได้
โดยครอบครัวที่กำลังเผชิญกับคำว่าหย่าร้าง หากไม่ได้เตรียมพร้อมสร้างความมั่นใจทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญไม่แพ้ความรักความอบอุ่นที่พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวควรมีให้กับลูกๆ อาจทำให้ความสามารถในการสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูบุตรสะดุดลง และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวได้ในอนาคต
แล้วเรื่องอะไรบ้างที่เราควรเตรียมความพร้อมก่อนหย่า
-
ถ้าคิดและตัดสินใจอย่างแน่นอนแล้วว่า
‘ชีวิตคู่มาถึงทางตันแล้วจริงๆ’
จงอย่าใช้อารมณ์ ให้คิดว่า การหย่าคือการ ตกลงและแบ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจของคน 2 คน เพราะการตัดสินใจด้วยอารมณ์อาจทำให้เสียเปรียบได้ พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะอย่างที่บอกไปแล้ว
‘เงินเป็นหนึ่งในสาเหตุของการหย่าร้าง’
ซึ่งทำให้การแบ่งและจัดสรรเอกสารการเงินจึงไม่ใช่เรื่องทำกันได้ง่าย แต่ก็ต้องทำ เน้นอีกครั้ง
‘อย่าใช้อารมณ์’
-
รวบรวมรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมด ทั้งที่เป็นสินส่วนตัวและสินสมรส ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก เงินลงทุนทุกรูปแบบ ที่ดิน อาคาร รถยนต์ รายการหนี้สิน รวมไปถึงประวัติการใช้
สินเชื่อ
ของตัวเองและคู่สมรส ควรมีสำเนาหลักฐานให้ครบถ้วน ก่อนเริ่มการเจรจาใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับการแบ่งสินทรัพย์
-
ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้มีรายได้ประจำ หรือต้องพึ่งพารายได้จากอีกฝ่าย อาจทำให้คุณไม่มี statement หรือหลักฐานทางการเงินที่มั่นคงมากพอที่จะทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินต่างๆ ได้ ดังนั้นคุณต้องสร้างเครดิตทางการเงินในชื่อตัวเอง ด้วยการเปิดบัญชีธนาคาร ทำบัตรเครดิต หรือบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เป็นส่วนตัวให้เสร็จก่อนแยกทางกันอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ต้องตรวจสอบ คือ อีกฝ่ายแอบนำบัญชีร่วมที่เปิดร่วมกันไปค้ำประกันหนี้ใดๆ ไว้หรือไม่
-
แบ่งสินทรัพย์อย่างเป็นธรรม ซึ่งสินทรัพย์ที่จะนำมาแบ่งกัน คือ
‘สินสมรส’
จะต้องแบ่งกันคนละครึ่ง ซึ่งสินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างการสมรส ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยพินัยกรรม โดยระบุว่าให้เป็นสินสมรสและทรัพย์สินที่เป็นดอกผลจากสินส่วนตัว เช่น ภรรยามีเงินฝากธนาคาร 1 ล้านบาทก่อนจดทะเบียนสมรส เงินต้นถือเป็นสินส่วนตัวของภรรยา แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับหลังจากจดทะเบียนสมรสถือเป็นสินสมรส ซึ่งสามีจะเป็นเจ้าของด้วยครึ่งหนึ่ง เป็นต้น
-
นอกจากจะแบ่งสินสมรสกันแล้ว ยังต้องแบ่งหนี้สินกันด้วย เช่น หนี้จดจำนอง (หนี้บ้าน) หนี้บัตรเครดิต และหนี้ผ่อนรถ เป็นต้น ต้องแบ่งให้ชัดเจน ซึ่งในการเจรจาแบ่งทรัพย์สิน คู่หย่าสามารถ ตกลงชำระหนี้กันก่อนหรือแลกทรัพย์สินบางรายการกับหนี้ หรือแบ่งภาระหนี้กันได้
-
เมื่อตกลงแบ่งสินทรัพย์แล้ว ให้ปิดบัญชีหรือบัตรเครดิต หรือการลงทุนใดๆ ที่ทำร่วมกัน เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดภาระทางการเงินร่วมกันอีก
-
ปรับเงื่อนไขผู้รับผลประโยชน์ต่างๆ เพราะหากคุณไม่เปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ในพินัยกรรม หุ้นส่วน หลักทรัพย์ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญหรือประกันชีวิต อดีตสามีหรือภรรยาอาจยึดทุกอย่างที่เป็นของคุณ ในกรณีที่คุณเกิดเสียชีวิตอย่างกะทันหัน แต่ตราบใดที่คุณยังมีชีวิตอยู่ ระหว่างเดินเรื่องขอหย่า ให้ถือเป็นเวลาที่ดีที่จะทบทวนแผนการเงินและเงื่อนไขในเอกสารการเงินต่างๆ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเงื่อนไขในเอกสารทุกอย่างลงตัวกับชีวิตใหม่ของคุณ
-
ทบทวนสวัสดิการประกันชีวิตและประกันสุขภาพของคุณและลูกๆ ว่าการหย่าร้าง ได้นำมาสู่สวัสดิการประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่น้อยลงหรือไม่ เพราะหากคุณเคยได้สวัสดิการดังกล่าว ผ่านสวัสดิการจากที่ทำงานของคู่สมรส เมื่อหย่าร้างกันแล้ว ก็จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวอีกต่อไป จึงต้องเตรียมการสำหรับเรื่องนี้ด้วย
-
พิจารณา ‘สิทธิในการเลี้ยงดูบุตร’ อย่างรอบคอบ เพราะเป็นอีกเรื่องที่ทำให้เกิดภาวะกระอักกระอ่วนใจ ทำร้ายความรู้สึกกันอย่างหนักหนาสาหัส เมื่อต้องฟ้องหย่าตามกฎหมายทั้งพ่อและแม่มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกัน ดังนั้นเมื่อตัดสินใจหย่า จงคิดถึงข้อนี้ให้มากด้วย ถ้าตกลงกันดีๆ ไม่ได้ก็คงต้องพึ่งอำนาจศาล เพื่อกำหนดว่าอำนาจการปกครองควรจะอยู่กับใคร ซึ่งศาลจะพิจารณาความสุขและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ
-
ส่วนเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น ศาลจะพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะบิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะลูกของตนอยู่แล้ว ศาลอาจให้คู่กรณีฝ่ายใดรับผิดชอบค่าใช้จ่ายก็ได้ โดยพิจารณาจากความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับเป็นหลัก
-
เริ่มต้น
วางแผนการเงิน
ใหม่ เพราะสถานภาพสมรสของคุณเปลี่ยนไปแล้ว
-
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ควรปรึกษาทนายความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีบุตรหรือสินทรัพย์มาก การได้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมาช่วย จะทำให้การหย่าร้างถูกต้องตามขั้นตอนและไม่ผิดพลาด
บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ