ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
9 เคล็ดลับค้นหางานที่ใช่
‘ ผมไม่มีทางที่จะทำงานที่ขัดกับอุปนิสัยของตัวเอง ผมจะรวยด้วยการทำงานที่ตัวเองชอบเท่านั้น ’ ผู้กลายเป็นมหาเศรษฐี หลังจากประกาศประโยคดังกล่าว คือ T. Harv Eker
T. Harv Eker เปลี่ยนชีวิตจากคนที่ไม่มีอะไรเลยกลายเป็นเศรษฐีเพียงระยะเวลาแค่ 2 ปีครึ่ง! เขาคือผู้ก่อตั้งและประธานของบริษัท Peak Potentials Training บริษัทพัฒนาศักยภาพบุคคลที่เติบโตเร็วที่สุดในอเมริกาเหนือ และเป็นผู้เขียนหนังสือขายดีระดับโลก ‘
Secrets of the Millionaire Mind
’ หรือ ‘
ไขรหัสลับสมองเงินล้าน
’
ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนรวยหรือมหาเศรษฐีที่มีความสุข ล้วนยึดสิ่งที่ชอบเป็นอาชีพ เพราะในการทำงานนั้น ย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรคและขวากหนามต่างๆ มากมาย ดังนั้นหากไม่รัก ไม่ชอบในสิ่งที่ทำแล้ว คงจะทนทำสิ่งเหล่านั้นให้ร่ำรวยจนเป็นมหาเศรษฐีไม่ได้ เหมือนเช่นบรรดานักกีฬาอาชีพทั้งหลาย ซึ่งไม่อาจเกียจคร้านต่อการฝึกซ้อมได้เลย แม้จะก้าวถึงจุดสูงสุดของอาชีพแล้วก็ตาม
บางคนอาจบอกว่า ‘การทำงานคือการหาเงิน หารายได้มาเพื่อประทังชีวิต’ ทว่าต่อให้หาเงินมาได้มากเท่าไหร่ แต่ไม่มีความสุขในการทำงาน สุดท้ายคนที่คิดอย่างนี้ ก็มักจะต้องจมอยู่กับความเจ็บป่วยซึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียด ด้วยเหตุนี้มหาเศรษฐีที่มีความสุข จึงไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน หรือเพื่อแค่เพียงความร่ำรวยเท่านั้น แต่เขาจะทำงานที่รัก มีความสุขที่ได้ทำงาน และงานที่ทำก็เป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ อีกมากมาย
แล้วเราจะหางานที่ใช่ได้อย่างไร มาหาคำตอบกันในบทความนี้ โดยเริ่มจาก
1. เช็กงานอดิเรก
ลองนึกดูว่าในแต่ละวันคุณชอบทำอะไรบ้าง เช่น วาดรูป เล่นกีฬา อ่านหนังสือ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คุณชอบ และเต็มใจทำโดยไม่ต้องมีเงินเดือน ใครจะรู้ งานอดิเรกของคุณอาจกลายเป็นอาชีพในอนาคตเข้าสักวันก็เป็นได้
2. พิจารณาความสามารถของตัวเอง
อย่าพูดว่าคุณไม่มีอะไรเลย ทุกคนมีความสามารถกันทั้งนั้น แค่แตกต่างกันไปเท่านั้นเอง คุณอาจจะร้องเพลงเพราะ หรือเก่งวิชาไหนเป็นพิเศษตอนเรียน ให้ลองสังเกตตัวเองดู
3. อุปกรณ์
อุปกรณ์ที่คุณต้องใช้ในการทำงานก็ช่วยให้คุณค้นพบตัวเองได้ไม่ยาก เช่น ถ้าคุณรักการอยู่ท่ามกลางเสื้อผ้า คุณอาจเป็นว่าที่ดีไซเนอร์ ช่างเย็บผ้า และอื่นๆ หรือหากคุณรักการอ่าน ชอบอยู่กับหนังสือเล่มโปรด คุณก็อาจจะเป็นนักเขียนที่ดีได้
4. คุณมีความสุขที่สุดตอนไหน
ตั้งแต่เด็กจนโต คุณมีความสุขมากที่สุดตอนช่วงวัยไหน ลองนึกย้อนดูว่าช่วงนั้นคุณชอบทำอะไร บางทีคุณอาจจะเจอสิ่งที่ตัวเองชอบมานานแล้ว แต่ไม่เคยรู้ตัวก็เป็นได้
5. ลองใช้ออนไลน์เป็นตัวช่วย
มีเว็บไซต์มากมายที่มีบริการช่วยให้คุณรู้จักอาชีพที่เหมาะกับความชอบของตัวเองผ่านการทำแบบทดสอบ แบบประเมินต่างๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ลองไปหามาทำกันดู ไม่แน่ะ คุณอาจเจออาชีพในฝันของคุณก็เป็นได้
6. เขียนความชอบของตัวเอง 5 อันดับ
ลองจัดอันดับเรื่องที่คุณชอบทำมาสัก 5 ข้อ จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่คุณถนัด และลองลงมือทำสิ่งที่ลิสต์มาดู อาจช่วยเจอเส้นทางที่คุณชอบเข้าก็ได้
7. เขียนอาชีพที่คิดว่าเหมาะกับตัวเอง 5 อันดับ
พยายามเขียนอาชีพออกมาให้เยอะที่สุดเท่าที่จะนึกออก แล้วลองพิจารณาอาชีพที่ตรงกับความชอบในลิสต์นี้ดู อาจเจออาชีพที่ถูกใจคุณก็ได้เช่นกัน ยิ่งในปัจจุบันนี้มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน เช่น Blogger หรือ YouTuber ซึ่งเป็นบุคคลที่สามารถสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ และสามารถนำงานอดิเรกที่ตัวเองชื่นชอบมาเปลี่ยนเป็นรายได้ได้ ดังนั้นหากหาตัวตนของตัวเองเจอ ก็จะเป็นหนทางสร้างอาชีพที่ใช่ได้ด้วยเช่นกัน
8. จินตนาการ
ลองนึกภาพตัวเองทำงานในตำแหน่งที่คิดไว้ดูว่า งานของคุณน่าจะเป็นอย่างไร เพื่อนร่วมงานและที่ทำงานเป็นแบบไหน แล้วเขียนออกมา จะทำให้คุณรู้ได้ชัดเจนขึ้นว่า คุณชอบและรู้จักงานที่คุณเลือกดีแน่แล้วหรือยัง
9. ลองออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน
ถึงตรงนี้หากคุณยังนึกไม่ออก หรือยังหาไม่เจอว่างานที่รัก อาชีพที่ฝันของตัวเองคืออะไร อย่าเพิ่งถอดใจไปเสียก่อน คนส่วนใหญ่ก็ยังหาไม่เจอว่าตัวเองชอบทำอะไรกัน จงมุ่งมั่นค้นหาตัวเองต่อไป คุณต้องมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า อาชีพในฝันของคุณมีอยู่จริง
ดังนั้นลองออกมาทำอะไรนอกกรอบ นอกกฎเกณฑ์กันบ้าง จงให้โอกาสตัวเองให้ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ไปในที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน และด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าว่าจะต้องเจออาชีพในฝันให้ได้ เมื่อคุณเชื่อมั่นในตัวเองและให้เวลากับตัวเองที่มากพอ การจะหาอาชีพในฝันของตัวคุณเองให้เจอ คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม
บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร