“พ่อกวนสอนลูกรวย” วางแผนการเงินให้ลูกสไตล์ TaxBugnoms

ภาษี เป็นเรื่องที่มีทั้งตัวเลขและข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้หลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก แต่ TaxBugnoms สามารถอธิบายเรื่องยากๆ นี้ให้เข้าใจได้ง่ายๆ จนกลายเป็นบล็อกเกอร์ชื่อดังด้านภาษี เป็นเจ้าของเพจที่มีผู้ติดตามกว่าสี่แสนคน เส้นทางชีวิตของเขากว่าจะมาถึงจุดนี้ มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาได้คิด เรื่องราวที่ว่ามานี้เป็นเช่นไร? และชื่อ TaxBugnoms มีที่มาจากไหน? คุณถนอม เกตุเอม หรือ คุณหนอม จะมาเล่าให้ฟัง พร้อมแชร์เรื่องการเงินส่วนบุคคล การวางแผนการเงินสำหรับครอบครัว รวมทั้งวิธีเลี้ยงลูกให้ฟัง แบบที่ไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อน

 

ก่อนจะมาเป็น TaxBugnoms

คุณหนอมเป็นลูกคนเดียว เกิดในครอบครัวที่บ้านเปิดเป็นสำนักงานบัญชี เขามีพ่อและแม่คอยสอนให้เก็บออม และรู้จักใช้เงิน โดยเปรียบเทียบเงินของครอบครัวเหมือนเค้กหนึ่งก้อน ยิ่งถูกตัดออกไปน้อยเท่าไร เค้กก้อนนี้ก็จะยิ่งเหลือเยอะเท่านั้น เหมือนกับเงินที่เรามีอยู่ ยิ่งใช้น้อย เงินก็ยิ่งเหลือเงินเยอะ แม้คุณหนอมจะจำคำสอนได้แม่น แต่เขาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไรนัก

taxbugnoms-401066929

ตอนเรียนจบมัธยมปลาย คุณหนอมเคยอยากจะเรียนสถาปัตย์ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจมาเรียนบัญชีเหมือนแม่ พอเรียนจบ คุณหนอมไม่ได้ทำงานที่บ้าน เพราะอยากทำงานหาประสบการณ์จากข้างนอกก่อน เขาได้งานที่บริษัท BIG4 ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ระดับโลก เงินเดือนเริ่มต้น 13,000 บาท แบ่งให้ที่บ้าน 5,000 บาททุกเดือนตามคำขอของแม่ ถ้าเงินเดือนขึ้น เงินส่วนนี้ก็จะถูกปรับขึ้นด้วยตามสัดส่วนของเงินเดือนใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงสำหรับคนหนุ่มที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ คิดดูแล้วเขาน่าจะมีเงินเก็บได้ไม่ยาก แต่เขากลับใช้เงินหมดไปแบบเดือนชนเดือนมาตลอด

 

จุดเปลี่ยนของชีวิต

เมื่อทำงานในบริษัทแห่งนี้ครบสี่ปี จนได้ใบอนุญาตผู้สอบบัญชีแล้ว คุณหนอมจึงลาออกเพื่อจะมาทำงานที่บ้าน แล้วเรียนต่อปริญญาโทไปด้วย แต่ก็มาพบกับจุดหักเหเสียก่อน โดยในปีนั้น สำนักงาน กพ. เปิดสอบความรู้ความสามารถในการทำงานราชการ หลังจากที่ไม่ได้เปิดสอบมานาน แม่จึงให้คุณหนอมไปสอบ พอสอบผ่านได้ประมาณสองเดือน กรมสรรพากรเปิดสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการ คุณหนอมก็ไปสอบตามที่แม่แนะนำ และเขาก็สอบผ่านอีกเช่นเคย ทำให้ได้มารับราชการที่กรมสรรพากรแทนการทำงานที่สำนักงานบัญชีของครอบครัว


จากคนหนุ่มวัยยี่สิบห้า เงินเดือนสามหมื่นกว่า พอมารับราชการ เงินเดือนเหลือแปดพัน เมื่อเงินมีจำกัด จึงไม่สามารถให้เงินแม่ได้เหมือนเดิม ประกอบกับรถคันที่ใช้อยู่ก็มาเสียอีก เงินเก็บก็ไม่มี แต่โชคยังดี แม่ของคุณหนอมตัดสินใจซื้อรถให้ พร้อมกล่าวกับเขาว่า “เงินทั้งหมดที่ให้มา ถือว่าแม่คืน” คำพูดประโยคนี้ของแม่ ทำให้คุณหนอมเข้าใจคุณค่าของการเก็บเงินชัดเจนขึ้น เขาคิดย้อนกลับไปในช่วงที่เริ่มทำงาน ถ้าเขารู้จักเก็บเงิน วันนี้เขาจะมีเงินมากพอซื้อรถได้หนึ่งคันทีเดียว เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นอีกจุดเปลี่ยนในชีวิตของคุณหนอม เขาเปลี่ยนแปลงนิสัยการใช้เงินของตัวเอง และพยายามบริหารเงินเดือนแปดพันให้สามารถอยู่ได้ จากที่เคยอยากได้อะไรก็ซื้อ กลายเป็นต้องคิดทุกอย่าง ขับรถเฉพาะไปทำงานเท่านั้น กินข้าวที่บ้านเป็นประจำ นั่งรถ บขส.ไปหาแฟนที่อยู่ต่างจังหวัด  พยายามลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อจะได้มีเงินเหลือเก็บ

จุดเริ่มต้นของเพจ TaxBognoms

พอทำงานราชการได้สักระยะ คุณหนอมเริ่มรู้สึกว่า การประหยัดอย่างเดียวไม่พอ ต้องหารายได้เสริมด้วย จึงมาทำงานปรับอันดับเว็บไซต์ หรือทำ Search Engine Optimization (SEO) ซึ่งเป็นงานที่มีรายได้ดี ทำให้เขามีเกินเก็บเป็นกอบเป็นกำขึ้น ต่อมาคู่แข่งเริ่มมากขึ้น ประกอบกับกูเกิ้ลเปลี่ยนอัลกอริทึม (Algorithm) บ่อย สิ่งที่คุณหนอมทำอยู่เริ่มใช้ไม่ได้ เขาจึงอาศัยช่วงเวลานี้เปลี่ยนมาฝึกปรือฝีมือของตนเองด้วยการเขียนบทความเรื่องภาษีลงบนบล็อก เนื้อหาส่วนใหญ่เรียบเรียงมาจากสิ่งที่เรียนปริญญาโท และเปิดเพจ TaxBugnoms ขึ้น โดยคำว่า Bugnoms ก็คือชื่อของคุณหนอม ที่เอาคำว่า Bug ซึ่งหมายถึง Error มาวางไว้หน้าชื่อ เพราะคำนี้เหมาะกับเขาที่ไม่ได้เป็นคนเพอร์เฟกต์นั่นเอง

 

การเปิดเพจในช่วงนั้นถือเป็นเรื่องใหม่และคนไทยยังใช้เฟซบุ๊กกันไม่มาก สองปีแรกของการเปิดเพจมีคนติดตามประมาณแปดร้อย เนื้อหาที่โพสต์เป็นการนำลิงก์จากบล็อกมาแชร์บนเพจอีกที พอทำได้ระยะหนึ่งจนเริ่มเก่งขึ้น จับกระแสได้มากขึ้น เห็นแนวทางของตัวเองชัดขึ้น คุณหนอมเริ่มมองว่าคอนเทนต์ที่ดีนอกจากทำให้ตัวเองเก่งขึ้นแล้ว ต้องทำให้คนอื่นเข้าใจด้วย เขาจึงปรับรูปแบบการเขียนใหม่ จากภาษาทางการ เขียนแนววิชาการ มาเป็นการเขียนในภาษาที่คนส่วนใหญ่เข้าใจได้ง่าย และคัดเฉพาะเรื่องที่คนทั่วไปควรรู้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง  ทำให้มีคนติดตามอ่านงานเขียนของเขามากขึ้น จากคนติดตามหลักร้อย กลายเป็นหลักแสน เป็นคนดังด้านภาษีที่คนออนไลน์รู้จักกันในชื่อ “TaxBugnoms” หรือ “พรี่หนอม” ในที่สุด

 

เตรียมความพร้อม ติดปีกให้ลูก

คุณหนอมและภรรยา มีลูกชาย 1 คน  ปัจจุบันอายุ 4 ขวบ  ในวันที่จะมีลูก คุณหนอมตั้งธงไว้ว่า จะเลี้ยงดูลูกไปจนลูกอายุ 20 ปี หลังจากนั้นก็จะปล่อยให้ลูกได้ไปใช้ชีวิตของตนเอง โดยระหว่างยี่สิบปีแรกนี้ เขาวางแผนว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง ทั้งแผนระยะสั้น และระยะยาว เนื่องจากเงินมีจำกัด จึงต้องดูว่าตนเองไหวแค่ไหน ต้องลดปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงอะไรลงบ้าง ต้องซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพเท่าไร เป็นการวางแผนให้ลูกไว้ประมาณหนึ่ง ควบคู่ไปกับการวางแผนเกษียณอายุให้ตัวเอง เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระให้ลูกต้องมาดูแล เพราะคุณหนอมมีความเชื่อว่า หากลูกไม่มีภาระเรื่องการเลี้ยงดูพ่อแม่ ชีวิตลูกก็เหมือนได้ติดปีกบิน

“ความภูมิใจของพ่อแม่คือวันที่ลูกมาบอกขอบคุณ ไม่ใช่ให้สังคมมาบอกว่าเราเลี้ยงลูกดี” การเตรียมความพร้อมให้ลูกในแบบของคุณหนอมจึงเป็นแบบไม่กดดันตัวเองและลูก ครอบครัวต้องมีความสุข ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ไหว ไม่เต็มที่กับชีวิตจนเกินไป แต่ต้องสอนให้ลูกรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี และรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ คุณหนอมมีสิ่งที่เรียกว่า “ออฟชั่น” ให้ลูกได้มีโอกาสค้นหาความชอบของตัวเอง โดยจะเตรียมเงินก้อนหนึ่งให้ลูกได้ลอง แต่ต้องตกลงกันด้วยว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าลูกมีความสนใจอะไรเป็นพิเศษ อาจมีออฟชั่นที่มาเติมเงินให้พ่อแม่ก็เป็นได้ เช่น ทุนการศึกษา และเมื่อถึงวันที่ลูกอายุยี่สิบ มีชีวิตของตัวเองได้แล้ว คุณหนอมก็จะมีเงื่อนไขให้ลูกด้วยว่า ห้ามมายุ่งกับเงินส่วนที่เป็นของพ่อแม่ ต่างฝ่ายต่างต้องดูแลตัวเอง ไม่เป็นภาระแก่กัน เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน  ไม่มีใครรู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น จึงต้องดูแลตัวเองให้ได้

 

เทคนิคสอนลูกให้รู้ค่าของเงิน

คุณหนอมใช้วิธีสอนให้รู้ ทำให้เห็น เหมือนกับที่เขาได้รับประสบการณ์มาจากพ่อและแม่ เริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวลูกก่อน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เงิน แต่สามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องค่าของเงิน และการเลือกใช้ได้

  • ค่าของเงิน: สอนให้ลูกรู้ว่า ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ การจะได้สิ่งที่ต้องการ ต้องแลกด้วยบางสิ่งบางอย่างเสมอ ซึ่งในอนาคตสิ่งที่ว่ามานี้ก็คือเงิน

  • การเลือกใช้: สอนให้ลูกรู้ว่า ไม่มีใครได้ทุกอย่างที่ต้องการ ทุกคนมีข้อจำกัด  จะทำอะไร จะซื้ออะไร จึงต้องเลือก เช่น กำหนดให้ซื้อของเล่นได้แค่หนึ่งชิ้น ถ้าเลือกของชิ้นไหนแล้ว ชิ้นอื่นก็จะไม่ได้

    เด็กอาจไม่เข้าใจว่าทำไมได้แค่ชิ้นเดียว จึงต้องสอนเรื่องการรักษาสัญญาควบคู่ไปด้วย โดยคุณหนอมจะทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง เช่น ถ้าสัญญาว่าจะซื้อของให้ ไม่ว่าของจะแพง หรือหายาก คุณหนอมก็จะต้องหามาให้ได้ หรือตกลงกันว่าให้ดูการ์ตูนสองตอน พอครบสองตอนแล้วต้องปิด ไม่มีต่อเวลาให้ เป็นการสร้างวินัยให้ลูกไปในตัว


ส่วนการปลูกฝังด้านการเงิน ต้องตอบสองคำถามให้ได้ก่อน 1.เป้าหมายในอนาคตของเราคืออะไร?  2.กระทำวันนี้และอดีตที่ผ่านมา สามารถจจะไปถึงเป้าหมายในข้อแรกได้หรือไม่? ถ้าไม่ได้ ต้องเปลี่ยนวิธีการ แต่ถ้าพยายามแล้วยังไปไม่ถึงเป้าหมายสักที ก็ยังได้เรียนรู้ว่า ไม่ใช่ทุกเรื่องจะเป็นไปอย่างที่เราคิด ทุกคนผิดพลาดได้ เมื่อผิดแล้วต้องรู้จักแก้ไข อาจจะต้องกลับมาดูวิธีการใหม่ หรืออาจเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ก็ได้ หากเป้าหมายนั้นทำให้ระหว่างทางไม่มีความสุข

 

ทุ่มให้ลูก ต้องไม่ลืมดูแลตัวเอง

เพราะชีวิตคือการออกแบบ คุณหนอมจึงต้องมีออฟชั่นให้กับตัวเองด้วย เช่น ประกันสุขภาพที่เพียงพอสำหรับป้องกันความเสี่ยงในอนาคต และแผนเกษียณอายุที่เผื่อเหลือ เผื่อขาด การมีแค่เงินเกษียณอาจไม่ใช่คำตอบว่าจะมีเงินพอใช้ เงินก้อนนี้เป็นเพียงหลักประกันระดับหนึ่งที่อาจหมดก่อนเวลาอันควร ดังนั้นจึงอย่าย่ามใจ และไม่ว่าจะมีลูกหรือไม่มี สิ่งสำคัญคือตัวเราเองต้องรอดก่อน ถ้าเรารอด ถึงจะดูแลคนอื่นได้ และถ้าพ่อแม่ไม่เป็นภาระให้ลูก  ลูกก็จะสามารถออกไปใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้


การจะเก็บเงินได้ หรือไม่ได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่รวยหรือจน เพราะแต่ละคนมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน สุดท้ายต้องหาวิธีทลายข้อจำกัดของตัวเองลงให้ได้ วิธีคิดของคุณหนอมก็คือ สิ่งที่เราบอกว่าเป็นข้อจำกัด ใช่ข้อจำกัดจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้ออ้าง (จำกัดตัวเอง) ถ้าเป็นข้ออ้างสามารถทลายได้ แต่ถ้าเป็นข้อจำกัด ก็ต้องลงแรงให้มากขึ้น กลับมาถามตัวเองดูว่า ทำไม่ได้ตามที่คิดเพระอะไร วิธีการยากไป ขาดวินัย ไม่ใส่ใจ หรือต้องยืดระยะเวลาออกไปสักหน่อย ต้องหาวิธีแก้ให้เหมาะกับตัวเรา

รูปแบบการเก็บเงินให้ลูก สไตล์ TaxBugnoms

เนื่องจากลูกอายุยังน้อย ยังมีเวลาลงทุนอีกนาน คุณหนอมจึงเน้นเก็บเงินให้ลูกผ่านการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเป็นหลัก โดยลงทุนแบบถัวเฉลี่ยเท่าๆ กันทุกเดือน หรือ DCA (Dollar Cost Average) โดยเขาเลือกลงทุนระยะยาว มองไปข้างหน้าว่าจะใช้เมื่อไร และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น เกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ต้องลงทุนไปตามปกติ โดยแบ่งการลงทุนเป็น 3 พอร์ตดังนี้
 

  1. ซื้อ RMF ส่วนหนึ่งให้ลูก เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวที่นำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย
  2. ซื้อกองทุนรวมหุ้นเพื่อเพิ่มสปีดรายได้ เพราะ RMF มีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน
  3. ซื้อหุ้นรายตัวที่ใช้เงินไม่มาก


การได้เก็บเงินให้ลูก ทำให้เกิดคำถามที่ว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ สิ่งที่คุณหนอมอยากบอกตัวเองก็คืออะไร? คำตอบก็คือ เขาอยากบอกตัวเองว่า เขาเริ่มเก็บเงินช้าไป เขาควรจะเริ่มตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เอาเงินที่ได้จากแม่มาลงทุน  ชีวิตเขาจะดีกว่านี้ เพราะได้ซ้อมลงทุนตั้งแต่วัยเรียน และตามหลักจิตวิทยา หากคนเราเก็บเงินได้ถึงระดับหนึ่ง จะเกิดความรู้สึกไม่อยากใช้เงินก้อนนี้แล้ว ถ้าตัวเขาทำได้เช่นนี้ ก็หมายความว่า เขาจะมีทั้งเงินเก็บ และมีความรู้ในการลงทุนที่มากพอ ที่สำคัญ เงินที่เริ่มลงทุนในตอนนั้น แม้เป็นเงินเพียงน้อยนิด แต่ระยะเวลาที่ใช้ลงทุนนาน เงินก้อนนี้สามารถทวีมูลค่าให้เขาได้ไม่น้อยเลย แม้จะย้อนเวลากลับไปไม่ได้จริง แต่การเริ่มต้นเก็บเงิน และวางแผนการเงินให้กับตัวเองอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ ก็ยังดีกว่าการไม่เริ่มต้นทำอะไรเลย


ที่มา SCB TV ซีรีส์ Pay It Forward ตอน พ่อกวนสอนลูกรวย โดย คุณถนอม เกตุเอม ออกอากาศทาง SCB Thailand วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2563