สร้างทีมให้แข็งแรงสู่ยุค New Normal

ในยุค New Normal การทำงานจากที่บ้านกลายเป็นเรื่องปกติ โดยการติดต่อสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย จากสถานการณ์ที่บังคับให้การพบปะและการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันลดน้อยลง  การจะสร้างทีมให้แข็งแกร่งสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปได้ ทุกคนในทีมควรมีคุณสมบัติ ดังนี้


1.Trust

การทำงานเป็นทีมนับเป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่ง และทุกๆ ความสัมพันธ์ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นพื้นฐาน หากทุกคนในทีมเชื่อใจกันและกันจะทำให้มั่นใจได้ว่า หากคนใดคนหนึ่งในทีมพูดว่าจะทำสิ่งใด คนๆ นั้นจะทำสิ่งนั้นอย่างแน่นอน แต่หากคนในทีมไม่วางใจกันและกันแล้ว จะเกิดการสอดส่องว่าอีกฝ่ายทำงานจริงหรือไม่ หรือไม่ก็ทำงานเองคนเดียว ซึ่งล้วนแต่ส่งผลเสียต่อการทำงานเป็นทีม


การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในทีม อาจเริ่มต้นจากการวางแผนการทำงานร่วมกัน การตั้งเป้าหมายของทีม การกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ และการรายงานความคืบหน้าของงานอย่างสม่ำเสมอ วิธีนี้นอกจากจะช่วยสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในทีมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้มีการสื่อสารกันมากขึ้นด้วย

team1

2.Tolerance

เมื่อเทคโนโลยีปัจจุบันเชื่อมต่อทุกๆ คนจากทุกมุมโลกให้มาประชุมพร้อมกันได้โดยไม่มีเงื่อนไขทางเวลา สถานที่ และการจำกัดจำนวนที่นั่ง ทีมที่เคยมีเพียงไม่กี่คนก็ขยายใหญ่ขึ้นมาก การได้รู้จักเพื่อนร่วมงานมากขึ้นควรควบคู่กันกับการเปิดรับและยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัย ความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม หรือแม้แต่วิธีการสื่อสาร ซึ่งล้วนแต่เป็นเอกลัษณ์ของแต่ละบุคคลที่มีพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างกันออกไป


การยอมรับในสิ่งที่แต่ละบุคคลเป็น สามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และทำความเข้าใจว่า ในความเห็นต่างนั้นไม่สามารถตัดสินถูกผิดได้ แต่เป็นการแสดงความแข็งแกร่งของการระดมความคิดเพื่อผลักดันให้ทีมก้าวต่อไป

3.Self-Awareness

การทำงานร่วมกันเป็นทีมทำให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การตระหนักรู้ในตัวเองจะช่วยให้รู้เท่าทันอารมณ์หรือความกังวลที่เกิดขึ้น และควบคุมตัวเองให้แสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างเหมาะสม โดยไม่กระทบการทำงานของทีม หรือทำลายความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน


วิธีหนึ่งที่ทำให้การตระหนักรู้ในตัวเองดีขึ้น คือ การรับฟังข้อเสนอแนะจากเพื่อนร่วมงานแล้วนำมาปรับปรุง หรือการเฝ้าสังเกตอารมณ์ของตัวเองระหว่างการทำงานก็ช่วยได้เช่นกัน หากพบว่าตัวเองโกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ ให้หยุดพักสักนิดก่อนที่จะพูดจาหรือตัดสินใจโต้ตอบออกไป  นอกจากนี้ สิ่งที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดีคือการพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ได้

4.Agility

คือ การจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่หลายคนสร้างขึ้นมาโดยอัตโนมัติเมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤต เป็นความพยายามต่อสู้เพื่อให้ตัวเอง ทีม และองค์กรผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายไปได้ แต่จะทำอย่างไรให้คุณสมบัตินี้เป็นส่วนหนึ่งของทีมตลอดไป


ดังนั้น Agility จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในทีม ด้วยการระดมความคิด การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ความสามารถในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ตามสถานการณ์ การตัดสินใจที่ทันท่วงที และความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ซึ่งก็คือการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงให้ได้

5.Conflict Resolution

ไม่ว่าทีมจะแข็งแกร่งแค่ไหน ความขัดแย้งก็อาจเกิดขึ้นได้ วิธีคลี่คลายความขัดแย้งสามารถเริ่มต้นจากการรับรู้ว่าแต่ละคนในทีมต้องการอะไร รับฟังและพยายามทำความเข้าใจจากมุมมองของแต่ละฝ่าย และพยายามประนีประนอมเพื่อหาทางออกร่วมกัน ในสถานการณ์เช่นนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์เพราะอาจทำให้หลงประเด็น และอาจตัดสินใจผิดพลาด นอกจากนี้ เมื่อได้ผลสรุปร่วมกันแล้ว ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ขัดแย้งกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้สำหรับงานนั้น

6.Resilience

อีกคุณสมบัติที่ทำให้ทีมแข็งแกร่ง คือ การไม่ยอมแพ้แม้ว่าจะล้มเหลว ไม่ว่าจะพบเจออุปสรรคหรือปัญหา ก็พร้อมที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง


ทีมที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจ จะเชื่อมั่นว่าทุกคนในทีมจะช่วยกันทำให้งานสำเร็จได้ โดยต่างคนต่างเข้าใจสิ่งที่ทีมกำลังทำอยู่ รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเองว่าจะซัพพอร์ตทีมอย่างไรให้ดีที่สุด พร้อมจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง รู้ทักษะความสามารถของเพื่อนร่วมทีมและส่งเสริมให้นำมาใช้เพื่อให้ทีมประสบความสำเร็จ และท้ายสุดหากพบกับความล้มเหลว ทุกคนในทีมก็พร้อมจะลุกขึ้นสู้ด้วยกันอีกครั้ง


การทำงานคนละที่การไม่ได้พบเจอกันจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ถ้าทุกคนช่วยกันสร้างทีมให้แข็งแกร่ง เมื่อทีมแข็งแรงย่อมเป็นรากฐานที่มั่นคงที่จะพาองค์กรไปสู่เป้าหมายไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม