6 ด่านการเงิน กว่าจะได้เป็นนักเรียนนอก ตอน 1

ในยุคนี้ที่โลกแห่งการศึกษาเปิดกว้างให้หลายๆ คนมีโอกาสบินลัดฟ้าข้ามประเทศไปเล่าเรียนคว้าปริญญาจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ เปิดประสบการณ์ในโลกกว้าง ขยายโลกทัศน์ เสริมความแกร่งด้านภาษา และที่สุดคือการได้ดีกรีปริญญาโทนักเรียนนอกมาใส่ในเรซูเม่ เป็นประตูสู่เส้นทางอาชีพการงานที่รุ่งโรจน์ กว่าจะก้าวถึงจุดนั้น เพียงผลการเรียนที่ดี และความขยันมุ่งมั่นอาจไม่พอ ทุนทรัพย์ก็เป็นปัจจัยสำคัญ  ลองมาดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่ต้องเตรียมเพื่อไปสู่ฝันการเป็นนักเรียนนอก


นายสาวหลิง เกรดเฉลี่ยดี ภาษาอังกฤษปานกลาง อยากไปเรียนต่อปริญญาโทคอร์สบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย Ranking ดีในลอนดอน ประเทศอังกฤษ นางสาวหลิงต้องฝ่าด่านการเงินอะไรบ้าง เพื่อสานฝันสู่ชีวิตนักเรียนนอก  

1. ค่าสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ

ประเทศที่นักเรียนไทยเลือกไปเรียนต่อ ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ อย่างอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ความสามารถในการใช้ทักษะภาษาอังกฤษ ฟัง พูด อ่าน เขียน จึงเป็นข้อกำหนดที่ทุกมหาวิทยาลัยใช้ในการพิจารณารับเข้าเรียนต่อ ดังนั้นการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษด้าน Academic เช่น TOEFL หรือ IELTS จึงเป็นด่านทดสอบแรกที่ทุกคนที่ผ่าน จะต้องได้คะแนนมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสาขาที่จะไปเรียนต่อ ถ้าเป็นสาขาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ ดีไซน์ ก็จะใช้ระดับคะแนนน้อยกว่าสาขาด้านบริหารธุรกิจ สังคมศาสตร์ อักษรศาสตร์ รวมถึงระดับ Ranking ของมหาวิทยาลัยด้วย มหาวิทยาลัย Ranking สูงจะกำหนดคะแนนภาษาสูงกว่ามหาวิทยาลัย Ranking ระดับรองๆ ลงมา


ค่าใช้จ่ายในการสอบ IELTS อยู่ที่ครั้งละ 6,900 บาท ขณะที่ค่าสอบ TOEFL ครั้งละ USD195 (ประมาณ 6,200 บาท) แล้วถ้าใครจะเรียนคอร์ส MBA ก็จะมีสอบ GMAT* เพิ่ม สอบครั้งละ USD250 (ประมาณ 8,000 บาท)  หากสอบแล้วยังได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดก็ต้องสอบใหม่ ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นไป จึงต้องมีการเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ด้วย


ข้อมูลค่าธรรมเนียมสอบ IELTS/TOEFL/GMAT  เดือนมีนาคม 2562

*GMAT ย่อมาจาก Graduate Management Admission Test

2. ค่าเรียนภาษา Pre-sessional Course

สำหรับหลายคน กว่าจะสอบภาษาอังกฤษได้ถึงระดับที่มหาวิทยาลัยกำหนดก็ไม่ทันที่ไปเรียนปีนี้ สำหรับนักเรียนที่เลือกไปเรียนต่อที่อังกฤษ จะมีอีกทางหนึ่งคือการไปเรียนคอร์สเสริมภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Pre-sessional Course ที่มหาวิทยาลัยจัดให้นักเรียนที่คะแนนภาษาไม่ถึงเกณฑ์ไปเรียนเสริมก่อนเปิดเทอม ระยะเวลาที่เรียนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 16, 12 , 8 , 4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าคะแนนภาษาอังกฤษเราน้อยกว่าเกณฑ์แค่ไหน สำหรับคอร์สปริญญาโทส่วนมากจะกำหนดระดับคะแนน IELTS อยู่ที่ 6.5 ถ้าเราได้คะแนน IELTS 5.5 ก็จะต้องเรียน Pre-sessional course 12 สัปดาห์ หรือถ้าเราได้คะแนน 6.0 ก็จะต้องเรียนคอร์ส 8 สัปดาห์ และแม้เราจะได้คะแนน IELTS ถึงเกณฑ์ มหาวิทยาลัยก็จะแนะนำให้เราลงคอร์ส 4 สัปดาห์ เพื่อไปเรียนรู้การใช้ภาษาอังกฤษแบบ Academic สำหรับเขียนรายงาน paper ส่งอาจารย์อย่างถูกต้อง และยังได้ไปปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ก็เปิดเทอมด้วย คอร์ส Pre-sessional จะเริ่มเรียนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ก่อนเปิดภาคเรียนตอนกลางเดือนสิงหาคม


สำหรับค่าใช้จ่ายเรียนคอร์ส Pre-sessional อยู่ที่ประมาณ 1,500 ปอนด์/4 สัปดาห์ (ประมาณ 60,000 บาท) อาจจะมากน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย


* แต่ถ้ามหาวิทยาลัยชั้นนำบางแห่ง จะกำหนดระดับคะแนน IELTS ที่ 7-7.5

3.ค่าเรียนทั้งหลักสูตร (Tuition Fee)

ค่าเรียนปริญญาโทตลอดหลักสูตร ที่เรียกว่า Tuition Fee ราคามากน้อยขึ้นอยู่กับสาขาที่เรียนและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย สาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ราคาจะสูงกว่าสาขาทางมนุษย์ศาสตร์ ราคาคอร์ส MBA จะสูงกว่าคอร์สบริหารธุรกิจทั่วไปๆ  หลักสูตรปริญญาโทในแต่ละประเทศใช้เวลาเรียนไม่เท่ากัน หลักๆ แล้ว หลักสูตรปริญญาโทของอังกฤษ เรียน 1 ปี หลักสูตรปริญญาโทของอเมริกา เรียน 2 ปี  ราคาค่าเรียนทั้งคอร์สตกเป็นเงินไทยประมาณ 600,000 – 1,500,000 บาท บางมหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษาช่วยนักเรียนต่างชาติ ต้องลองศึกษาหาข้อมูลให้ดี  

เมื่อทำเรี่องสมัครเรียน ส่งเอกสารทรานสคริปต์ คะแนนภาษา ฯลฯ ไปให้มหาวิทยาลัยพิจารณา หากมหาวิทยาลัยตอบรับให้เข้าเรียนแล้ว และเราต้องการจะเข้าเรียนที่นี่ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะให้เราตอบกลับยืนยันเข้าเรียน พร้อมโอนเงินมัดจำสำรองที่นั่งไปให้ในเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะถือว่าเราสละสิทธิ์  เงินตรงนี้เรียกว่า Deposit จะเรียกเก็บประมาณ 40,000 – 120,000 บาท จะเอาไปหักกับค่าเรียนทั้งหลักสูตรตอนลงทะเบียนเปิดเทอม เมื่อจ่าย Deposit แล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะส่งเอกสาร CAS (Confirmation Acceptance of Study) ให้ไปยื่นวีซ่า
 

ในการจ่ายค่าเรียน มหาวิทยาลัยหลายแห่งจะมีส่วนลดประมาณ 3-5% ให้กรณีที่เราจ่ายค่าเรียนทั้งหมดตอนเปิดภาคเรียนแรกเดือนสิงหาคม แต่ถ้าเราไม่สะดวกก็สามารถแบบจ่ายค่าเทอม 2 ครั้ง ตอนเปิดภาคเรียนหนึ่งและภาคเรียนสอง ตอนเดือนมกราคม


อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เริ่มเห็นจำนวนเงินหลักแสนที่ต้องจ่ายกันแล้ว ยังไม่หมด ยังมีอีก 3 ด่าน ที่ต้องผ่านไปให้ได้ค่ะ

สำหรับผู้ที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ แนะนำบริการทางการเงินที่ช่วยให้การใช้จ่ายในต่างประเทศสะดวกมากขึ้น เพียงแค่มีบัตรเติมเงิน PlanetSCB ที่สามารถใช้เติมเงินตราสกุลต่างประเทศด้วยอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษเทียบเท่าร้านแลกเงินชั้นนำ  เช่น เงินหยวน (CNY) เงินเยน (JPY) เงินวอน (KRW) ดอลลารสิงคโปร์ (SGD) ดอลลาร์ฮ่องกง (HKD)  ผ่านแอฟ SCB EASY App ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สมัครได้ทาง SCB EASY App ฟรีค่าธรรมเนียมรายปีตลอดชีพ  ได้บัตรเติมเงินแล้ว เมื่อไปถึงที่โน้นก็ใช้บัตร Planet SCB กดเงินผ่านตู้ ATM หรือจะใช้รูดจ่ายที่ร้านค้า แล้วยังใช้ช้อปออนไลน์ในร้านที่รับ VISA ได้อีกด้วย ไม่ต้องพกเงินสดมากมายขณะเดินทาง หากบัตรหายก็สามารถอายัดบัตรได้ทาง SCB EASY APP ศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/cards/prepaid-cards/planet-scb-card.html