Mahidol Digital Convergence University

COVID-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของทุกคน รวมถึงระบบการศึกษาที่แม้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้ขึ้น จึงเป็นเหมือนตัวเร่งการพัฒนาการแบบก้าวเดินเป็นก้าวกระโดดแทน แต่จะเปลี่ยนไปขนาดไหน และมีการรับมืออย่างไร ท่านศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.ท.ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมอง และแนวทางของมหาวิทยาลัยมหิดล ในรายการ SCB TV ดังนี้

ความเป็นมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล มีโรงเรียนแพทย์ถึง 2 แห่ง คือ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่นี่ยังมีคณะทันตแพทยศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ที่เป็นคณะคะแนนสูงของเด็กสายวิทย์รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีวิทยาลัยนานาชาติ, วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา, คณะกายภาพ, คณะพยาบาลศาสตร์ และอีกหลายคณะที่ได้ยินชื่อก็รู้สึกว่าเรียนยากแล้ว จึงไม่แปลกที่หลายคนอาจจะเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะมีแต่เด็กๆ ผู้คงแก่เรียนเท่านั้น ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล จะดูเป็นเด็กตั้งใจเรียน ใช้ชีวิตอยู่กับตำราและห้องสมุด แต่ความจริงแล้ว ถ้าได้มาสัมผัสกับพวกเขาจะพบว่า เด็กเหล่านี้ก็มีความตื่นเต้น สนุกสนานในตัว ไม่แพ้กับนักศึกษาที่อื่น เวลาเรียนที่อาจจะดูเคร่งเครียด แต่เวลาทำกิจกรรมก็เต็มที่เช่นกัน

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ปลูกฝังความคิดเรื่อง “คิดถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง” ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน โดยหล่อหลอมผ่านเรื่องราว และแบบอย่างความเป็นมหิดล จากการที่รุ่นพี่ และบรรดาอาจารย์ได้ลงมือปฏิบัติให้ดู เพื่อให้เหล่านักศึกษารุ่นใหม่ ค่อยๆ ซึมซับเข้าไปเอง

COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ปลูกฝังความคิดเรื่อง “คิดถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง” ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน โดยหล่อหลอมผ่านเรื่องราว และแบบอย่างความเป็นมหิดล จากการที่รุ่นพี่ และบรรดาอาจารย์ได้ลงมือปฏิบัติให้ดู เพื่อให้เหล่านักศึกษารุ่นใหม่ ค่อยๆ ซึมซับเข้าไปเอง

โดยปกติแล้วระบบการศึกษาจะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เมื่อมี COVID-19 เข้ามา ก็เหมือนการใส่ตัวเร่งเข้าไปทำให้เกิดการพัฒนาที่เร็วขึ้น การเรียนออนไลน์เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และทางมหาวิทยาลัยมหิดลเองก็ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ในด้านเทคโนโลยี จนเกิดเป็นโครงการ Digital Convergence University ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึง 2 ปีกว่าแล้ว โดยเน้นการพัฒนา Digital Technology เพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษา อาจารย์บางท่านที่มีเนื้อหาพร้อมอยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการสอนได้ทันที ในขณะที่อาจารย์อีกหลายท่านก็เร่งผลิตเนื้อหาแบบดิจิทัลให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการเรียนการสอนแบบ Face-to-Face ได้ดังเดิม

ห้องเรียนกลับทิศ (Flip Classroom)

การเรียนในสมัยก่อน นักศึกษาต้องเดินทางไปหาความรู้ด้วยตัวเอง เพราะความรู้จะอยู่ในศิลาจารึก หรือต้องไปเรียนกับผู้มีความรู้ ที่ไม่ได้บันทึกอะไรไว้ แต่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เราสามารถศึกษากันแบบข้ามพรมแดนได้ จะศึกษาจากที่ไหน เมื่อใดก็ได้ ที่สำคัญยังมีแบบเรียลไทม์อีกด้วย

เนื้อหาต่างๆ ที่มีเป็นการสะสมจากหลายๆ แหล่ง มาจากทุกที่ ทุกทาง ตลอดเวลา ไม่ใช่เนื้อหาจากใครคนใดคนหนึ่ง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเหมือนอย่างในอดีต เนื้อหาเหล่านี้ผู้เรียนยังสามารถเข้าถึงได้จากที่ใดก็ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาท ทำให้ระบบการเรียนเปลี่ยนไป ทั้งยังทำให้มีเนื้อหาเพิ่มขึ้นอย่างมากอีกด้วย

นักศึกษาต้องติดอาวุธให้กับตัวเอง โดยการเข้าสู่ฐานข้อมูล และเรียนรู้เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงเนื้อหาที่เกิดขึ้นใหม่ รวมไปถึงการเข้าถึงเนื้อหาที่อยู่นอกมหาวิทยาลัย เพราะการเรียนในห้องเรียน บางครั้งมีข้อจำกัด หรือเนื้อหาแบบ Face-to-Face อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว นักศึกษาอาจจะลองหาข้อมูลที่ได้มาจากข้างนอกเป็นข้อมูลในระดับโลกมาพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอน อย่างไรก็ตามการเรียนรู้แบบนี้ก็มีสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม  เช่น ความสามารถในการเข้าถึงฐานข้อมูล การตรวจสอบว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นต้น

การเรียนการสอนในรูปแบบปกติจะต้องสร้างทักษะเหล่านี้ให้กับนักศึกษา เช่น นักศึกษาได้ข้อมูลที่มา อาจารย์ก็ต้องช่วยตรวจสอบว่าสิ่งที่ได้มานั้นถูกต้องหรือไม่ โดยอาจารย์อาจนำประสบการณ์ที่มีเพิ่มเติมลงไป แล้วพูดคุย ถกกับนักศึกษา หากนักศึกษามีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์บ่อยๆ จนเกิดความแตกฉานก็จะทำให้มีความรู้กว้างไกลมากขึ้น ทำให้ชั่วโมงเรียนนั้นๆ มีประโยชน์มากกว่าเดิม  และอีกหนึ่งทักษะที่ต้องมีในยุคนี้ คือ ภาษาอังกฤษ เนื่องจากเนื้อหาในระดับโลก เช่น Harvard หรือ MIT ก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการทำความเข้าใจทั้งสิ้น

จาก Transform สู่ Disrupt และสะท้อนความคิดของการเรียนออนไลน์

มหาวิทยาลัยมหิดลมีความมุ่งมั่นจะไปสู่ความเป็นดิจิทัล โดยค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย เมื่อเจอ COVID-19 ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจารย์ต้องเปลี่ยนจากการเรียนการสอนในห้องมาเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ โดยยังใช้วิธีการสอนเหมือนอยู่ในห้องเรียนปกติ เพียงแต่ใช้แอปพลิเคชันต่างๆ มาช่วยเป็นสื่อ แต่เมื่อทำการสอนรูปแบบนี้ไปสักพักก็พบว่า ยังไม่ใช่กระบวนการการเรียนออนไลน์ที่ดี อาจารย์บางท่านเลยเปลี่ยนวิธีการสอนให้นักศึกษาไปหาข้อมูลมาก่อน เพื่อทำให้เกิดคำถาม เกิดความสงสัย จนทำให้เกิดความสนใจในชั้นเรียนมากขึ้น บางท่านจะอัดคลิปลงในระบบของมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้ทำความเข้าใจเนื้อหาดูก่อน แล้วคาบเรียนต่อมาจึงเปิดสอนสด เพื่อให้นักศึกษาได้เข้ามาพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้เรียนไป นอกจากนี้การประเมินผลเองก็มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปด้วย เช่น จากเดิมที่มีการสอบปกติทั่วไปในห้องเรียน ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการให้คะแนนตามความเหมาะสมของแต่ละวิชา

Virtual สู่ความเป็นหนึ่งเดียว และความพร้อมจากการมองการณ์ไกล

ย้อนกลับไปถึงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถรอดพ้นจากอุทกภัยครั้งนั้น เพราะท่านอดีตอธิการบดี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร มองการณ์ไกล ได้เสนอให้จัดสร้างแนวคันดินป้องกันไว้ก่อนหน้านั้น 2 ปี โดยมีแนวคิดว่า ไม่อยากให้มีขอบเขตที่ชัดเจนมากั้นระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน แต่ก็ยังต้องมีจุดแบ่ง ซึ่งสร้างเสร็จประมาณต้นปี 2553 มีรากไม้เกาะให้แข็งแรง เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม มหาวิทยาลัยจึงรอดมาได้

ซึ่งสถานการณ์ข้างต้นนี้ก็คล้ายกับในปัจจุบัน คือ เรื่องของ Digital Convergence University ที่ได้มีการเตรียมพร้อมมาก่อนแล้ว พอเกิดสถานการณ์ COVID-19 ทางมหาวิทยาลัยจึงไม่เดือนร้อนอะไร ด้วยการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งด้านเทคโนโลยี และด้านอื่นๆ เช่น ด้านการเงิน ที่มีความเชี่ยวชาญกว่ามหาวิทยาลัย และยังมี Virtual Classroom ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเดินทาง แม้มหาวิทยาลัยจะมีหลายวิทยาเขต แต่อาจารย์ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปมาหลายที่ ทำให้ประหยัดทั้งเวลา ลดค่าใช้จ่าย และยังทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหนึ่งเดียว เมื่อมี COVID-19 ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ใช้ประโยชน์จาก Infrastructure ที่เตรียมไว้ก่อนแล้วจากโครงการ Mahidol DCU และยังมีแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่นักศึกษาสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีอย่าง Cisco Webex ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ ในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม มีจำนวนเวลาการเรียนการสอนผ่านระบบนี้ สูงถึง 3 ล้านนาที

ทางมหาวิทยาลัยยังได้มีการบริจาคทุนให้แก่นักศึกษา เรียกว่าทุน COVID จำนวน 5,000 บาท เพื่อให้นักศึกษานำไปซื้ออะไรที่ขาดแคลนอยู่ สำหรับการเรียนออนไลน์ โดยชี้แจงความจำเป็นเข้ามาประกอบการพิจารณา และสุดท้ายทางมหาวิทยาลัยยังได้จัดหาแพคเกจอินเตอร์เน็ตมาให้นักศึกษาทุกคนได้ใช้ฟรี 3 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการศึกษารูปแบบใหม่ที่วางไว้ด้วย

ข้อดี ข้อเสียของการเรียนออนไลน์

ต้องยอมรับว่า ข้อดีของการเรียนออนไลน์ คือ ความสะดวก นักศึกษาจะเข้ามาเรียนเมื่อไหร่ เวลาไหน จากที่ใดก็ได้ และยังสามารถดูซ้ำได้อีกตามความต้องการ แต่ข้อเสียเมื่อเทียบกับการเรียนแบบ Face-to-Face ก็คือ อาจารย์จะไม่ทราบว่า นักศึกษาคนใดที่เรียนเข้าใจบ้าง นักศึกษาตั้งใจเรียนหรือไม่ ซึ่งทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมิน ทางมหาวิทยาลัยได้ทดลองทำแบบสอบถามกับเหล่านักศึกษา พบว่า นักศึกษาอยากกลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัย 80% ทำให้ลบความคิดที่เคยมีการพูดกันว่า มหาวิทยาลัยไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะวันนี้หากเรานำเอา Knowledge มาเป็น Product ของมหาวิทยาลัย อาจจะไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องแล้ว แต่ควรจะเป็น Learning Experience ที่นักศึกษาจะได้รับจากการมาเรียนมากกว่า

สำหรับข้อเสียของการเรียนออนไลน์ที่พบได้ชัดเจน คือ Human Touch ที่หายไป เรื่อง Peer-to-Peer ระหว่างอาจารย์ และนักศึกษาที่พอเห็นว่าไม่เข้าใจก็สามารถสอบถามได้เลย แต่การเรียนออนไลน์มักเป็นแบบการสื่อสารทางเดียว แม้จะถามได้บ้าง แต่ไม่เหมือนสอนในห้องที่จะมีความเห็นอกเห็นใจ เวลาเห็นแววตาบางคนว่าอาจจะฟังไม่ทัน ไม่รู้เรื่องก็จะสามารถสอบถามนักศึกษาได้โดยตรงว่าเข้าใจเนื้อหาที่เรียนหรือไม่ เพื่ออธิบายเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนสาย วิทยาศาสตร์สุขภาพ เรื่อง Human Touch เป็นสิ่งสำคัญมาก และจะมีได้จากกิจกรรมนอกห้องเรียน ซึ่งเป็น People Skill ที่ไม่สามารถหาได้จากการเรียนออนไลน์ เพราะมันเป็นศิลปะของการใช้ความเป็นมนุษย์เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ มากกว่าแค่อิงตามทฤษฎีที่ได้อ่านมา คงไม่มีใครอยากจะรักษากับหมอที่เรียนจบทางออนไลน์ โดยไม่เคยได้สัมผัสกับคนไข้จริงๆ

เตรียมตัวอย่างไร กับนักศึกษาปีหนึ่งรหัส 63 ที่กำลังจะเข้ามาใหม่

ทางมหาวิทยาลัยมีการพูดคุย เริ่มวางแผนกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เพราะคาดการณ์ว่าจะมีการปิดมหาวิทยาลัย แต่สำหรับนักศึกษาใหม่อาจจะยากสักนิด เพราะยังไม่เคยมามหาวิทยาลัย ดังนั้น มี 2 ส่วนที่ต้องดูแล คือ ความรู้ และความรู้สึก ในส่วนความรู้ทางมหาวิทยาลัยมีประสบการณ์การสอนออนไลน์ตั้งแต่ปีที่แล้ว และเนื้อหาการเรียนของชั้นปีที่ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน สามารถใช้การอัดคลิป อ่านหนังสือเพิ่มเติม และสอนออนไลน์ประกอบได้ ด้วยคุณภาพ และความเชี่ยวชาญของอาจารย์ สามารถรับมือได้ แต่ในด้านความรู้สึก มหาวิทยาลัยต้องการสร้างความผูกพันให้กับเด็กตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อรัฐบาลประกาศเรื่อง Social Distancing และการเรียนออนไลน์ จึงต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่า ยังเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยอยู่

เริ่มต้นจากการสร้างเพจโดยทีมมหิดล เพื่อใช้สื่อสาร ให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักศึกษาปี 1 ทั้งหมด เช่น การแต่งกาย สวัสดิการนักศึกษา การจองหอพัก หรือวิธีการเรียนออนไลน์ มหาวิทยาลัยได้เตรียม Welcome Package ในกล่องสีน้ำเงิน มอบให้กับนักศึกษาทุกคน โดยในนั้นจะมีสิ่งที่สื่อถึงความห่วงใย เช่น การ์ดแสดงความยินดีที่ลงนามโดยท่านอธิการบดีทุกใบ เจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยที่สกรีน We Mahidol 131 เป็นต้น เพื่อให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย แล้วมาขมวดปมในวันปฐมนิเทศที่จัดขึ้นที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร โดยมีรูปแบบออนไลน์ด้วย ซึ่งในอาคารปกติจะสามารถรองรับนักศึกษาได้ 2,000 คน ก็ถูกจำกัดเหลือเพียง 300 คนเท่านั้น เมื่อเปิดให้ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ที่นั่งจึงเต็มภายใน 19 นาที ทำให้ทราบว่า นักศึกษาต้องการเข้าร่วมกิจกรรมมาก และเป็นสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยรับคำไว้แล้วว่า กิจกรรมใดที่หายไปจากภาคเรียนที่ 1 จะได้รับการชดเชยในภาคเรียนที่ 2

อีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยสร้างความเป็นส่วนหนึ่งกับทางมหาวิทยาลัยก็คือแอปพลิเคชัน We Mahidol ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ โดยในวันนี้มียอดการดาวน์โหลดกว่า 30,000 ครั้ง โดยแอปพลิเคชันนี้จะแสดงให้เห็นว่า ใน 1 วันที่มาเรียนมีอะไรบ้าง หลังจากตื่นนอน เช็กว่าเรียนอะไร กดดู Class Schedule ถ้าเรียนออนไลน์ก็จะเห็นว่าใช้แอปพลิเคชันไหนในการเรียน นักศึกษาสามารถกดดูด้วยตัวเองได้เลย หรือถ้าเป็นห้องเรียนจะมีแผนที่แสดงให้ ถ้าจะไปห้องสมุดก็ใช้เป็น Virtual ID Card และยังสามารถลงทะเบียนเรียน หรือตรวจสอบผลการเรียนได้อีกด้วย

ทำไมต้อง Digital Convergence University

อันดับแรก คือ มันเป็นเทรนด์ของโลก เด็กที่เกิดใหม่ก็จะไปตามกระแส ตัวนักศึกษาไม่มีปัญหา เพราะพวกเขาเกิดมาเป็น IT Base อยู่แล้ว อาจารย์ต่างหากที่ต้องยอมรับ ผลิตเนื้อหา และปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงลักษณะของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป ทัศนคติในการสื่อสาร และช่วงความสนใจที่สั้นลง รวมถึงวิธีการเรียนที่ต่างไปจากห้องเรียนปกติ และอีกมุมคือ ต้องมองว่ามหาวิทยาลัย คือ สังคมจำลองของนักศึกษาที่กำลังจะออกจากบ้านตัวเอง แต่ยังไม่พร้อมจะไปเผชิญโลกที่แท้จริง จึงมาอยู่ในสังคมจำลองที่มหาวิทยาลัยก่อน เพราะที่นี่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเต็มที่ ใช้ชีวิตแบบไม่มีพ่อแม่มาคุมมากนัก ได้ลองผิดลองถูก โดยมีพี่ เพื่อน และอาจารย์เป็นคนในสังคมที่ปรารถนาดีมาช่วยหล่อหลอมให้ตัวนักศึกษาเป็นคนที่มีคุณภาพ พร้อมออกไปเผชิญโลกความจริงในอนาคต เพราะฉะนั้นในเมื่อสังคมภายนอกกำลังล้อมเราด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวก่อน ปรับพื้นฐานการใช้ชีวิตให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ยกตัวอย่างการไปเมืองจีนเมื่อ 7 ปีก่อน กับ 5 ปีที่แล้วมันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนพกเงินหยวน เดี๋ยวนี้ต้องพก We Chat เงินสดไม่มีคนรับ ซึ่งมหิดลก็พยายามทำอย่างนั้น โรงอาหารก็ใช้แอปพลิเคชัน We Mahidol ในการจ่ายเงิน และกำลังจะทำร้าน Refill Station ก็จะจ่ายด้วยแอปพลิเคชัน

นอกจากนี้ก็ต้องเตรียมนักศึกษาให้พร้อมเป็น Digital Citizen ด้วย พวกเขาต้องมีความรู้เกี่ยวกับ Cyber Security ต้องเรียนรู้ และกลั่นกรองข้อมูลมหาศาลว่าอะไรเชื่อได้หรือไม่ได้ อาจารย์จำเป็นต้องใส่ระเบียบวินัย ความรู้ และกระบวนการพัฒนานักศึกษา ให้พวกเขาเป็น Digital Citizen อย่างแท้จริงด้วย จึงจะทำให้มหาวิทยาลัยเป็น Digital Convergence University อย่างสมบูรณ์

โลกที่เปลี่ยนไป กับทักษะที่ต้องมี

เรื่องทักษะที่จำเป็นต้องมีนั้น เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงก่อนเข้าศตวรรษที่ 21 แล้ว ผู้บริหารการศึกษาก็มองว่า เมื่อเทคโนโลยีมาในแนวทางนี้ สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องเตรียมพร้อม ได้แก่ Communication Skill, Leadership, IT Access, People Skill, Creativity, และ Entrepreneurial Mindset เพราะต่อไปจะไม่ใช่การป้อนแรงงานเข้าสู่โรงงาน แต่จะต้องมีลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น และสำหรับข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวันมีแนวโน้มเป็นภาษาอังกฤษ หากจะใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น ก็จำเป็นจะต้องเข้าใจภาษาอังกฤษด้วย เพราะหากต้องเสียเวลารอคนแปลข้อมูลให้ ก็จะช้ากว่าคนอื่นไปหนึ่งขั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ว่า ต้องการให้นักศึกษาเป็น Global Citizen โดย นักศึกษาควรมีทักษะทั้ง 5 อย่างนี้ เรียกว่า Mahidol HIDEF

1. H - Health Literacy คือ การดูแลสุขภาพ ทุกคนต้องทำ CPR เป็น เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องช่วยเหลือตนเอง และผู้อื่นได้

2. I - Internationalization คือ ความเป็นสากล โดยสิ่งที่ขยายความไปมากกว่าภาษาก็คือ การเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในกรณีต้องไปทำงานต่างประเทศ หรือการแลกเปลี่ยนนักศึกษา

3. D - Digital Literacy คือ การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Cyber Security และทักษะด้านอื่นๆ เช่น สามารถกลั่นกรองข้อมูลที่ได้มา

4. E - Environmental Literacy คือ ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม นักศึกษามหิดลต้องเข้าใจมากกว่าแค่การแยกขยะ แต่ต้องรู้ไปถึงกระบวนการลดขยะด้วย

5. F - Financial Literacy คือ การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ การเก็บเงิน การบริหารจัดการ การตั้งบริษัท การซื้อขายหลักทรัพย์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารไทยพาณิชย์ที่เข้ามาช่วยให้ความรู้แก่นักศึกษา ซึ่งผลตอบรับดีมาก

เราทุกคนรู้จัก Bill Gates, Steve Jobs และ Zuckerberg เขาเป็น Drop Out Student ที่คนเรียนตามระบบการศึกษาสู้ไม่ได้ แสดงว่าการเรียนแบบปกติทั่วไปต้องมีอะไรตกหล่น ต้องกลับมามองว่า ทำไมคนเหล่านี้ถึงมีความสามารถเหนือคนอื่นได้ อาจจะด้วยเนื้อหา เป็นลักษณะของ Literacy, Passion, Technology Driven หรืออะไรบางอย่างที่เขามองเห็น และรีบฉกฉวยเอาไว้ในจังหวะชีวิต ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องการบอกเด็กรุ่นใหม่ ว่า เมื่อมีจังหวะชีวิตเข้ามา ต้องเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อให้มีทุน มีพลังที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ด้วยตัวเอง

ที่มา: SCB TV https://youtu.be/DSEoBAX0yXE วันศุกร์ที่ 7 ส.ค. 63